Skip to main content

"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง

 
การศึกษาในยุคของสถาบันการศึกษาสร้างขอบเขตของการเรียนรู้ให้จำกัดขีดวงอยู่ในกรอบของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แจ็ค กูดี้ (Jack Goody) นักมานุษยวิทยาผู้ใคร่ครวญและศึกษาเปรียบเทียบระบบการศึกษาทั่วโลกหลายยุคหลายสมัยเสนอว่า การศึกษาสมัยก่อนนั้นอาศัยเครื่องมือสื่อสารแบบมุขปาฐะ ปากต่อปาก จึงอยู่ในขอบเขตของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ความรู้จึงจำกัดพื้นที่ เพราะหากไม่ไปพบผู้สอน ณ ที่ใดที่หนึ่ง ก็จะไม่ได้ความรู้ ระบบการศึกษาแบบนี้จึงอยู่ในกรอบของ "ครู-ศิษย์" ที่ความรู้ของของครูยากที่จะถูกท้าทาย เนื่องจากระบบอาวุโส และพิธีกรรมของระบบอาวุโส ปิดกั้นการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างตรงไปตรงมาระหว่างครูกับศิษย์ 
 
หากแต่ด้วยอักษร หนังสือ และการแพร่ขยายของการพิมพ์ ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่กรอบห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาอีกต่อไป แม้ว่าสถาบันการศึกษายังมีอยู่ แต่หนังสือแพร่ความรู้ไปทั่ว หนังสือทำให้ผู้เรียนไม่ต้องเกรงกลัวครูบาอาจารย์ แม้ว่าบางสังคม อย่างสังคมไทย ยังพยายามสืบทอดความคิดเกี่ยวกับหนังสือแบบเก่า ที่ให้เรากราบ เคารพหนังสือประดุจครูบาอาจารย์ แต่นั่นก็ไม่สามารถปิดกั้นโอกาสที่ผู้อ่านจะถกเถียงกับผู้เขียนในกระบวนการของการเรียนรู้ คือการอ่าน ได้ง่ายๆ แบบเดิมอีกต่อไป 
 
แม้ว่าแจ็ค กูดี้จะเข้าใจอะไรผิดๆ บ้างในรายละเอียด แต่ข้อสังเกตของเขาก็ช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ จากยุคสมัยที่หนังสือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีเพียงคนหยิบมือสามารถอ่าน เขียน และครอบครองได้ ไปสู่ยุคที่การศึกษาของมวลชน (mass education) ทำให้หนังสือที่มีอยู่ดาดดื่น ถูกเข้าถึง ถูกอ่าน ถูกแจกจ่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนกันไปทั่ว ได้เป็นอย่างดี
 
แม้กระนั้น พื้นที่ของการพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้แบบมุขปาฐะก็ยังคงมีบทบาทสำคัญ เนื่องจากการสนทนายังคงเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ หากแต่รูปแบบโครงครอบอำนาจของการสนทนาย่อมต้องเปลี่ยนไป การศึกษาปัจจุบันจึงพยายามส่งเสริมการเรียนรู้แบบ "สัมมนา" และการจัด "เสวนา" ที่ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันเองและกับผู้นำการสอน มากกว่าจะเป็นการ "บรรยาย" และ "ปาฐกถา" ที่ผู้สอนยังคงอำนาจของการครอบครองความรู้และการถ่ายทอดความรู้อยู่อย่างเต็มเปี่ยม การศึกษาแบบปากต่อปากในปัจจุบันจึงลดทอนอำนาจครอบงำของครูลงไปมากแล้ว
 
ในประเทศไทยปัจจุบัน ผมเห็นพื้นที่อยู่ 2 แห่ง ที่แสดงบทบาทโดดเด่นในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนแบบสัมมนา เสวนา กระทั่งสนทนา และลงมือทดลอง ปฏิบัติการ สร้างกิจกรรม นั่นคือร้านบุ๊ค รีพับบลิค (Book Re:public) และห้องสมุดเดอะ รี้ดดิ้ง รูม (The Reading Room) บุ๊ครีพับบลิคเป็นร้านหนังสือที่เชียงใหม่ แต่จัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นมากมาย จนผมมักจะคิดว่าเป็นห้องสมุด ส่วนเดอะรี้ดดิ้งรูมเป็นห้องสมุดด้านศิลปะ ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นสถานที่ส่วนบุคคลที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปอ่านไปใช้ได้ จนผมมักจะคิดว่าเป็นร้านหนังสือ
 
ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้หรือในปัจจุบันนี้จะไม่มีร้านหนังสือหรือห้องสมุดที่ทำบทบาทนี้ เพียงแต่ ณ เวลานี้ สองแห่งนี้โดดเด่นที่สุดด้วยการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ในแบบที่สามารถดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ คนทำงานที่ยังมีเวลาของตัวเอง ครอบครัวแบบใหม่ที่ไม่ใช้เวลากับการเดินห้างสรรพสินค้า มาเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง 
 
ทั้งสองแห่งจับประเด็นเฉพาะหน้า ร่วมสมัย คุยกันเรื่องเท่ๆ ในบรรยากาศสบายๆ ถึงขนาดนั่งๆ นอนๆ เอกเขนกราวกับนั่งคุยกันที่บ้าน ทั้งสองแห่งได้รับทุนสนับสนุนให้จัดกิจกรรมจากแหล่งทุนต่างๆ จึงสามารถส่งเทียบเชิญผู้นำการเรียนรู้มาได้จากทั่วสารทิศในสยาม ทั้งสองแห่งเผยแพร่ความรู้ออกไปในวงกว้างกว่าห้องสนทนา ไปสู่โลกกว้าง ด้วยการบันทึกการสนทนา บันทึกบทเรียน อัพโหลดขึ้นยูทูป ให้คนเข้าถึงได้ทั่วโลก
 

หากจะไปให้ไกลจนสุดขอบของพื้นที่การศึกษา โลกอินเทอร์เน็ตสร้างพื้นที่ใหม่ที่ท้าทายขอบเขตของอำนาจการเรียนรู้อย่างใหญ่หลวง กระทั่งว่าหากผู้มีอำนาจ "เล่นเน็ต" อย่างจริงจังและกล้าพอที่จะรับรู้ความเป็นไปอย่างแท้จริงของสังคม ก็จะรู้ว่าโลกแบบเดิมๆ ที่มีคนกราบกรานแห่แหนนั้น มันได้ปลาสนาไปนานแล้ว ในแง่นี้ พื้นที่สองแห่งนั้นได้สร้างความเชื่อมต่อ ระหว่างโลกของการสนทนาปากต่อปาก ไปสู่การศึกษาที่แทบจะไร้ขอบเขตในอินเทอร์เน็ต

ถามว่ามีห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาใดในประเทศนี้ทำได้ใกล้เคียงกับที่สถานที่ 2 แห่งนี้ทำได้บ้าง ถามว่าการเรียนรู้ในลักษณะนี้เป็นการศึกษาที่สร้างคนให้คิดเป็น ให้ถกเถียงได้ ให้ตอบโจทย์สังคมปัจจุบัน ตอบโจทย์ชีวิตร่วมสมัยได้ใช่หรือไม่ ถามว่าสถานที่ทั้งสองแห่งนี้จัดกิจกรรมอย่างเปิดเผย ให้สาธารณชนรับรู้ ให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบว่าอยู่ในกรอบของกฎหมายไม่ใช่หรือ แล้วทำไมต้องกลัวด้วย
 
ในบรรยากาศที่ผู้บริหารสถาบันการศึกษาในปัจจุบันมุ่งแต่จะ "เก็บแต้ม" ทำคะแนนประกันปริมาณในนามที่ตั้งขึ้นเพื่อหลอกตัวเองว่าเป็นการประกันคุณภาพ ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ปีนี้สถาบันตนเองทำรายได้ได้เท่าไหร่ จะเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่ จะถูกตัดงบประมาณหรือไม่ 
 
ในบรรยากาศที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งเห็นการออกนอกระบบเป็นความก้าวหน้า แต่ยังอธิบายให้นักศึกษาของตนเองเข้าใจไม่ได้ว่า การทำงานมานาน 25 ปี แสดงว่าตนเองรักสถาบันนั้นมากกว่านักศึกษาที่เรียนอยู่ 4 ปีแต่เป็นห่วงทิศทางการศึกษาของการออกนอกระบบมากกว่าผู้บริหารได้อย่างไร 
 
ในบรรยากาศที่ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันการศึกษาถูกอุดมการณ์ "ครู" ครอบงำไม่ให้เรียกร้องสวัสดิการและค่าแรง ในบรรยากาศที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเข้าห้องเรียนเพื่อแช็ทไลน์ เล่น BB ถ่ายรูป อัพรูปถ่ายในห้องเรียน แล้วรับปริญญาเมื่อเก็บหน่วยกิตครบ 
 
ในบรรยากาศแบบนี้ บุ๊ครีพับบลิคและเดอะรี้ดดิ้งรูมสร้างห้องเรียนที่เปิดให้คนสมัครใจเข้ามาไขว่คว้าความรู้เอง มาเจ็บสมองเอง มานั่งหลังขดหลังแข็งเองเป็นชั่วโมงๆ บุ๊ครีพับบลิคและเดอะรี้ดดิ้งรูมสร้างการเรียนรู้ที่เข้าใกล้การศึกษาในอุดมคติมากกว่ามหาวิทยาลัย 
 
แล้วถามว่าทำไมใครบางกลุ่มที่ระแวงสงสัยในกิจกรรมของสถานที่ทั้งสองแห่งนี้จึงไม่ลองเข้าร่วมกิจกรรม แล้วแลกเปลี่ยนกับวิทยากรและผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยเหตุด้วยผลบ้าง ไม่ใช่เอาแต่อาศัยระบบอำนาจนิยม เอาแต่เที่ยวด่าว่าลับหลัง หรือโทรศัพท์ ส่งจดหมายมาคุกคาม
 
ด้วยบทบาทดังกล่าวของบุ๊ครีพับบลิคและรีดดิ้งรูม ผมว่าใครก็ตามที่หาเหตุบีบคั้น ใส่ร้ายป้ายสี ตัดสินคนอื่นบนอคติของรสนิยมทางการเมืองตนเอง จะไม่สามารถทัดทานพลังการศึกษาของห้องเรียนทั้งสองนี้ได้ เพราะห้องเรียนทั้งสองตอบโจทย์การศึกษาที่ ถ้ามหาวิทยาลัยและโรงเรียนจะยังไม่ถึงกับไร้น้ำยาไปโดยสิ้นเชิง ก็นับวันจะยิ่งไม่สามารถทำบทบาทให้การศึกษาได้ดีโดยลำพังอีกต่อไป

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"