Skip to main content

อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผมรู้จักอาจารย์ชาญวิทย์มาตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นรองอธิการบดีฝ่่ายการนักศึกษา ผมทำกิจกรรมนักศึกษา จึงมีโอกาสโต้เถียงท้าทายท่านบ้าง ตามประสาคู่กัด "รองฯ ฝ่ายการฯ กับเด็กกิจกรรม" สมัยนั้น

แต่ผมน่ะเป็นเพียงระดับรองบ่อน พวกพี่ๆ ที่ปะทะคารมกับอาจารย์ซึ่งๆ หน้า สมันนั้นน่ะเหรอ เอ่ยชื่อมาก็ล้วนแต่เป็นคนที่ทำกิจกรรมสังคมร่วมกันกับอาจารย์ชาญวิทย์ในขณะนี้แทบจะทั้งสิ้น

ผมไม่ได้เคยทำงานใกล้ชิดอาจารย์เลย ส่วนใหญ่ก็เห็นท่านเพียงห่างๆ แต่ก็ได้ร่วมสนทนากับท่านบ้างก็เมื่อผมศึกษาปริญญาเอกจบแล้ว ท่านมักให้โอกาสไปบรรยายในงานวิชาการที่ท่านจัดขึ้นบ่อยๆ

เวที "วิชาการสไตล์อาจารย์ชาญวิทย์" นั้นเป็นเวทีพิเศษ แตกต่างจากเวทีวิชาการที่ผมคุ้นเคยตรงที่มีผู้คนสนใจกว้างขวาง ผู้เข้ารับฟังส่วนใหญ่เรียนรู้ประเด็นและเนื้อหาใหม่ๆ ที่ต้องนำเสนอแบบ "เคี้ยวได้ ย่อยง่าย ไม่ต้องปีนบันไดเรียน" ผมไม่มีทางนำเสนองานแบบท่านได้ แต่ก็ได้เรียนรู้และพยายามปรับวิธีการสื่อสารกับสังคม จากการได้เข้าร่วมเวทีวิชาการของอาจารย์ชาญวิทย์

แต่ที่ประทับใจมากคือครั้งหนึ่งและทำให้ผมรู้สึกสนิทใจที่จะพูดคุยสนทนากับอาจารย์เสมอมาคือ เมื่อหลายปีก่อนที่อาจารย์ไปประชุมที่ฮานอย ระหว่างนั้นผมยังค้นคว้าและเก็บข้อมูลภาคสนามอยู่ที่นั่น ช่วงนั้นมีเพื่อนๆ นักวิชาการไทยวิจัยที่เวียดนามอยู่พร้อมๆ กันหลายคน พวกเรา 4-5 คนชวนอาจารย์ไปนั่งกินดื่มเบียร์สดสไตล์ฮานอยกันที่ร้านข้างถนนแห่งหนึ่ง 

ผมทึ่งว่าอาจารย์สุขภาพดีมาก คอแข็งมาก คุยสนุกมาก อาจารย์เปรยว่า "พวกที่เมืองไทยมันไม่กล้ามาคุยกับผมแบบนี้หรอก มันกลัว เลยไม่สนุก" เราพูดคุยกันจนดึกดื่น แล้วพวกเราก็เดินจากร้านมาส่งอาจารย์ถึงที่พัก ฮานอยเดือนนั้นอากาศดี เดิน 4-5 กิโลฯ ก็ยังไม่เหนอะหนะ

จนเมื่อเร็วๆ นี้ ผมแทบไม่เชื่อว่าอาจารย์จะก้าวออกมาอยู่แนวหน้าของการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องหลักการประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนอย่างแข็งขัน 

อาจารย์ชาญวิทย์ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพียงในฐานะ "นักวิชาการบัญชีหางว่าว" อาจารย์ไม่เพียงเคลื่อนไหวแต่ในนาม หากแต่ท่านยังแสดงตัว พูด เขียน ออกสื่อ เผยแพร่ความคิดให้ประชาชน เพื่อนนักวิชาการ และสหายใน "สังคมชนชั้นนำ" ให้เข้าใจชีวิต ความหวัง และความเดือดร้อนของประชาชนสามัญ

ข้อเขียนนี้สั้นเกินไปที่จะบอกกล่าวความนับถือที่ผมมีต่ออาจารย์ชาญวิทย์ น้อยไปที่จะบอกเล่าความภูมิใจที่ได้ร่วมงานแม้เพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของกิจกรรมต่างๆ ที่อาจารย์สร้างสรรค์ขึ้น 

แต่ผมก็อยากใช้พื้นที่เล็กน้อยนี้กล่าวว่า อาจารย์ชาญวิทย์เป็นแบบอย่างของนักวิชาการที่ไม่หวาดหวั่นต่อความสุ่มเสี่ยงในการนำชื่อเสียงของตนเองมาปกป้องเพื่อนมนุษย์ ไม่กอดกุมเสวยสุขจากบารมีทางวิชาการของตนเองจนหันหลังให้ประชาชนในที่สุด

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน