Skip to main content

"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ

เมื่ออยู่เวียดนามกว่า 3 ปีเมื่อหลายปีก่อน ผมรู้สึกถึงการกำกับของเวลาโดยเทศกาล "เต๊ด" (Tết) ปีใหม่เวียดนามก็ตรงกับตรุษจีนนั่นเอง แต่คนเวียดนามไม่มีทางเรียกมันว่าตรุษจีน เพราะเขาไม่ชอบคนจีนเหมือนคนไทยไม่ชอบพม่าและเขมรนั่นแหละ แม้ว่าส่วนใหญ่ของวัฒนธรรมเวียดคือวัฒนธรรมที่มาจากชาวจีน รวมทั้งปีใหม่เวียดนาม

เต๊ดกำกับชีวิตชาวเวียดนามด้วยการทำให้ทุกกลุ่มชาติพันธ์ุต้องฉลองปีใหม่ตรงกันหมด ขณะที่ปีใหม่แบบฝรั่งตามปฏิทินฝรั่ง ไม่ได้รับความสำคัญอย่างเป็นทางการเท่าเต๊ด เช่นว่า เทศกาลเต๊ดไม่ได้มีเพียงวันไหว้ผีบรรพบุรุษ แต่เต๊ดของเวียดนามยังถูกทำให้เป็นช่วงของการเปลี่ยนฤดู จากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งมีดอกท้อ (hoa đào) เป็นสัญลักษณ์สำคัญ

สำหรับชาวเวียดนามทางเหนือก็พอจินตนาการตามได้ถึงการเปลี่ยนฤดู แต่สำหรับชาวเวียดนามใต้ สำหรับชาวกรอม (เขมร) และชาวจามทางใต้ ไม่รู้จะเอาอะไรมาคิดถึง "ฤดูใบไม้ผลิ" ท่ามกลางอากาศร้อนระอุเกือบตลอดทั้งปี ส่วนชาวเขาในเวียดนามใต้ แม้อากาศจะไม่ร้อนเท่าลุ่มนำ้โขงทางใต้ ก็ไม่มีจินตกรรมเวลาแบบชาวเวียดนามเหนือแน่นอน

เต๊ดถูกโปรโมตในสื่อมวลชนทุกแขนง ซึ่งเป็นของรัฐทั้งหมด ไม่เพียงเวลา แต่กระทั่งอาหารการกิน โดยเฉพาะขนมประจำเทศกาลอย่าง bánh chưng (แบ๋ญจึง) ข้าวต้มสี่เหลี่ยมไส้หมูสามชั้นผสมถั่วเหลืองรสชาติเค็มๆ มันๆ เลี่ยนๆ คาวๆ ที่ต้มหรือซื้อหากันมาแทบทกบ้าน แต่ไม่เคยเห็นบ้านไหนกินกันหมด เห็นมีแต่ทำแจกกันไปมาจนเหลือทิ้ง หรือไม่ก็ต้องเอามาทอดกินแล้วกินเล่าจนต้องทิ้งในที่สุด ทุกวันนี้ ในทุกๆ ปี ชาวเวียดนามไม่ว่าจะชนกลุ่มใด ก็ต้องทำข้ามต้มคาวๆ นี้กินและทิ้งกันไปทั้งประเทศ

ด้วยความเป็น "ชาติเดียวกัน" เวียดนามจึงไม่มีปีใหม่แบบอื่นๆ ที่จะมีฐานะเทียบเท่าเต๊ด และด้วยหลักจักรวรรดินิยมของเวลาในลักษณะเดียวกัน ไทยจึงไม่มีปีใหม่ไหนๆ เทียบเท่าสงกรานต์ที่หยุดยาวกว่าปีใหม่อื่นๆ บ้าคลั่งมากกว่าเทศกาลอื่นๆ ส่วนงานเดือนสิบของภาคใต้ (เดือนสิบจัทรคติ) งานบุญบั้งไฟ (เดือนหกจันทรคติ) ฮารีรายอ (ที่สำคัญคือราวเดือนสิงหาคม-กันยายน ใกล้งานบุญเดือนสิบ) ปีใหม่ม้ง (เคยมีต่างหาก) ปีใหม่กระเหรี่ยง (ก็น่าจะมีต่างหาก) หรือกระทั่งตรุษจีน และคริสต์มาส ซึ่งสำคัญต่อคนกลุ่มอื่นๆ มากกว่า ก็ไม่ได้มีฐานะเทียบเท่าสงกรานต

สงกรานต์ไม่เพียงกำหนดให้คนไทยและไม่ไทยต้องฉลอง แต่บังคับให้ทุกคนต้องยอมรับการเฉลิมฉลอง ต้องเปียก ต้องหยุดทำงาน จนปีหลังๆ มาต้องทนฟังเพลงดังๆ แล้วรัฐบาลก็ค่อยๆ คืบเข้ามากำหนดให้ชาวไทยต้องไหว้พระ ต้องรดนำ้ดำหัวผู้ใหญ่ ต้องโทรหาพ่อแม่เพราะถูกกำหนดให้เป็นวันครอบครัว รวมทั้งต้องไปเสี่ยงตายบนถนนหลวงพร้อมๆ กัน 

เมื่อไหร่เราจะมีเสรีภาพในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของแต่ละปี เราจะได้เลือกได้ว่าจะฉลองหรือไม่ฉลองอะไรเมื่อไหร่ เมื่อไหร่เราจะยกย่องการเปลี่ยนผ่านของเวลาหลายๆ แบบ ตามแต่ความหมายของชีวิตของแต่ละคน

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี