Skip to main content

หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง

ผมไปเกียวโตครั้งแรกตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (CSEAS) มหาวิทยาลัยเกียวโตเชิญไปสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshop ก็คือ ไปอบรม เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างเข้มข้นนั่นแหละ) เป็นเวลา 5 วัน ตลอด 5 วันนั้นได้ความรู้และได้ใช้สมองมากมาย

ไปครั้งนั้น ผมได้ความรู้มากมาย ได้พบและแลกเปลี่ยนความคิดกับนักวิชาการใหญ่ๆ ของโลกอย่าง Anthony Reid ที่ใครก็ตามที่ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สักเพียงเล็กน้อยก็ควรหางานเขามาอ่าน (มีแปลเป็นไทย) แต่ที่เหลือ ล้วนเป็นนักวิชาการจาก "ซีกโลกใต้" คือชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และชาวเอเชียตะวันออก รวมทั้งชาวญี่ปุ่นด้วย เพราะแม้ญี่ปุ่นผลิตความรู้มากมาย แต่ไม่ได้เป็นเจ้าโลกด้านสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมอยากรู้เรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

หลังจากนั้น เกียวโตเชิญร่วมกิจกรรมอีก 2 โครงการ โครงการหนึ่งเป็นผลจากการแลกเปลี่ยนความคิดกับหนังสือของ James Scott ชื่อ The Art of Not Being Governed: An Anarchist History of Upland Southeast Asia ("ศิลปะของการไม่ถูกปกครอง : ประวัติศาสตร์ชาวอนาธิปัตย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" พิมพ์ปี 2009) หนังสือเล่มนี้ถูกวิจารณ์ในแวดวงของผู้ที่ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปทั่วโลก 

แต่กิจกรรมที่ CSEAS แห่งเกียวโตจัดคือ ไม่วิจารณ์แบบเสียๆ หายๆ แต่สร้างความรู้ขึ้นมาขยายความเข้าใจจาก Scott พร้อมกันนั้น ให้นักวิชาการจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้วิจารณ์ ในส่วนของผมเอง ผมอาศัยข้อมูลจากการศึกษาชาวไทในเวียดนาม มาใช้อ่านงาน Scott เล่มนี้ ซึ่งก็ทั้งได้ประเด็นจาก Scott และได้มีมุมแลกเปลี่ยนกับ Scott มากมาย สุดท้ายได้งานเขียนใหม่มาอีกชิ้นหนึ่ง ได้คิดเกี่ยวกับพื้นที่ศึกษาของตนเอง อย่างเชื่อมโยงกับประเด็นทางทฤษฎีเกี่ยวกับการก่อเกิดรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

อีกโครงการหนึ่งเป็นการริเริ่มของนักประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยา และนักวิทยาศาสตร์สิ้งแวดล้อมจากเกียวโต ไต้หวัน และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดย Academia Sinica) ว่าด้วย "connectivity" หรือการเชื่อมต่อกันในหลายๆ ลักษณะของธรรมชาติ ผู้คน สังคม ซึ่งมีทั้งการแลกเปลี่ยนและต่อรองกับอำนาจในลักษณะต่างๆ 

โครงการนี้เป็นการทำงานข้ามสาขาวิชาและข้ามประเทศในซีกโลกใต้ โครงการนี้ไม่มีนักวิชาการจากซีกโลกเหนือร่วมเลยด้วยซ้ำ มีอยู่ 2 ครั้งที่โครงการนี้ไปสัมมนากันที่ Academia Sinica ในไทเป ทำให้ได้เห็นโลกทางวิชาการของไต้หวันพอสมควร โครงการนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2012-2014 เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เอง

จากการร่วมงานกับ CSEAS แห่งม.เกียวโตมา 6 ปี ผมเขียนบทความใหม่ๆ เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเวียดนามได้ 6 ชิ้น 

2 ชิ้นครึ่ง เป็นงานว่าด้วยวิธีวิทยาหรือแนวทางและท่าทีทางวิชาการของการศึกษาภูมิภาคนี้โดยชาวภูมิภาคเอง เขียนเป็นไทย 2 (หรือนับว่าชิ้นครึ่ง) และอังกฤษ 1 ผมเรียกมันว่า "เพื่อนบ้านศึกษา" (neighbor studies) ฉบับภาษาพิมพ์ไปชิ้นหนึ่งแล้วและกำลังจะพิมพ์อีก ส่วนฉบับภาษาอังกฤษ ยังไม่ได้พิมพ์

อีก 2 ชิ้นครึ่ง เป็นบทความภาษาอังกฤษชิ้นหนึ่ง กำลังเข้าสู่กระบวนการจัดพิมพ์แล้ว เป็นบทความจากโครงการที่แลกเปลี่ยนความคิดกับ James Scott ส่วนอีกชิ้นมาจากโครงการ connectivity ผมเขียนถึงนักวิชาการในเวียดนาม ในฐานะที่เป็นผู้ต่อรองอัตลักษณ์ระหว่างการเป็นชนกลุ่มน้อยกับการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเวียดนาม ภาษาอังกฤษกำลังพัฒนาเพื่อตีพิมพ์ ภาษาไทยเผยแพร่แล้ว

อีกชิ้นหนึ่ง เป็นผลมาจากการอ่านงานเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วหันมาทำความเข้าใจพัฒนาการใหม่ในภูมิภาคนี้ คือการพัฒนา ASEAN ข้นมาเป็น "ประชาคมเศรษฐกิจ" ที่ในอนาคตจะพัฒนาต่อไปเป็นประชาคมอาเซียน ผมเขียนบทความตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆ ที่อาเซียนให้ความสำคัญและไม่ให้ความสำคัญ งานชิ้นนี้เผยแพร่แล้ว หาได้ทางอินเตอร์เน็ต

ขณะนี้กำลังจะเขียนเพิ่มอีกหนึ่งชิ้น เป็นบททบทวนแนวทฤษฎีสำหรับศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลมาจากการบรรยายที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา (เมื่อไหร่แน่ ชักจำไม่ได้แล้ว) 

ขอจบรายงานการทำงานกับ CSEAS แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต หากมีโอกาสได้ทำงานกับมหาวิทยาลัยเกียวโตอีก ก็คงได้เล่าเรื่องราวการเดินทาง พร้อมกับกับการแสวงหาทางปัญญาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"