Skip to main content

 

แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 

 
ไม่ว่าจะเรื่องอะไร เมื่อใครมาว่าเมืองไทยอย่างไร เรามักปฏิเสธ แถมยังขอให้เขาเข้าใจเราให้ถูกต้อง เรียกร้องหรือกระทั่งประท้วงให้เขายกเลิกคำพูดเหล่านั้น เช่น ฟอร์บว่าพระมหากษัตริย์ไทยเป็นกษัตริย์ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก เราดีเฟนว่าไม่ถูก ไม่จริง (ทีอย่างนี้ทำไมจึงไม่ภูมิใจกันก็ไม่ทราบ) ทั่วโลกประณามการตัดสินจำคุก 10 ปีสมยศ พฤกษาเกษมสุข เราบอกว่าทั่วโลกไม่เข้าใจความเป็นไทย ประเทศหนึ่งในยุโรปเอาพระพุทธรูปไปประดับประตูห้องน้ำสาธารณะ คนไทยบอกทำร้ายจิตใจชาวพุทธ (ไม่เห็นชาวพุทธธิเบต อินเดีย จีน ลาว พม่า ซึ่งเคร่งครัดกว่าเรามากนักจะว่าอะไรเลย) จนกระทั่งกรณีโปรแกรมสอนภาษาล้อเลียนว่าไทยเป็นเมืองโสเภณี เราบอกทำภาพลักษณ์ไทยเสื่อมเสีย 
 
อะไรที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งเดือดร้อนกับคำพูดเหล่านั้น ความเห็นเหล่านั้นวางอยู่บนความเข้าใจชนิดไหนกัน ส่วนหนึ่งของปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง แต่ระบบคิดต่างหากที่เป็นปัญหา
 
ข้อแรก ผมคิดว่าคนไทยที่โกรธ โกรธเพราะคิดแบบฝรั่งเรื่อง "รัฐ-ชาติ" ในโลกทัศน์ของ "จินตกรรมรัฐ-ชาติ" ประเทศชาติถูกมองว่าเสมือนปัจเจกคนหนึ่ง ระบบคิดนี้ไม่ได้มีเพียงในวิธีคิดทางรัฐศาสตร์ แต่ยังอยู่ในวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ อยู่ในวิธีคิดทางสังคม ที่ทำให้ "คนไทย" กลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันไปหมด ยิ่งในโลกปัจจุบัน เป็นภาวะโลกาภิวัตน์ ผู้คนติดต่อกันข้ามชาติด้วยจินตกรรมว่า แต่ละประเทศเป็นปัจเจกบุคคลที่คบค้าติดต่อกัน 
 
ในระบบคิดแบบนี้ อย่าว่าแต่ "เรา" จะมองว่าเราเป็นเสมือนคนคนเดียวกันทั่วประเทศเลย "เขา" ก็มองว่าเราเป็นคนคนเดียวกันทั่วประเทศเช่นกัน ทั้งเราทั้งเขาต่างเหมารวม เวลาที่เขาล้อเลียนคนไทย เราก็เกิดเดือดร้อนไปด้วย ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ว่าเราที่เป็นตัวเราในชีวิตประจำวันสักหน่อย แต่เราที่เป็นตัวตนชาติเกิดเป็นเดือดเป็นร้อนขึ้นมา
 
ข้อที่สอง คนที่เดือดร้อน ที่จริงไม่ได้เดือดร้อนกับปัญหา แต่เดือดร้อนกับหน้าตาของ "พวกเขา" เท่านั้นมากกว่า เวลาที่ "เรา" ปกป้องภาพลักษณ์ของประเทศ "เรา" น่ะคือใครกัน เราปกป้องภาพลักษณ์ของใครกันแน่ หรือว่า "เรา" เหล่านั้นปกป้องภาพลักษณ์ของ "พวกคุณเองบางคนบางกลุ่ม" มากกว่าจะปกป้อง "เรา" ทั้งหลาย 
 
"เรา" "คนไทย" (แบบพวกคุณ) ไม่อยากให้ใครมาด่าทอดูถูกว่า วิธีที่เราแสดงความรักพระประมุข เป็นวิธีการที่ป่าเถื่อน ด้วยการลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์และบิดเบือนหลักความยุติธรรม
 
"เรา" "คนไทย" (แบบพวกคุณ) เหล่านั้นปกป้องภาพเหล่า "คนดี" ปกป้องแต่หน้าตาของชนชั้นกลาง ชนชั้นนำมากกว่าคนทั้งหลาย คนทั้งประเทศแค่นั้นหรือเปล่า 
 
"เรา" "คนไทย" (แบบพวกคุณ) จึงรักชาติสุดใจอย่าให้ใครมาว่าไทยเป็นเมืองกะหรี่
 
ประการต่อมา เราไม่เพียงปฏิเสธภาพลักษณ์เลวร้ายที่ต่างชาติป้ายสีเรา แต่เรายังปฏิเสธที่จะตรวจสอบตนเองว่า มีอะไรทำให้เราถูกมองอย่างนั้น มันง่ายกว่าที่จะปฏิเสธและต่อต้านสิ่งที่คนอื่นเขาวิจารณ์เรา แต่มันยากที่จะตรวจสอบว่า เราทำอะไรให้เขาวิจารณ์ 
 
ทำไมเขาจึงจัดพระมหากษัตริย์เราว่าเป็นกษัตริย์ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก ก็ไปดูในกฎหมายสิ ว่าเขากำหนดให้ใครเป็นผู้ตัดสินใจที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินได้ แล้วถ้าไม่ใช่ "เจ้าของ" แล้ว ใครจะทำได้ ทำไมทั่วโลกเขาถึงประณามการตัดสินคดีสมยศ ก็เพราะนานาอารยะชนเขาเห็นว่า การปล่อยให้ตีพิมพ์ข้อเขียนวิจารณ์ใครที่ไม่ได้ระบุชื่อ ไม่อาจทำร้ายใครได้ และไม่ได้จำเป็นต้องมีโทษจำคุกราวอาชญากรร้ายแรงถึง 10 ปีไง
 

ทำไมชาวโลกเขาถึงมองว่าเราเป็นเมืองโสเภณี ก็เพราะว่าเราเป็นไง ก็เพราะเราไม่เคยพยายามแก้ปัญหานี้อย่่างจริงจังไง ก็เพราะเราไม่มีปัญญาหาอาชีพที่ดีกว่านี้แล้วรายได้สูงเท่านี้ให้คนจำนวนมากได้ไง ก็เพราะส่วนหนึ่งของรายได้จากต่างประเทศของเราในอันดับต้นๆ มาจากการค้ากามไง ก็เพราะเรามือถือสากปากถือศีลไง 

ก็เพราะเราไม่ยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาไงว่า ก็ถ้าใครจะหารายได้ด้วยการขายบริการทางเพศแล้วทำไมคนอื่นต้องเดือดร้อนด้วย จิ๋มก็ของเขา จู๋ก็ไม่ใช่ของเรา จะเอามือไปอุดไว้ได้อย่างไร จะเอามาใส่ใจเราทำไม
 
ข้อสุดท้าย เวลาที่เราเรียกร้องให้ใครเขาเข้าใจเราอย่างถูกต้องตรงตามความจริง แล้วเราล่ะ เคยเข้าใจใครต่อใครเขาอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือเปล่า เราเคยตรวจสอบวิธีมองคนอื่นของเราบ้างหรือเปล่า ไหนจะดูถูกคนลาว ไหนจะสร้างภาพยนตร์ส่งเสริมให้รังเกียจประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ สรุปคือเราก็ไม่ได้เข้าใจเขาพอๆ กับที่เขายังไม่เข้าใจเรานั่นแหละ
 
กับสังคมอเมริกันเหมือนกัน พวกคุณที่ด่าทอคนอเมริกัน แล้วบอกว่าอเมริกันฟรีเซ็กส์น่ะ ไม่มีที่ไหนในอเมริกาที่คุณจะหาซื้อบริการทางเพศตามท้องถนนได้ง่ายดายแบบในประเทศไทยหรอกนะ หรือถ้าคุณเที่ยวไปชวนใครตามท้องถนนไปสมสู่ด้วยล่ะก็ ถ้าไม่ถูกตบคว่ำ ก็คงเพราะไปเจอคนสุภาพที่สุดในอเมริกาเข้า ซึ่งเขาก็จะไปพาตำรวจมาจับคุณส่งโรงบำบัดจิตแน่ 
 
ในปัจจุบัน การศึกษาทางสังคมวิทยาได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การร่วมเพศไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการสืบเผ่าพันธ์ุเป็นหลักอีกต่อไป ลองถามตัวคุณเองที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ก็แล้วกัน ว่าคุณมีเพศสัมพันธ์เพื่อความบันเทิงหรือเพื่อการสืบเผ่าพันธ์ุ 
 
ฉะนั้นผมว่าดีออกที่ใครจะนึกถึงเมืองไทยว่าเมืองแห่งการร่วมเพศ เพราะมันคือความเป็นจริงของการมีเพศสัมพันธ์ในโลกปัจจุบัน และที่น่าภูมิใจคือ ภาษาไทยก็จะกลายเป็นภาษาโลกในสนามของความสุขทางเพศ ก็แล้วจะให้ผู้คนทั่วโลกเรียนภาษาไทยไปเพื่ออะไรกัน ถ้าไม่ใช่เพื่อมาหาความสุขทางเพศ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง