Skip to main content

วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN

วิทยากรมีทั้งนักวิชาการ (ดุลยภาค ปรีชารัชช, อัครพงษ์ ค่ำคูณ, อนุสรณ์ อุณโณ, ธเนศ อาภรสุวรรณ) ประชาชนผู้อยู่ในขบวนการสันติภาพโดยตรง (ประจักษ์ กุนนะ จากสภากอบกู้รัฐฉาน) และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ (บาสรี มะเซ็ง นักวิชาการท้องถิ่นจากนราธิวาส) ผมดำเนินรายการ

 

ผมไม่มีความรู้ลึกซึ้งอะไรเกี่ยวกับกรณีรัฐฉานในพม่า ซาบาห์ในมาเลเซีย และรัฐปัตตานีในประเทศไทย เพียงแต่เมื่อฟังแล้วได้ข้อสรุปบางประการที่อยากแบ่งปันสั้นๆ ดังนี้

 

(1) มรดกความขัดแย้ง ความขัดแย้งนี้เป็นมรดกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่หนึ่งเป็นมรดกของสังคมที่มีความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ กลุ่มคน และอำนาจการปกครองที่ไม่เคยมีเอกภาพ ในอีกแง่หนึ่งเป็นมรดกของอาณานิคม ที่สร้างพรมแดนขึ้นมาซ้อนทับพาดผ่านพื้นที่ซึ่งไม่เคยมีพรมแดนมาก่อน อีกแง่หนึ่งยังเป็นมรดกของความพยายามสร้างรัฐเดี่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

ประเด็นหลังนี้อาจารย์ธเนศสรุปไว้ชัดเจนทำนองที่ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูจะเป็นที่แห่งเดียวในโลกที่ให้ความสำคัญกับรัฐเดี่ยวมากเกินไป และเกินจริง แต่ทุกรัฐที่มีปัญหาขัดแย้งพรมแดนหรือขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐ มักคิดว่าตนเป็นรัฐเดี่ยวมาตั้งแต่โบราณ ทั้งๆ ที่มันไม่จริง

 

(2) สันติภาพของใคร กระบวนเจรจาสันติภาพไม่ว่าจะระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า ไทยกับคนมลายู หรือมาเลเซียกับฟิลิปปินส์ จะไม่สามารถเข้าถึงสันติภาพได้ เนื่องจากคู่ขัดแย้งมักมองสันสิภาพแตกต่างกัน

 

สำหรับชาวไทใหญ่ สันติภาพหมายถึงการยอมให้พวกเขาปกครองตนเอง แต่แน่นอนว่านั่นไม่ใช่สันติภาพของรัฐบาลพม่าที่ต้องการให้ไทใหญ่ยุติขบวนการกู้ชาติ สันติภาพของผู้ใช้กำลังในภาคใต้ไทยกับรัฐบาลไทยย่อมแตกต่างกัน 

 

ผมจึงคิดว่า การเจรจาที่แท้จริงน่าจะเป็นการเจรจาว่า จุดไหนกันที่คู่ขัดแย้งจะยอมรับได้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ คู่ขัดแย้งควรหาข้อยุติว่า อะไรคือสันติภาพที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ไม่ใช่ยืนยันแต่สันติภาพในความหมายของตนเองเท่านั้น

 

(3) องค์กรสลายความขัดแย้ง เท่าที่เห็นคือ ความขัดแย้งที่เท่าเทียมกันคือความขัดแย้งระหว่างรัฐนั้น มักมีองค์กรมาไกล่เกลี่ย หรือเป็นตัวกลางในการเจรจา หรือแม้แต่ตัดสินหาข้อยุติ เช่น กรณีข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างรัฐ หลายครั้งยุติที่คำตัดสินของศาลโลก อาจารย์อัครพงษ์ชี้ว่าความขัดแย้งที่ซาบาห์มีลักษณะนั้น ไม่ต่างจากเขาพระวิหาร

 

แต่กรณีความขัดแย้งที่ไม่เท่าเทียมกัน คือระหว่างรัฐกับประชาชนในรัฐ เช่น รัฐบาลพม่ากับชาวไตในรัฐฉาน รัฐบาลไทยกับคนมลายูในรัฐปัตตานี เป็นความขัดแย้งที่ไม่มีกลไกระหว่างประเทศหรือกลไกที่อยู่เหนือรัฐ อยู่นอกขอบเขตของรัฐ เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเจรจาโดยตรง 

 

ในข้อนี้ อาจารย์อนุสรณ์ชี้ว่า การที่ BRN เรียกร้องว่ารัฐบาลมาเลเซียต้องไม่เป็นเพียงผู้จัดให้มีการเจรจา แต่จะต้องเป็น "ตัวกลาง" การเจรจาด้วย เข้าข่ายลักษณะที่ว่า BRN ต้องการให้มีองค์กรนอกเหนือรัฐไทยเข้ามาร่วมเจรจาด้วย ส่วนประจักษ์ก็ชี้ให้เห็นว่า กรณีรัฐฉานกับพม่าสามารถเข้าสู่กระบวนการเจรจาได้ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะมีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเป็นตัวกลาง

 

การที่ประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งกำลังยกระดับสมาคมอาเซียนไปเป็นประชาคมอาเซียน แต่กลับไม่มีกลไกในการให้อาเซียนเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเจรจากรณีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชนในรัฐนั้น นับเป็นข้ออ่อนของอาเซียน และเป็นการมองข้ามความเหลื่อมล้ำของคู่ขัดแย้งต่างๆ ในอาเซียน ข้อนี้แตกต่างจากสหภาพยุโรป ที่มีศาลอียู ซึ่งมีอำนาจตัดสินความกรณีรัฐละเมิดประชาชนของรัฐได้ แต่อาเซียนปัดความรับผิดชอบนี้

 

(4) ประชาชนอยู่ตรงไหนในกระบวนการสันติภาพนี้ ไม่ว่าการเจรจาจะเป็นอย่างไร เอาเข้าจริงๆ แล้วดูเหมือน "ประชาชน" ในพื้นที่จะไม่ได้มีส่วนร่วม หรือแม้แต่มีส่วนรู้เห็นกับกระบวนการสันติภาพนี้เลย พูดไม่ได้ว่ารัฐบาลหรือขบวนการต่อต้านรัฐบาลเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจน 

 

หากประชาชนมีส่วนร่วม เขาคงบอกได้แต่แรกแล้วว่าไม่ต้องการความขัดแย้ง ไม่ต้องการความรุนแรง ทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้ความรุนแรงจบไป หากแต่คู่ขัดแย้งต่างหากที่เรียกร้องจากแต่ละฝ่าย และใช้ประชาชนไม่ว่าจะฝ่ายใด สังเวยความรุนแรง สังเวยกระบวนการสันติภาพตามเป้าหมายของฝ่ายตน 

 

ในข้อนี้ ประชาชนจากพื้นที่ขัดแย้งที่แสดงความเห็นในที่ประชุมทุกคนยืนยันถึงสภาพที่พวกเขาตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง ที่พวกเขาไม่ได้ก่อและไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาใดๆ ทั้งๆ ที่พวกเขาคือคนที่จะต้องได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อตกลงหรือไม่ตกลงที่คนอื่นยื่นให้

 

สุดท้าย ความท้าทายของกระบวนการสันติภาพในรัฐต่างๆ ที่มีความขัดแย้งในอุษาคเนย์คือ รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันอาจจะต้องยอมรับที่จะค้นหารูปแบบรัฐใหม่ ที่ไม่ใช่รัฐเดี่ยว ไม่ใช่รัฐแบบที่จะต้องกดและแปลงให้ทุกคนกลายเป็นคนกลุ่มเดียวกันหมด 

 

กระบวนการสันติภาพจึงไม่ใช่เพียงการเจรจาหาข้อยุติให้กับความรุนแรง แต่ขบวนการสันติภาพในก้าวต่อไปจะต้องนำไปสู่การค้นหาวิธีการอยู่ร่วมกันรูปแบบใหม่ ที่ยอมรับอำนาจอธิปไตยที่ไม่รวมศูนย์มากกว่าที่เป็นมา

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง