Skip to main content

เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน

ตอนแรกผมเริ่มวิตกว่าไม่ได้เอาสมุดบันทึกเข้าไปในโรงหนัง กลัวลืมรายละเอียด แต่ก็คิดได้ว่า บ้าไปแล้ว มาดูหนังไม่ใช่มาทำวิจัยภาคสนาม

 

ผมว่าหนังเรื่องนี้บูชาความรักเหนือสิ่งอื่นใดจริงๆ เริ่มเรื่อง เราไม่ต้องรู้ว่าสงครามที่เกิดขึ้นเป็นการรบระหว่างใครกับใคร รบไปทำไม รบที่ไหน ยุคไหนสมัยไหน รู้แต่ว่า พี่มากขาต้องเอาชีวิตรอดกลับไปให้ได้เพื่อเจอนางนาค

 

ความรักของพี่มากขาที่อยู่เหนือชาติเหนือแผ่นดินถูกยืนยันหนักแน่นเมื่อมากจู๋จี๋จ๊ะจ๋ากับนางนาคที่เรือน ประโยคเด็ดนั้นพูดว่าอะไร หลายคนก็น่าจะรู้ๆ กันดีอยู่แล้ว เพราะถูกหยิบไปพูดถึงกันมากแล้ว ถึงตรงนี้ ผมนึกชื่นชมกองเซ็นเซอร์ที่ปล่อยให้ประโยคนั้นหลุดออกมา แต่อีกใจก็นึกว่า สงสัยกองเซ็นเซอร์คงไม่ฉลาดพอจะเข้าใจว่า นี่มันเป็นการตบหน้าอาการคลั่งชาติบ้าสงครามของรัฐไทยชัดๆ

 

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า บทหนังยังล้อเลียนความคลั่งชาติบ้าสงครามด้วยการเสียดสีสงครามแห่งความพ่ายแพ้หลายสงครามที่มักถูกหยิบมาอ้างให้คนไทยรักชาติในฉากแรกๆ ของหนัง

 

แล้วไม่ทราบใครเห็นพระถูกพี่มากถีบบ้าง ผมเห็นเต็มตาว่าพระที่ทำทีจะต่อกรกับนางนาคถูกพี่มากถีบ แม้จะโดยไม่ตั้งใจ นี่เป็นอีกฉากที่น่าสรรเสริญความรักของพี่มากขา เพราะศาสนาซึ่งควรจะมีเมตตาอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของความรัก กลับไม่ใช้ความรักเพื่อเข้าใจความรัก แต่จะว่าไป พี่มากคงไม่ได้ถึงกับถีบศาสนา เพียงแต่ถีบผู้สืบทอดศาสนาที่ไม่เข้าใจความจริงของโลก

 

หนังพิสูจน์ว่าความรักอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ยกเว้นอารมณ์ขัน เพราะสัดส่วนของเสียงหัวเราะในโรงหนังมีมากกว่าสัดส่วนของอมยิ้มขวยเขินยามเข้าพระเข้านางและน้ำตาซาบซึ้งกับความรัก น่าสนใจที่ทำไมหนังไทยและคนไทยที่ดูหนังไทยจึงสามารถปนเปความกลัวกับเรื่องตลกได้ (แม้ไม่ถึงกับแปลงความกลัวให้เป็นเรื่องตลก) สงสัยว่าคนไทยจะขำกับความกลัวของผู้คน เสมือนว่าจริงๆ แล้ว อะไรที่น่ากลัวไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น จึงขันว่าทำไมตัวละครถึงกลัวกันลนลานจนสูญเสียความเป็นคนกันไปจนน่าขัน

 

ผมสงสัยว่าใครในโลกหล้านี้จะดูหนังเรื่องนี้รู้เรื่องบ้าง หรือจะขำอย่างที่คนไทยยอมจ่ายตังค์ไปขำกันบ้าง แม้หนังจะมีกลวิธีผูกเรื่องให้มีเกร็ดเล็กน้อยให้งงแล้วมาเฉลย จนทำให้หนังดูมีเหตุมีผลไปเสียแทบทุกอย่าง เช่น เรื่องแหวน เรื่องเจ้าเอ เรื่องมากรู้ความจริงเกี่ยวกับนาค ที่ทำให้หนังดู "สากล" แต่มุกเจ้าเอรับกรรมที่ก่อกับนาค มุกพวกมาก-นาคถูกม็อบชาวบ้านขับไล่ มุกเก็บลูกมะนาว มุกผีไทยในบ้านผีสิง ฯลฯ จะมีใครในโลกหล้าเข้าใจกันบ้างล่ะเนี่ย

 

แต่ยังไงผมก็ชอบและชื่นชมหนังนี้มากนะ ที่ชอบที่สุดคือภาษาพูด ที่ไม่กระแดะพูด "ภาษาโบราณ" ความจริงนี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่หนังล้อเลียนได้ดีเยี่ยม และเป็นอีกสิ่งที่ "แปล" ให้ชาวโลกเข้าใจไม่ได้ นอกจากนั้นยังชอบที่หนังคงความเป็นตำนานนางนาค ที่ต้องมี motif หลักๆ ของตำนานนี้ครบครัน (เก็บมะนาว ห้อยหัว เปลไกวเอง บ้านรก หนอนในอาหาร ฯลฯ) และชอบที่มีมุกหลอกคนดูให้คิดพลิกกลับไปมา จนเกือบเชื่อว่า หรือเราเข้าใจสถานภาพของนาคผิดไปจริงๆ

 

เหนืออื่นใดคือชอบที่หนังหานิยามความรักใหม่ให้กับคู่รักอมตะมาก-นาค เป็นรักเหนือชาติ ศาสน์ กะ..คำตีตราของสังคม จนกลายเป็นรักที่มีพลังพ้นความเป็นอื่นอันห่างไกลกันแม้ข้ามภพภูมิ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง