Skip to main content

ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้

"ทำไมจึงยังต้องอ่านงานเกียร์ทซ์" เป็นคำถามหนึ่งจากผู้เข้าร่วมเสวนาหลังการอ่าน Thick Description กับ Deep Play ที่ The Reading Room เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 กค.) ผู้ตั้งคำถามนี้กำลังเรียนปริญญาตรีมานุษยวิทยาที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาเองก็ต้องอ่านงานของ Clifford Geertz (1926-2006) เช่นกัน

คุณนราวัลลภ์ ปฐมวัฒน และคุณ Trin Aiyara ผู้จัดงานตอบว่า เพราะงานของเกียร์ทซ์ในยุคหนึ่งนั้นได้รับการอ้างอิงและกล่าวถึงมาก แถมยังมีงานเขียนเกี่ยวกับเขาในภาคภาษาไทยถึง 2 เล่ม แต่งานเกียร์ทซ์อ่านยากถึงยากมาก จึงอยากให้คนมาแนะแนวการอ่าน

ผู้ร่วมเสวนาอีกคนหนึ่งซึ่งเรียนปริญญาเอกมานุษยวิทยาอยู่ที่ฝรั่งเศสเล่าเสริมว่า ในห้องเรียนวิชาหนึ่งที่ฝรั่งเศส เขาให้เวลากับงาน 2 ชิ้นที่อ่านกันเมื่อวานถึง 3 สัปดาห์ด้วยกัน นั่นคงยืนยันความสำคัญของงานเกียร์ทซ์ข้ามทวีปได้ในระดับหนึ่ง

ในการเสวนา ผมพูดมากมายหลายเรื่อง อาจารย์นิติ ภวัครพันธ์ุผู้ร่วมเสวนาก็พูดหลายเรื่อง และมีประเด็นสนทนาต่อเนื่องอีกหลายเรื่อง แต่ในที่นี้ขอหยิบยกแค่บางส่วนที่ผมพูดมาตอบคำถามข้างต้นก็แล้วกัน

1) แน่นอนว่างานของเกียร์ทซ์หลายๆ ชิ้น โดยเฉพาะในหนังสือรวมบทความ The Interpretation of Cultures (1973) จะดูอนุรักษ์นิยม แม้จะพูดถึงการเมืองอยู่บ้างแต่ก็แทบไม่พูดถึงความขัดแย้ง ไม่พูดถึงประวัติศาสตร์ ขาดการเชื่อมโยงวัฒนธรรมกับมิติทางเศรษฐกิจ ไม่พูดถึงความแตกต่างทางเพศ และดู naive ไร้เดียงสาในสายตาคนรุ่นปัจจุบันไปมาก โดยเฉพาะกับการที่เกียร์ทซ์ไม่วิพากษ์ตนเอง ไม่เห็นความเป็นนักมานุษยวิทยาในร่มเงามหาอำนาจ 

แต่ความละเอียดอ่อนในงานเขียนของเขาก็สามารถนำมาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ได้เป็นอย่างดี 

เช่นที่เขาเขียนถึงการชนไก่ในบาหลี เขาอธิบายความหมายของไก่ชนและความหมายของการชนไก่อย่างเป็นระบบ ไก่ชนเชื่อมกับความเป็นชายอย่างไร วิธีการพนันไก่ชนของชาวบาหลีเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือชี้ว่าระบบการพนันไก่ชนสอดคล้องกับระบบสังคมบาหลีส่วนหนึ่ง และนั่นคือการอธิบายให้เข้าใจว่า วัฒนธรรมที่แลดูไร้สาระ ไม่มีเหตุมีผลนั้น มีเหตุผลอย่างยิ่ง หากแต่เป็นเหตุผลทางสังคม

ความเข้าใจนี้ช่วยให้เราต้องทำความเข้าใจระบบความหมายของคนในสังคม ของเจ้าของวัฒนธรรมเขาเองอย่างดี ไม่ด่วนตัดสินเขาจากมาตรฐานความเข้าใจของเราเองเพียงเท่านั้น

2) ในโลกวิชาการทางสังคมศาสตร์ เกียร์ทซ์เป็นคนที่นำเอาวิธีการและหลักปรัชญาแบบแมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) มาปัดฝุ่นแล้วชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ "ความหมาย" และ "การอ่านความหมาย" เกียร์ทซ์เป็นคนที่เขียนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ มากกว่านักมานุษยวิทยาหลายๆ คนในแนวนี้ และเขาเป็นคนที่ทำให้การศึกษาทางมานุษยวิทยาเปลี่ยนโฉมหน้า จากการพิงหลังอยู่กับวิธีการและหลักปรัชญาแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ไปเป็นหลักคิดแบบมนุษยศาสตร์ (humanities)

สรุปสั้นๆ ย่อๆ คือ เกียร์ทซ์เสนอให้เข้าใจการกระทำ (เขาจงใจเลี่ยงคำว่าพฤติกรรม) ของมนุษย์ว่าเป็นการกระทำที่มีความหมาย ถูกใส่ความหมาย ไม่ต่างกับภาษา การกระทำอะไรก็แล้วแต่จึงอยู่ในระบบของความหมาย เป็นสัญลักษณ์ ฉะนั้นใครที่ศึกษาสังคมจึงไม่ได้กำลัง "สังเกต" เหตุการณ์ การกระทำต่างๆ อยู่ แต่เขากำลัง "อ่าน" หรือ "ตีความ" เพื่อ "ทำความเข้าใจ" ความหมายของผู้กระทำการ หรือของสังคมอยู่

3) การดังกล่าวทำให้กล่าวได้ว่า เกียร์ทซ์ดึงมานุษยวิทยาให้เอนเอียงไปทางมนุษยศาสตร์ (humanities) มากขึ้น แต่ไม่ถึงกับถอดถอนออกมาจากวิทยาศาสตร์ เขาโยงสังคมกับ "ตัวบท" ในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ทัศนะศิลป์ หรือการละคร 

เช่นในบทความ Deep Play ที่อ่านกัน เขาสรุปในตอนท้ายว่า การชนไก่คือตัวบทที่ไม่ได้ช่วยให้คนเข้าร่วมร่ำรวยหรือมีฐานะทางสังคมสูงขึ้นมา แต่การชนไก่คือการแสดง คือการนำเสนอภาพสังคมของชาวบาหลี การที่ชาวบาหลีเข้าร่วมการชนไก่จึงเป็นเหมือนการอ่านหนังสือนิยาย ที่เมื่ออ่านแล้ว ผู้อ่านสะท้อนกลับมายังตนเอง เพราะนิยายไม่ได้เพียงบอกเล่าเรื่องราวของตัวละคร แต่ยังบอกเล่าเรื่องราวของผู้อ่านเอง ชวนให้ผู้อ่านเองเข้าใจหรือระลึกถึงตนเองได้ 

ยิ่งกว่านั้น การชนไก่เป็นระบบสัญลักษณ์ที่เหมือนกับงานศิลปะ มีพลังเร้าอารมณ์ เพราะมีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง งานศิลปะอย่างการชนไก่จึงไม่ใช่สัญลักษณ์ทื่อๆ เงียบๆ แต่ยังมีบทบาทในการให้การศึกษา หรือสร้างความหมายแล้วสอดใส่ลงไปในคนในสังคมบาหลี การชนไก่จึงไม่ใช่ตัวบทที่ถูกอ่านเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวบทที่สร้างความหมายให้คนในสังคมด้วย

งานของเกียร์ทซจึงดึงความเป็นมนุษย์ในมิติของการอยู่กับชุดความหมาย อารมณ์ ศิลปะออกมา แล้วนำมาเชื่อมโยงสังคม วัฒนธรรม ขยับสังคมศาสตร์ให้ค่อนไปในทางมนุษยศาสตร์มากขึ้น ทำให้ต้องเข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์ด้วยวิธีการทางศิลปะและวรรณกรรมมากขึ้น และยกระดับการถกเถียงเพื่อเข้าใจความหมายทางสังคมไปสู่การถกเถียงทางปรัชญามากขึ้น

The Reading Room ไปง่าย แอร์เย็น มีเครื่องดื่มเย็น-ร้อนสารพัด มีหนังสืออ่านยากมากมายที่คงเป็นอุบายให้ผู้อ่านแวะเวียนมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบเล่มสักที กิจกรรม "re:reading group" ยังมีต่อเนื่องอีกหลายครั้ง ขอเชิญชวนไปอ่านใหม่กันครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี