Skip to main content

อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม" 

แต่ไม่เป็นไรครับ มาคราวนี้ อาจารย์ออกมาแสดงความเห็น ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับสังคมไทยในสภาวะสุ่มเสี่ยงขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง กระนั้นก็ตาม ผมมีข้อสงสัยอยู่ว่า ที่อาจารย์สรุปในข้อแรกของจดหมายถึงนายสุเทพว่า การเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นสันติวิธี จนทำให้คนเอาไปใช้อ้างสนับสนุนนายสุเทพกันไปทั่วนั้น จะเป็น "อสันติวิธี-วิหิงสา-อนารยะขัดขืน" ตั้งแต่ต้นเสียมากกว่าหรือเปล่า 

ผมเข้าใจว่าอาจารย์ได้ติติงนายสุเทพไว้ในข้อท้ายๆ ของจดหมายอยู่พอสมควร แต่ก็ยังสงสัยว่า การเคลื่อนไหวของนายสุเทพเป็นสันติวิธีแต่แรกแล้วอาจจะกลับกลายเป็นอสันติวิธี หรือเป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดหลักการสันติวิธีตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้วกันแน่ อาจารย์ครับ อาจารย์เป็นครูที่ผมเคารพ และเป็นปรมจารย์ของสันติวิธีในประเทศไทย ผมจึงขอความรู้จากอาจารย์ดังนี้ 

ข้อแรก ผู้ใช้สันติวิธีจะต้องเป็นผู้รักสันติด้วยหรือไม่ กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้มีประวัตินิยมความรุนแรง สั่งการให้มีการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 2553 แล้วขณะนี้กลับมานำมวลชน ต่อสู้เพื่อล้มระบอบทักษิณ ด้วยวิธีการที่คล้ายกับสันติวิธี จะถือว่าใช้สันติวิธีได้หรือไม่ หรือใครก็เป็นนักสันติวิธีได้ตราบใดที่เขาใช้หันมาใช้วิธีการต่อสู้อย่างสันติ แม้ว่าเขาจะเคยใช้ความรุนแรงอย่างร้ายกาจต่อประชาชนมือเปล่าผู้บริสุทธิ์มากมายจนประจักษ์แก่ตาชาวโลกไปทั่วแล้วก็ตาม อาจารย์เชื่อจริงๆ หรือครับว่านายสุเทพเป็นคนรักสันติ 

ข้อต่อมา เท่าที่ผมเข้าใจ สันติวิธีใช้ต่อสู้เพื่อชนผู้ไร้อำนาจต่อรอง สันติวิธีใช้เพื่อต่อกรกับผู้ใช้อำนาจครอบงำ สันติวิธีเป็นอำนาจของชนชั้นผู้ยากไร้ ด้อยอำนาจ ไร้พลังต่อต้านด้วยวิธีอื่น แต่ผมแน่ใจได้ว่า การต่อสู้ของนายสุเทพและพรรคพวกไม่ได้เป็นไปเพื่อคนยากไร้ คนด้อยอำนาจตั้งแต่แรกก่อตั้งขบวนการอย่างแน่นอน การต่อสู้ของนายสุเทพและพรรคพวกได้รับการสนับสนุนจากคนมีอำนาจ อยู่ในกลุ่มชนชั้นนำทางสังคมและการเมือง เช่น นักวิชาการที่สนับสนุนการรัฐประหาร ชนชั้นกลางและชนชั้นนำที่มีรายได้สูงจำนวนมาก และยังชนชั้นสูงจากระบอบเก่าอีกกลุ่มหนึ่ง คนเหล่านี้ต่อสู้เพื่อคงอำนาจจนถึงราชศักดิ์ของตนไว้มากกว่าต่อสู้เพื่อคนด้อยอำนาจไม่ใช่หรือ ซ้ำร้าย คนเหล่านี้ยังดูถูกชนชั้นล่างๆ ลงมาในสังคม ว่าไร้การศึกษา โง่เป็นควาย ตั้งแต่แรกเร่ิมการต่อสู้ อย่างนี้แล้วการต่อสู้ของนายสุเทพและขบวนการนกหวีดจะเป็นสันติวิธีได้ด้วยหรือ 

ข้อสาม ขณะนี้ประเทศเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องใช้สันติวิธีล้มล้างอำนาจรัฐกันแล้วหรือหรือ สันติวิธีจะใช้เมื่อไม่มีวิธีอื่นใดที่สันติกว่าหลงเหลืออยู่ในการต่อสู้อีกต่อไปแล้วใช่หรือไม่ แต่ขณะนี้เรามีรัฐสภา มีรัฐธรรมนูญ มีองค์กรทางการเมืองอีกมากมาย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ ศาลยุติธรรม ฯลฯ องค์กรเหล่านี้ง่อยเปลี้ย ไม่มีอำนาจ ถูกครอบงำจากพลังชั่ว ไม่สามารถคงความยุติธรรมได้แล้วจริงหรือ หากเราไม่เชื่อถือในสถาบันทางการเมืองใดๆ เลย แล้วใช้วิธีการที่ใกล้เคียงกับสันติวิธีไปเรื่อยๆ เพื่อล้มล้างทำลายสถาบันทางการเมืองไปจนถึงขีดสุด สันติวิธีจะยังเป็นวิธีการที่ถูกนำมาสร้างสันติสุขอยู่อีกหรือ เราต้องถามด้วยหรือไม่ว่า เมื่อใดกันที่สันติวิธีมีความชอบธรรม หรือเมื่อใดก็ได้ ใครก็ได้ จะใช้เพื่ออะไรหรือเพื่อใครก็ตาม หากใช้วิธีการคล้ายๆ สันติวิธีแล้ว ก็ล้วนเป็นสันติวิธีหมดหรือ 

ข้อสี่ วิธีการคล้ายสันติวิธีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณและมวลชนนกหวีด เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยสันติ หรือเป็นการทำลายสันติสุขเพื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรงกันแน่ ข้อนี้เราไม่อาจกล่าวหากันได้อย่างตรงไปตรงมาง่ายๆ แต่น่าสงสัยว่า หากไม่เกิดความรุนแรงขึ้นมาแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยในขณะนี้ตามข้อเรียกร้องของนายสุเทพและพวกได้อย่างไร หากสันติวิธีที่กระทำไปเพื่อหวังผลทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม ด้วยการกดดันยั่วยุจนทำให้ฝ่ายรัฐจำต้องใช้ความรุนแรงแล้ว จะยังเรียกว่าสันติวิธีได้หรือไม่ ซ้ำร้าย อาจารย์ก็น่าจะทราบดีว่า นายสุเทพและพรรคพวกพยายามเรียกร้องให้ทหารออกมาใช้กำลังรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้แล้วเรายังจะเรียกการต่อสู้นี้ว่าสันติวิธีได้อีกหรือ

สรุปแล้ว อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ เมื่ออ่านข้อเขียนอาจารย์จนจบ ผมเข้าใจได้ไม่ยากว่าสันติวิธีไม่ได้เป็นเพียงวิธีการ แต่จะสันติวิธีจะต้องเป็นทั้งวิธีการ เป้าหมาย และหลักการทางการเมืองของขบวนการอย่างสันติเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากไปพร้อมกันตั้งแต่เร่ิมแรก แต่การใช้วิธีการคล้ายสันติวิธี โดยผู้นิยมความรุนแรง เพื่ออภิสิทธิ์ชนส่วนน้อย นอกระบอบประชาธิปไตย จนเป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ตลอดจนเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหารโดยการใช้กำลังรุนแรง จะถือว่าเป็นสันติวิธีตั้งแต่แรกจนถึงขณะนี้ด้วยหรือครับ 

ด้วยความนับถือ 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"