Skip to main content

 

มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้

1) โดยทั่วๆ ไป การตายของผู้คนเป็นการตายทางสังคม ไม่ใช่การสิ้นสุดอายุขัยหรือถูกทำให้ตายในทางกายภาพเท่านั้น แต่จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านสถานภาพ จากการตายเชิงกายภาพไปสู่การตายเชิงสังคม และกลายไปเป็นบุคคลใหม่ในชีวิตหลังหลังตายด้วย การตายในระดับสังคมโดยกว้างก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน การตายในระดับสังคมการเมืองทุกครั้งจะสิ้นสุดเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านของสังคมร่วมกัน ในสังคมทั่วไป เราจัดพิธีศพเพื่อส่งผู้ตายและเรียกคนเป็นให้กลับมาสู่สังคม แล้วการตายก็จึงสิ้นสุด แต่ทำไมการตายของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ยังไม่สิ้นสุดเสียที

กรณี 14 ตุลาคม 2516 มีพระราชพิธีศพแด่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนการตายเมื่อพฤษภาคม 2535 สิ้นสุดที่การลงจากอำนาจของผู้รับผิดชอบ แต่การตายกรณีเมษา-พฤษภา 53 เป็นการตายที่เหมือนกับกรณี 6 ตุลาคม 2519 คือเป็นการตายที่มีแต่เพียงการตายเชิงกายภาพ ยังไม่มีการเปลี่ยนผ่านทางสังคมเนื่องจากเป็นการตายที่ไม่ได้รับการยอมรับ 

2) แต่การตายกรณีปี 53 มีลักษณะพิเศษอย่างอื่นอีก นี่คือโศกนาฏกรรมทางการเมืองที่คนจำนวนมากในสังคมไทยเชื่อมโยงด้วย นี่คือการบาดเจ็บล้มตายของคน "ส่วนใหญ่" ของประเทศ เพราะพวกเขามีตัวตน มีอัตลักษณ์ มีจินตนาการต่อสังคมและกลุ่มคนร่วมกันอย่างกว้างขวาง และเชื่อมโยงกับฐานเสียงของพรรคการเมืองที่มีคนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดในประเทศ การตายครั้งนี้จึงเป็นการตายของ "มวลชน" ที่สนับสนุนพรรคการเมือง เป็นการตายของสังคมประชาธิปไตยที่มีฐานมวลชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทย

การตายที่ราชประสงค์จึงไม่เหมือนกับการตายของนักศึกษาในวันที่ 6 ตค. 19 และไม่เหมือนกับการตายของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ แบบที่ผ่านๆ มาหลายครั้ง ที่ยังคงมีความเชื่อมโยงกับมวลชนน้อยกว่ากันมาก ประชาชนที่ร่วมรู้สึกกับการตายที่ราชประสงค์จึงมากมาย หลั่งไหลมาจากต่างถิ่น ต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ

3) การตายครั้งนี้แตกต่างจากการตายครั้งก่อนๆ ที่ผู้เป็นเหยื่อถูกผลักให้เป็นศัตรูกับกลุ่มคนที่พวกเขาเรียกว่า "อำมาตย์" ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มักแสดงออกว่าเห็นใจใยดีกับประชาชนและคอยปกป้องช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในลักษณะนี้มาก่อน การบาดเจ็บล้มตายครั้งนี้จึงนับเป็นการบาดเจ็บล้มตายทางการเมืองที่ประชาชนรู้สึกถึงการถูกปล่อยปละละเลยมากที่สุด ถูกดูดายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ดังที่พวกเขาประชดประชันว่าเป็น "ลูกที่พ่อแม่ไม่รัก"

4) นี่คือการแสดงออกว่าประชาชนไม่ต้องการให้ถูกดูหมิ่นเหยีดหยามในศักดิ์ศรีอีกต่อไป ลำพังการเยียวยาด้วยเงิน ด้วยมาตรการต่างๆ จึงไม่เพียงพออีกต่อไป ราคาของความสูญเสียของพวกเขาจึงสูงขึ้น สูงมากกว่าราคาของความตายทางการเมืองที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มาตรการการเยียวยาใดๆ จึงยังไม่สำคัญเท่ากับว่า พวกเขาจะต้องได้รับความยุติธรรม 

รัฐบาลจึงต้องชั่งตวงวัดให้ดีว่า การนิรโทษกรรมนั้นจะกระทำแบบเหมารวมยกยอดตัดตอนไม่เอาผิดใครเลย ไม่ให้เจ้าหน้าที่ต้อง่ับผิดเลยนั้น สมควรหรือไม่ สังคมจะยอมรับได้หรือไม่ จะเพียงพอแก่การเยียวยาความเจ็บปวดของสังคมในปัจจุบันได้หรือไม่ หากมีการสะสางคดี มีการดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมที่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้บังคับบัญชา ด้วย อาจจะสามารถเยียวยาสังคมได้ดีกว่านี้ ไม่ใช่คิดเพียงแต่ว่าทำๆ ไปแบบในอดีตก็จบ อย่าลืมว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว

5) การตายนี้ยังใช้เป็นพลังต่อรองทางการเมืองกับกลุ่มการเมืองที่ยังคอยจ้องล้มรัฐบาลของมวลชนคนเสื้้อแดง พวกเขาเห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่สิ้นสุด ยังมีไฟคุกรุ่นที่จะคอยถูกพัดกระพือให้ลุกโชนขึ้นมาได้ทุกเมื่อ การรวมตัวของพวกเขานัยหนึ่งเพื่อรำลึกถึงการตายของมวลชนของพวกเขา แต่อีกนัยหนึ่งก็เพื่อแสดงพลังให้เห็นว่า พวกเขายังพร้อมที่จะต่อกรกับพลังทางการเมืองที่เล่นนอกกติกาของการเลือกตั้ง

6) ในท้ายที่สุดในอนาคต จะต้องมีการสร้างสัญลักษณ์ สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อให้สังคมไทยทั้งมวลระลึกต่อเหตุการณ์นี้ สังคมไทยทั้งมวล ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะต้องเข้าใจปรากฏการณ์นี้ให้ดีขึ้น นอกจากนั้น สังคมทั้งมวลจะเปลี่ยนผ่านไปได้ด้วยการกอบกู้ศักดิ์ศรีของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อ ด้วยการเรียนรู้ประวัติศาสตร์หน้านี้อย่างตรงไปตรงมาและถูกต้อง ให้สังคมทั้งสังคมยอมรับถึงความผิดพลาดของรัฐและสถาบันทางการเมืองที่ดึงดันต่อความประสงค์ของราษฎร และยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

ตราบใดที่ยังไม่มีการฌาปนกิจความตายที่ราชประสงค์อย่างเหมาะสม สังคมไทยก็จะไม่มีวันผ่านพ้นภาวะความตายนี้ไปได้ มวลชนจะยังคงมาร่วมทำบุญครบรอบให้ศพคนตาย จนกว่าสังคมจะยินยอมเปลี่ยนผ่านความตายนี้อย่างยุติธรรม จนกว่าพลังของ "อำมาตย์" จะมอดหมดไป เมื่อนั้นการชุมนุมที่ราชประสงค์ทุกวันที่ 19 พฤษภาคมก็จะค่อยๆ ซาลงไป

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้