Skip to main content

 

ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน

<--break->เมื่อไม่นานมานี้ มีนักการทูตจากประเทศหนึ่งถามผมว่า "ในภาวะการณ์ทางการเมืองที่มีการแบ่งฝ่ายทางการเมืองอย่างรุนแรงนี้ ส่งผลต่อเสรีภาพในการพูด (freedom of speech) ของนักวิชาการบ้างหรือเปล่า" ผมตอบว่า ที่ผมประสบมาและที่ทราบมามีหลายกรณีด้วยกัน

หนึ่ง เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมถูกปฏิเสธ ไม่ให้เข้ารับตำแหน่งบริหารขององค์กรหนึ่ง เมื่อก่อนองค์กรนี้มีบทบาททางวิชาการอย่างสำคัญ แต่ระยะหลังซบเซาไป มีเพื่อนนักวิชาการไม่กี่คนที่รู้การทาบทามนี้ ทุกคนสงสัยแต่แรกว่าจะเป็นไปได้จริงหรือ ผมเองก็สงสัยแต่แรก แต่อีกใจก็อยากรู้ว่าจะเดาผิดหรือเปล่า ผลก็คือ ผู้ใหญ่ ๆ ในองค์กรนั้นบอกผู้ใหญ่ที่มาทาบทามผมว่า "คนนี้ใส่เสื้อมีสี ให้มาทำงานที่นี่ไม่ได้เด็ดขาด" เล่นเอาผู้ใหญ่ที่มาทาบทามผมงงงวยไปเลย

สอง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมได้รับการทาบทามให้ไปเป็นองค์ปาฐกให้กับการประชุมทางวิชาการใหญ่รายการหนึ่งจากเพื่อนนักวิชาการ แต่แล้วเมื่อรายการจัดออกมา ปรากฏว่าไม่มีรายชื่อผม ผมก็ไม่ได้ติดใจถามไถ่อะไร เนื่องจากคิดว่าตนเองคงยังไม่มีคุณวุฒิเพียงพอ แต่เพิ่งมารู้ภายหลังว่า แหล่งทุนที่ให้เงินสนับสนุนระบุมาว่า "อย่าให้มีพวกใส่เสื้อสี...มากนัก" ชื่อผมก็เลยหลุดไป

สาม ในตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ผมหมดวาระแล้ว และผมไม่ได้รับตำแหน่งต่อ เพราะอยากทำงานเขียนให้มากขึ้นและเห็นว่าเพื่อนร่วมงานก็น่าจะได้ลองทำงานบริหารกันบ้าง แต่ในระหว่างอยู่ในตำแหน่ง เมื่อใดที่ขอห้องประชุมจัดงาน ฝ่ายบริหารซึ่งดูแลสถานที่จะต้องแขวะกลับมาทุกทีว่า "เป็นงานเสื้อ...อีกแล้วใช่ไหม" หากไม่มีการเมืองสีเสื้อ งานเหล่านี้จะเป็นกิจกรรมบริการวิชาการที่มหาวิทยาลัยสนับสนุนเป็นอย่างดี

สี่ ในการขอทุนทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาคนหนึ่งที่ผมเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ แหล่งทุนปฏิเสธการสนับสนุนวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในมิติทางสังคม-วัฒนธรรม หน่วยงานดังกล่าวซึ่งเป็นแหล่งทุนที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งของประเทศนี้ ให้เหตุผลว่าแหล่งทุนไม่มีนโยบายสนับสนุนให้ทำวิทยานิพนธ์ประเด็นดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทย และเรายังขาดความรู้อีกมาก

ห้า ในการทำงานวิจัยที่ผ่านมา ผมและเพื่อนร่วมวิจัยทุกคนประสบกับอุปสรรคใหญ่ในการเขียนรายงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ การวิจัยศึกษาความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยจากมุมมองของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ส่วนหนึ่งของข้อมูลคือความเห็นของประชาชนต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน แหล่งทุนบังคับว่าจะต้องตัดความเห็นเหล่านั้นออกจากงานวิจัย มิฉะนั้นจะไม่ยอมรับผลการวิจัย

หก นี่เป็นเรื่องไกลตัว ผมไม่ได้ประสบเอง แต่รับรู้มาว่า การสลับสับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัย สถาบันวิชาการสำคัญ ๆ หลายสถาบันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เขี่ยนักวิชาการที่มีผลงานโดดเด่นและเป็นที่นับถือทั้งในแวดวงวิชาการและแวดวงบริการสังคมออกไปเป็นจำนวนมาก คนเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยนักวิชาการตายซาก ด้วยบรรดาคนเฒ่าคนชราที่เลิกอ่านหนังสือไปหลายสิบปีแล้ว ผมสงสัยว่าจะเกี่ยวอะไรกันกับการติดสติ๊กเกอร์ "เสื้อตัวนี้สี..." อีกหรือเปล่า

นี่คือเหตุผลที่ทำไมนักวิชาการส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเดินบนเส้นทางที่ค้ำจุนการคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของสังคมไทย และทำไมนักวิชาการอีกจำนวนมากจึงนิ่งดูดายกับความไม่ยุติธรรมในสังคมนี้ และดังนั้น ในภาพรวมของแวดวงการศึกษา ผมไม่หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นภายในระยะ 10 ปีนี้เป็นอย่างน้อย

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน