Skip to main content

เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง

กลับจากเกียวโตเที่ยวนี้ สิ่งที่อาลัยถึงที่สุดไม่ใช่การที่ต้องจากเส้นราเมนเหนียวนุ่มในน้ำซุปข้นจากกระดูกหมู ไม่ใช่โหยหวนถึงการกินโอโคโนมิยากิรวมมิตรกระหลำ่ปลีที่เมื่อเสิร์ฟร้อนๆ แล้วโรยหน้าด้วยปลาแห้งซอยบางเป็นกระดาษ จนลมร้อนโชยพัดปลาแห้งไหวพริ้ว ซึ่งหากได้นั่งกินหน้ากะทะเหล็กควันโขมงในร้านซอมซ่อเล็กๆ แล้ว ก็จะเปลืองเบียร์ไม่ใช่น้อย 

ไม่ใช่อาลัยหาเนื้อชั้นดีที่มันแทรกเข้าไปในเนื้อเป็นริ้วๆ เพียงผัดกับต้นกระเทียมที่ปลูกชานเมืองเกียวโตโรยเกลือนิดหน่อย เหยาะซีอิ้วญี่ปุ่นนิดหน่อย ก็กินข้าวได้ชามใหญ่แล้ว ไม่ใช่อาลัยความพิถีพิถันในการแยกชิ้นส่วนต่างๆ ของไก่ไปทำอาหารหลากชนิด จนแทบจะจินตนาการไม่ได้ว่า ทำไมต้องแยะแยะอะไรกันวุ่นวายขนาดนี้ ไม่ใช่อาลัยโมจิแป้งข้าวเหนียวหนึบแต่นุ่มละไมลิ้นรสหวานไม่ถึงกับแสบคอ ฯลฯ แต่เป็นความอาลัยต่อเสียงต่างๆ ที่ไม่ได้ยินในกรุงเทพฯ 

พลันขึ้นรถไฟฟ้าจากเกียวโตไปโอซาก้า นั่งไปได้สักพัก ก็มีเสียงประกาศว่า "โปรดอย่าส่งเสียงรบกวนบนรถไฟ และโปรดงดใช้โทรศัพท์พูดคุยบนรถไฟ" ทำให้เวลาพูดคุยกันบนรถไฟ ก็มักต้องกระซิบกระซาบกันเบาเสียยิ่งกว่าเสียงคนคุยกันในห้องสมุดในเมืองไทย 

นั่นทำให้คิดถึงเสียงคุยโทรศัพท์บนรถบีทีเอสในกทม. ซึ่งมักเป็นเรื่องราวส่วนตัว ที่แม้กับคนรู้จักสนิทสนมกันก็ยังไม่กล้าคุยด้วย แต่ผู้ร่วมเดินทางแปลกหน้าชาวกทม.กลับไม่อายที่จะแชร์ให้ใครต่อใครได้ยินกันไปทั่วทั่งขบวนรถ จากนั้นก็พลันคิดไปถึงเสียงต่างๆ ที่ได้ยินในเกียวโตในระยะไม่กี่วันที่อยู่ที่นั่น 

ในเมือง มักมีเสียงเครื่องยนตร์กลไกบนรถเมล์ รถไฟ และประตูร้านสะดวกซื้อ เสียงรถไฟวิ่ง เสียงเอียดออดของรางกับล้อที่เสียดสีกัน และความเงียบบนพาหนะที่ถูกแทรกด้วยเพียงเสียงประกาศถึงสถานี ไม่เพียงบนรถโดยสาร เสียงความเงียบของสถานที่สาธารณะส่วนใหญ่ในเมืองเป็นเสียงที่หากได้ยากในกทม. 

มื้อกลางวัน ในร้านบะหมี่ชนิดต่างๆ จะมีเสียง "ซื้บ..ๆ..ๆ.." อยู่สม่ำเสมอ ไม่ค่อยได้ยินผู้หญิงส่งเสียงนี้ เสียงสูดบะหมี่อย่างเอร็ดอร่อยจึงน่าจะเป็นเสียงของผู้ชายมากกว่า เป็นเสียงความอร่อยแบบแมนๆ ที่ต้องแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นเสียงจากทักษะพิเศษที่คงจะช่วยฉาบเส้นด้วยน้ำซุปร้อนๆ ยามบะหมี่ค่อยๆ เดินทางเข้าปากลงคอไป 

ร้านอาหารมีเสียงเจ้าของร้านพูดทักทาย พูดส่งแขกอยู่แทบจะตลอดเวลา ยิ่งถ้าเป็นร้านที่ขายดี ยิ่งมีเสียงทักทาย ส่งแขกกันอย่างซ้ำซาก แต่เสียงสอดแทรกในร้านอาหาร แม้แต่ร้านราเมนแคบๆ ราคากันเอง ริมถนน ก็อาจมีทั้งเพลงแจ๊ซ เพลงร็อค หรือแม้แต่เพลงคลาสสิค ฟังเสียงสูดบะหมี่สอดแทรกกับเพลงแจ๊ซแล้ว ได้อารมณ์การกินบะหมี่ที่หาได้ยากในกรุงเทพฯ 

ประเภทร้านค้าที่มีเสียงสะดุดหูมากอีกประเภทหนึ่งคือร้านขายยาใหญ่ๆ บางร้านมีเสียงพนักงานวิ่งไปว่ิงมา หอบของพะรุงพะรังมาจัดชั้นวางสินค้า และคอยตะโกนอะไรสักอย่าง ที่ผมฟังไม่ออกเนื่องจากไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น ตลอดเวลา ไม่รู้ทำไมพนักงานเหล่านี้ต้องทำทีขยันขันแข็ง แอคทีฟเกินจำเป็นตลอดเวลา 

บนถนน เสียง "ตึ้ดๆ" บ้าง "เปี้ยวๆ" บ้าง ดังอยู่ทั่วไปตรงทางข้าม เสียงเตือนลักษณะนี้ยังมีอยู่ตามขั้นบันไดที่สถานีรถไฟ เข้าใจว่าเป็นเสียงเตือนทั้งคนตาดีและคนตาเสีย น่าสังเกตว่าแทนที่จะพูดเตือน เขาใช้เสียงที่เป็นกลไกหรือเสียงเหมือนนกร้อง "จิ๊บๆๆๆๆ" ส่งเสียงเตือน  

ที่จริงเสียงเตือนเวลารถไฟมาก็น่าสนใจ หลายสถานีใช้เสียงดิจิทัลถี่ๆ แบบหวานๆ รัวๆ บอกเตือนว่ารถไฟกำลังมา แทนที่จะเป็นเสียงนกหวีดห้วนๆ แบบสถานทีบีทีเอสในกทม. ตามสถานีเล็กๆ ที่นั่นเขามักไม่มีนายสถานีคอยยืนดูแลความปลอดภัย ผู้คนต้องดูแลกันเอง แต่บางทีเมื่อต้องเร่งหรือเตือนแรงๆ ในสถานีใหญ่ๆ เขาก็เป่านกหวีดห้วนๆ บ้างเหมือนกัน 

ในวัด ในศาลเจ้า ในป่าละเมาะของวัดหรือศาลเจ้า มีเสียงสวดมนต์ เสียงคนปรบมือเวลาไหว้เจ้า เสียงสั่นกระดิ่งกลม ทำนองบอกกล่าวเรียกผี เสียงการ้อง 

ในห้องที่พักเวลากลางคืน ยิ่งในฤดูหนาว เสียงความเงียบ ที่เงียบจนได้ยินเสียงหวีดหวิวในหูตัวเอง ดังก้องห้องพัก 

คนต่างถิ่นบางคนหรือคนที่นั่นหลายคนก็คงไม่ชอบเสียงพวกนี้ จะชอบหรือไม่ก็ตาม เสียงเหล่านี้ก็พอจะบอกวิถีชีวิตของคนได้บ้าง นอกเหนือจากไปเที่ยวชม เที่ยวลิ้มชิมรสแล้ว บางทีเราก็น่าจะไปเที่ยวฟังเสียงชีวิตประจำวันตามที่ต่างๆ กันบ้าง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี