Skip to main content

 

เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 
เรื่องที่ว่าคือประเด็นเรื่อง "เพื่อนบ้านศึกษา" ซึ่งตั้งคำถามกับการพัฒนาการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง แต่ขอไม่เล่าเรื่องนี้ในที่นี้ ขอเล่าเรื่องอาหารการกินที่ติดรสหวานของคนถิ่นนี้แทน
 
ปกติอาหารนครศรีธรรมราชที่ผมรู้จักในครอบครัว ไม่เคยเลยที่จะติดรสหวาน แต่มานครฯ เที่ยวนี้แล้วรู้สึกได้ถึงรสหวานที่ดูจะระบาดไปทั่ว โดยเฉพาะในร้านอาหารที่มีคนกรุงเทพฯ คนต่างถิ่น มากินกัน 
 
เริ่มจากอาหารเย็นวันแรก (2 มีค.) ไปร้านอาหารในเมืองนครฯ กินกันเป็นมหกรรมปลาเลยทีเดียว มื้อนี้มีปลาสดๆ อร่อยๆ เยอะมาก และปรุงมาด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่ อินทรีทอด สำลีเผา ดุกอุยร้า ดุกทะเลฉู่ฉี่ กระบอกต้มส้ม จนถึง กุเลาแกงเหลือง อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจากกรุงเทพฯ ถึงกับเอ่ยปากว่า "ไม่เคยกินปลามากเท่านี้มาก่อนในชีวิตเลย" เพียงแต่อาหารมื้อนั้นรสชาติไม่จัดจ้าน เรื่องจากต้องประคับประคองท้องของผู้ใหญ่ แต่ที่ชวนหงุดหงิดนิดหน่อยคือ อะไรๆ ก็ติดหวาน แม้แต่น้ำพริกแมงดานา
 
แต่เมื่อวาน (3 มีค.) ไปร้านที่คนท่าศาลาแนะนำว่า "อร่อย" ครั้งนี้ไปเป็นรอบที่สองแล้ว ก็ยังรู้สึกว่าอาหารส่วนใหญ่ออกรสหวานๆ โดยเฉพาะจานเด็ดของเขาคือส้มตำทะเลน่ะ ตัวหวานเลย แม้แต่แกงปลาทรายใบยี่หร่าก็ยังหวานเหลือทน สุดท้ายด้วยความแค้น กะว่าถ้าจานนี้ยังไม่อร่อยอีกล่ะก็ คราวหน้ามาท่าศาลาจะไม่มาร้านนี้อีกแลัว ก็เลยขอให้เขาสั่งแกงส้ม บอกให้ทำแบบอร่อยๆ แบบคนใต้กิน 
 
ทางร้านหายไปนาน พอยกมา ได้แกงเหลืองถ้วยเขื่อง ตักชิมคำแรก โห! แกงส้มปลากุเลาสดๆ ทั้งเผ็ด ท้ังเปรี้ยวจิ้ดจ้าดกำลังดี ปรุงด้วยน้ำมะนาวสด เครื่องแกงถึงขมิ้น ถึงกะปิ ใช้พริกสดปนกับพริกแห้ง ไม่ติดรสหวาน อย่างนี้สิค่อยเรียกว่ามานครฯ หลังจากกินดื่มมาพอสมควรแล้ว ก็เลยต้องยอมกินข้าวปิด ท้ายมื้อ รับผิดชอบอาหารที่สั่งมานั่งกินคนเดียวท่ามกลางเพื่อนๆ อาจารย์อีกสิบกว่าคนที่อิ่มกันหมดแล้ว นับว่าจานนี้ช่วยกอบกู้ชื่อเสียงของร้านเอาไว้ได้จริงๆ
 
ท้ายสุด ยังไปกินน้ำชาร้านดังของท่าศาลาร้านนึงต่ออีก ต้องกำชับเขาว่าไม่เอาหวานมาก ได้ชาร้อนรสจัด ชนิดต้องกินแบบจิบๆ เขากินแกล้มกับขนมปังขาวจืดๆ แทนที่จะเป็นโรตีอย่างแต่ก่อน ก็เลยแขวะขนมปังเขาไปว่ามันเป็นขนมปังให้ปลา แต่น้ำชาเขารสเด็ดมาก
 
เช้านี้ (4 มีค.) ไปกินน้ำชากับโรตีในหมู่บ้านมุสลิมใกล้ๆ มหาวิทยาลัย ร้านนี้อร่อย โรตีจิ้มแกงหวานนิดหน่อย แต่ตามรสของเขา เพราะเคยกินของพวกนี้ที่ปัตตานี คนมุสลิมทางใต้มักกินติดหวาน ก็รับได้อยู่เพราะเป็นรสแบบของเขา ที่ชอบจานหนึ่งคือข้าวมันราดแกง เข้าใจว่าเขาหุงข้าวใส่กะทิเลยมันๆ ร่วนๆ หน่อย ราดแกงคล้ายพะแนงเนื้อ อร่อยดี หวานนิดหน่อย 
 
ที่เด็ดคือโรตีบางๆ อาจารย์ที่พาไปเล่าว่า มีอีกร้านที่เขาเรียกโรตีทิชชู เพราะบางกรอบมาก แต่ผมชอบแบบที่ร้านนี้แหละ บางแล้วมีกรอบบ้างนิ่มบ้าง กินกับน้ำชาร้อนนมข้น รสชามาตรฐานดี 
 
ไม่รู้ว่าความหวานในอาหารใต้เมืองนครฯ คืบคลานจากเหนือลงมาใต้ หรือจากใต้ขึ้นมาเหนือ แต่มันคงค่อยๆ ทำให้อาหารใต้เปลี่ยนไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ถึงวันนั้น ผมคงต้องคอยบอกร้านอาหารใต้เหมือนเวลาซื้อกาแฟในกรุงเทพฯ กินว่า "อย่าหวานนะ" 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้