Skip to main content

การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้

หากดูเฉพาะในฝ่ายของผู้ชุมนุมเองแล้ว ผมเชื่อว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมมีความแตกต่างกันมากมายหลายกลุ่ม หลายวัตถุประสงค์ ภายใต้จุดร่วมเดียวกันคือ "หวังดีต่อประเทศชาติ" หากเรายึดเอาความหวังดีต่อประเทศชาติเป็นแกนพิจารณาหลัก ผมว่าคู่ขัดแย้งต่างๆ ก็น่าจะพอคุยกันได้

สำหรับ กปปส. พรรคปชป. และกลุ่มมวลชนที่ร่วมชุมนุมกลุ่มอื่นๆ พวกเขาคงอยากได้อำนาจมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และกำจัดทักษิณให้สิ้นซาก ส่วนผู้พยายามเป็น king maker ก็คงคิดว่าหากกำจัดทักษิณได้และครองอำนาจไว้สักระยะหนึ่ง ก็จะสามารถทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปอย่างที่พวกเขามั่นใจได้ แต่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น พวกเขากำลังเอาชีวิต ความปลอดภัยของประชาชนเป็นตัวประกันหรือไม่ 

ประชาชนที่เข้าร่วมทั่วไปจำนวนมากเขาอยากเห็นอะไร ผมเชื่อโดยสนิทใจว่า พวกเขาอยากเห็นประเทศชาติเจริญขึ้นในประเด็นใหญ่ที่มีไม่น่าจะเกิน 2 ประเด็น คือการธำรงสถาบันกษัตริย์ไว้ และการกำจัดนักการเมืองโกง 

หากปัญหามีเท่านี้ เราควรมาพิจารณาว่า การรักษาสถาบันฯ ไว้และการกำจัดคนโกงนั้น ทำด้วยวิธีที่ศิวิไลซ์กว่าการชุมนุมขับไล่รัฐบาลได้หรือไม่ กระบวนการยุติธรรมที่เรามีอยู่ก็ทำงานกำจัดคนโกงและปกป้องสถาบันฯ มาตลอดไม่ใช่หรือ

ถ้าอย่างนั้น คำถามที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การรักษาสถาบันฯ และการไล่คนโกงนั้น เป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง หรือเป็นเพียงข้ออ้างในการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของกลุ่มการเมืองหนึ่ง ของคนชั้นสูงกลุ่มหนึ่ง จากอีกกลุ่มการเมืองหนึ่ง อีกชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่ง แกนนำการชุมนุมและพวกผู้ถือหางระดับสูง พวกเขานำเอาความหวังดีต่อประเทศชาติของผู้เข้าร่วมชุมนุม มาเป็นข้ออ้างหล่อเลี้ยงการชุมนุม ที่ตัวเขาเองมีเป้าหมายเฉพาะเพื่อตนเองหรือไม่ 

และเมื่อมาถึงทุกวันนี้แล้ว ที่เราห็นความสูญเสียต่อประชาชนอันเนื่องมาจากความรุนแรงจากฝ่ายต่างๆ เราเห็นความเกลียดชัง ละเลงเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ หน้าจอทีวีและจอคอมพิวเตอร์ ความเกลียดชังที่สร้างด้วย "ถ้อยคำเหยียดคน" (hate speech) หรือคำพูดรุนแรงทำร้ายจิตใจกันนั่นแหละ ที่มันจะกลับมาหล่อเลี้ยง "ความรุนแรงทางตรง" ด้วยกระสุนปืน 

ในบรรดากลุ่มนักกิจกรรมและนักวิชาการ ผมเห็นความหวังดี ความกระตือรือล้นของคนทุกกลุ่ม แต่ที่น่าเสียใจคือ คนบางคนดูจะให้ความสำคัญกับเป้าหมาย มากกว่าวิธีการ และผมคิดว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่ยอมแตกหักกับเพื่อนๆ ที่ยังหนุนการชุมนุมอยู่ 

ที่ร้ายกว่านั้นคือ พวกนักวิชาการและ NGOs ที่กระสันจะปฏิรูป พวกเขาดูเหมือนจะยอมเลี้ยงวิกฤตของประเทศเอาไว้เป็นตัวประกัน เพื่อแลกโอกาสที่จะให้ตนได้อำนาจปฏิรูปนอกวิถีทางประชาธิปไตย 

สุดท้าย ผมก็สงสัยว่า เราจะปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย หรือจะยอมสูญเสียชีวิตคนมากไปกว่านี้อีก เพียงเพื่อพยุงอำนาจต่อรองไว้ จะต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไหร่ พวกคุณที่ชุมนุมอยู่และที่เลี้ยงกระแสการชุมนุมไว้จึงจะยอมกลับมาสนับสนุนการเลือกตั้ง หยุดการชุมนุม เปิดการเจรจา แล้วค่อยคิดเรื่องการปฏิรูปกันหลังจากที่อะไรต่อมิอะไรมันสงบนิ่งกว่านี้ ไม่ดีกว่าหรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี