Skip to main content

ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์

    (3) ช่างวิพากษ์
 
ในโลกวิชาการสังคมศาสตร์ไทย ผมเห็นการไม่ยอมรับการวิพากษ์ใน 2 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะแรก เป็นแบบที่จำกัดอยู่ในกรอบของระบบอาวุโส เป็นระบบอำนาจนิยมในวงวิชาการ อีกลักษณะหนึ่ง คับแคบไม่แพ้กัน คือแบบที่ปฏิเสธการวิพากษ์เพราะคิดว่าการวิพากษ์วางอยู่บนอคติ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์
 
นักวิชาการไทยบางคนไม่ชอบที่คนรุ่นหลังต้องวิพากษ์คนรุ่นก่อนหน้า เพราะคิดว่า "นักวิชาการรุ่นใหม่ตั้งหน้าตั้งตาข้ามหัวเหยียบหัวนักวิชาการรุ่นเก่าตลอดเวลา" แต่ผมว่า การไม่วิพากษ์นักวิชาการรุ่นก่อนหน้าหลายกรณีมันเกินไปกว่าการเคารพกันในทางวิชาการ แต่แสดงลักษณะอำนาจนิยมหรืออย่างเบาคือระบบอุปถัมภ์ในวงวิชาการมากกว่า
 
การไม่ยอมรับการวิพากษ์อันเนื่องมาจากระบบอุปถัมภ์ในวงวิชาการนั้น บางที่ไปไกลขนาดที่ว่า "ลูกศิษย์อาจารย์เดียวกันไม่ควรวิจารณ์กันเอง" บางคนหลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์คนอื่นเนื่องจาก "ไม่อยากเสียมิตรภาพ" หรือที่แย่กว่านั้นคือ กลัวว่าหากท่านๆ ผู้ใหญ่จะต้องมาเป็นผู้ประเมินผลงานทางวิชาการของตนแล้ว จะทำให้เกิดปัญหา หมดอนาคตไปได้
 
แต่แปลกที่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่ได้ถือสาอะไรเป็นการส่วนตัวว่าผมหรือคนรุ่นใหม่คนไหนจะวิพากษ์ท่านเพื่อลบหลู่ดูถูกท่าน เพราะส่วนตัวผมเคารพท่านเหล่านั้น ชื่นชม อ่านงาน และได้เรียนรู้อะไรมากมายจากงานท่านเหล่านั้นเสมอๆ เห็นมีแต่พวกลูกศิษย์ของท่านๆ เหล่านั้นต่างหากที่ดูจะเดือดร้อนเกินครู
 
ผู้ใหญ่ทางวิชาการในวัฒนธรรมทางวิชาการแบบที่ผมเติบโตมา คือที่ธรรมศาสตร์ ไม่เคยมีปัญหากับการทำงานเชิงวิพากษ์ของผม ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าที่อื่นเป็นอย่างไร แต่ที่ที่ผมทำงานอยู่ ผมไม่รู้สึกถึงการข่มกันด้วยวัยวุฒิ หรือแม้แต่คุณวุฒิ ผมเริ่มทำงานที่ํรรมศาสตร์ไม่นานหลังจากที่เรียนจบจากที่นี่ อาจารย์ผมทุกท่านก็ปฏิบัติกับผมเสมือนผมเปลี่ยนสถานภาพจากลูกศิษย์ เป็นเพื่อนร่วมงานโดยอัตโนมัติทันที ครูบาอาจารย์ผมเปิดรับการวิพากษ์ การแลกเปลี่ยนความเห็น การเสนอความเห็น โดยไม่คำนึกถึงความอาวุโส วิถีนี้จึงเป็นวัฒนธรรมทางวิชาการที่ผมว่ายเวียนอยู่เป็นปกติวิสัย
 
จะว่่าไปก็มี "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการบางคนที่ไม่ชอบการวิพากษ์บ้างเหมือนกัน แบบเบาๆ ท่านก็ว่าผมเป็นคนก้าวร้าว อย่างแรงๆ ก็ว่าผมวิพากษ์แบบบ่อนทำลาย ไม่สร้างสรรค์ แต่นั่นยังไม่น่ารำคาญเท่าสำนวนประเภท "เอาแต่วิพากษ์น่ะ เสนอทางออกอะไรบ้าง" ผมนึกในใจ "ขอโทษ การวิพากษ์ก็เป็นงานนะครับ อยากได้ข้อเสนออะไร ก็ช่วยไปคิดทำงานต่อกันเอาเองบ้างสิครับ"
 
คนที่ทำงานวิชาการย่อมรู้ดีว่า การวิพากษ์เป็นจิตวิญญาณของการทำงานทางวิชาการ บางคนไม่ชอบการทำงานวิชาการเพราะการฝึกฝนแบบฝรั่งที่ต้องวิพากษ์ตลอดเวลา สำหรับผม ที่แย่ยิ่งกว่าการเกรงกลัวระบบอุปถัมภ์จนละเว้นการวิพากษ์คือ การไม่อ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเอง อ่านและอ้างแต่งานต่างประเทศ จึงไม่วิพากษ์นักวิชาการไทยด้วยกันเอง อย่างนี้แล้วจะทำให้งานวิชาการในโลกภาษาไทยก้าวหน้าได้อย่างไร
 
การรังเกียจการวิพากษ์ในอีกลักษณะหนึ่งมาจากเหตุผลที่ว่า การทำงานทางวิทยาศาสตร์ต้องปลอดอคติ จึงไม่ควรวิพากษ์สังคม เพราะการวิพากษ์สังคมจะมาจากฐานทางศีลธรรมและการเมืองบางอย่าง ว่าสังคมที่ดีกว่าเป็นอย่างไร นักวิชาการที่ฝึกฝนมาแบบ "วิทยาศาสตร์" มักตั้งข้อรังเกียจต่อการศึกษาเชิงวิพากษ์แบบนี้ 
 
ทัศนะแบบนี้เองมองข้ามไปว่า การละเว้นไม่ศึกษาสังคมเชิงวิพากษ์ก็วางอยู่บนอคติที่ว่า นักวิชาการยอมรับสภาพความเป็นไปของสังคมที่ศึกษาอยู่แล้ว การไม่ตัดสินเชิงคุณค่าก็คือการยอมรับเชิงคุณค่าแบบหนึ่ง เป็นการยอมรับว่าสัวคมที่เป็นอยู่สมควรดำเนินต่อไปอย่างนั้น ใหม่ควรเข้าไปวิพากษ์อะไร ไม่ควรคาดหวังสังคมที่ดีกว่่าอย่างไร การไม่วิพากษ์จึงไม่ใช่การปลอดอคติ แต่มีอคติของความเฉยเมย ไม่นำพาต่อความเหลื่มล้ำไม่เป็นธรรมในสังคม
 
มีครั้งหนึ่ง ผมตกใจที่นักวิชาการเพื่อนร่วมวิชาชีพบางคนไม่รู้จักการวิพากษ์แบบนี้ เขาคิดว่าการทำงานวิชาการคือการเข้าใจหรืออธิบายสังคมเท่านั่น แต่ที่จริงมีการศึกษาเชิงวิพากษ์เพื่อชีวิตที่ดีกว่าด้วย ที่ชัดเจนคือนักทฤษฎีสังคมกลุ่ม "ทฤษฎีวิพากษ์" (critical theory) หากใครอ่านหนังสือทฤษฎีสังคมอยู่บ้าง ย่อมผ่านหูผ่านตากับประโยคที่คาร์ล มาร์กซกล่าวไว้ทำนองที่ว่า "งานวิชาการไม่ได้เพียงต้องการอธิบายสังคม แต่งานวิชาการต้องเปลี่ยนโลกด้วย" 
 
หากคุณรังเกียจ "มาร์กซ" ผมผมว่าพระพุทธเจ้า นะบี จีซัส ขงจื่อ โมเสส หรือศาสดาท่านอื่นใดคงพูดอะไรทำนองนี้ไว้เช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นท่านเหล่านั้นจะเสนอทางออกให้มนุษยชาติได้อย่างไร
 
อย่างไรเสีย คุณจะเปลี่ยนโลกได้ก็ต้องรู้ก่อนว่าจะเปลี่ยนไปทางไหนดี นั่นคือ คุณต้องมียูโทเปีย หรือเฮ็ทเทอโรเปีย (พหุสังคมอุดมคติ) อยู่เป็นธง แล้ววิพากษ์ว่าสังคมปัจจุบันมันเลวร้ายอย่างไร แล้วจึงหาแนวทางที่จะบรรลุสังคมที่ดีกว่า ใช่เลยที่ว่า การวิพากษ์แนวนี้คล้ายคลึงกับศาสนา ที่ต้องมีการตัดสินเชิงคุณค่า การมีเป้าหมายเชิงศีลธรรมบางอย่าง
 
ที่จริงการวิพากษ์แนวนี้ทำให้วิชาการติดดิน เป็นการนำวิชาการไปสู่สาธารณะ เพราะต้องตอบโจทย์ของสังคม ต้องลงจากหอคอยงาช้าง ต้องคลุกคลีกับผู้คน เพียงแต่ว่า จุดตั้งต้นของการวิพากษ์แนวนี้มีฐานทางวิชาการที่อยู่บนหอคอยงาช้าง นักวิพากษ์แนวนี้ต้องทั้งเข้าใจสังคมและต้องเสนอทิศทางการเปลี่ยนแปลงสังคม 
 
ด้วยการวิพากษ์ไม่ใช่หรือที่ทำให้โลกก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นก็คงมีแต่คนนิพพานแล้วมนุษย์ก็สูญพันธ์ุไปตั้งแต่เมื่อพันปีที่แล้ว หรือไม่ก็ฝึกจิตจนบินได้กันเต็มไปหมดเนื่องจากไม่มีใครวิพากษ์ความรู้โบราณที่มีฐานอยู่ที่ศาสนา หรือไม่อย่างนั้น เราคงยังควงขวานหิน แล่ปลาด้วยหินกระเทาะกันอยู่ 
 
หรือถ้าจะไม่วิพากษ์กัน ทำไมเราไม่รื้อฟื้นภูมิปัญญามนุษย์ยุคหิน เลิกกระทั่งการถลุงเหล็กหรือการทำกลองสำริด แล้วกลับไปเขวี้ยงหินใส่กันเสียเลยดีกว่าไหม เลิกขีดเขียนแล้วกลับไปเล่านิทานกันดีกว่าไหม หรือไม่ก็กลับไปปีนป่ายต้นไม้กันดีกว่าไหม
 
หากใครจะทำงานวิชาการแล้วไม่ทำงานวิพากษ์งานก่อนหน้าอย่างตรงไปตรงมา ไม่เดือดร้อนกับความอยุติธรรมของสังคมแล้ววิพากษ์สังคม ผมก็ไม่รู้ว่าจะยังเรียกตนเองว่านักวิชาการอยู่ได้อย่างไร 
 
แต่หากใครจะบอกว่า วัฒนธรรมวิชาการแบบไทยๆ ก็ต้องเป็นแบบอุปถัมภ์ เป็นแบบปลอดอคติหม่วิพากษ์สังคม ผมก็จะขอถอนสัญชาติทางวิชาการของผมเสีย ส่วนใครจะตั้งหน้าตั้งตาต่อต้านการวิพากษ์ของผมทั้งที่ลับและที่แจ้ง ทั้งเอ่ยชื่อตรงๆ หรือไม่เอ่ยชื่อ ก็แล้วแต่เขา ตามสะดวก เพราะผมไม่ได้มีหน้าที่ไปตั้งด่านตรวจจับทัศนะคับแคบทางวิชาการเหล่านั้น

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์