Skip to main content

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว

มหาวิทยาลัยมาลายาเป็นมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยไทยหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแห่งที่ผมทำงานอยู่ ควรจะแวะเวียนกันมาดูแล้วดูเล่า ดูให้เข้าใจแล้วลอกเลียนแบบเขาไปบ้างว่า ทำไมเขาจึงทำมหาวิทยาลัยแบบนี้ขึ้นมาได้ แล้วอย่าได้อ้างเด็ดขาดว่า "ก็เพราะฝรั่งตั้งขึ้นไง ก็เพราะมาเลเซียเคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษไง" เพราะพูดแบบนั้นนอกจากจะไม่รู้เรื่องอาณานิคมแล้ว ยังดูถูกตนเองว่า ขนาดไม่ได้ถูกครอบครองโดยใคร แถมส่งคนไปเรียนจากเจ้าอาณานิคมมากมาย แต่เมื่อกลับมาบ้าน แต่ละคนกลายเป็นบิดานั่นบิดานี่ ก็เป็นโดยไม่ได้ทิ้งอะไร สร้างอะไรดีๆ เอาไว้บ้างเลย 

อาจารย์สุมิต แมนเดล คนมาเลย์เชื้อสายอินเดียที่มหาวิทยาลัยมาลายาเล่าว่า ความแตกต่างระหว่างมหาวิทยาลัยนี้ กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติคือ มหาวิทยาลัยมาลายาตั้งโดยอังกฤษตั้งแต่ปี 1905 เดิมอยู่ในสิงคโปร์ แล้วมาตั้งที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อแยกประเทศกันหลังทศวรรษ 1940 นอกจากนั้น ความเป็นมรดกอาณานิคมคือการคงชื่อ Malaya ไว้ 

ส่วนมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ตั้งขึ้นหลังเกิดประเทศมาเลเซีย คือหลังยุคอาณานิคมแล้วหลายปี มหาวิทยาลัยแห่งชาติทำในสิ่งที่มหาวิทยาลัยมาลายาคิดว่าทำไม่ได้ คือเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษามาเลย์เป็นแห่งแรก แต่มหาวิทยาลัยมาลายาประกาศว่า หากมีคนในชั้นเรียนแม้แต่คนเดียวที่พูดภาษามาเลย์ไม่ได้ ก็ต้องจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 

ที่น่าสนใจคือ มหาวิทยาลัยมาลายามีพิพิธภัณฑ์ถึง 7 แห่งด้วยกัน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม หลังจบการสัมมนาวิชาการที่โรงแรมแห่งหนึ่ง มหาวิทยาลัยมาลายาซึ่งเป็นผู้จัด ก็ได้จัดให้ไปชมมหาวิทยาลัยด้วยการนำชมพิพิธภัณฑ์ 2 จาก 7 แห่งนั้น เพียงแค่นี้ผมก็นึกไม่ออกว่า หากพาใครมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นนที่รักของผม จะพาเขาไปดูพิพิธภัณฑ์อะไร ก็พอมีนั่นแหละ แต่ก็ยังมีไม่น่าสนใจพอ 

แห่งแรกที่เขาพาไปคือ Museum of Asian Arts มี 3 ชั้น ชั้นแรกแสดงผลงานชั่วคราวของศิลปินอาชีพ ที่นี่เป็นแกลอรี่ด้วย ขายงานศิลปะที่จัดแสดงที่นี่ด้วย ผลงานที่นำมาแสดงไม่มากชิ้น เพราะสถานที่เล็ก แต่ก็เป็นผลงานของศิลปินระดับชาติ มีชื่อเสียง ขายผลงานได้เป็นล้านริงกิต (1 ริงกิตเท่ากับราวๆ 10 บาท) 

ส่วนชั้นสองกับชั้นสามเป็นคอลเล็คชั่นเครื่องเคลือบดินเผาหรือเซรามิก ของเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมยืนตะลึกงันอยู่หน้าชุดเซรามิกจากสมัยสุโขทัย ที่เป็นรูปช้าง ทั้งเศียรเดียวและสามเศียร มีคนนั่งบนช้าง แต่งตัวเป็นช้างศึก มีกองทหารคุ้มกันช้างทั้งสี่ขาด้วย ในของสะสมชุดเดียวกันนี้ยังมีช่อฟ้าหัวนาคเซรามิกจากสมัยเดียวกันด้วย เขาลงศักราชไว้ว่าคศ.ที่ 14 

ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าได้ของพวกนี้มาอย่างไร เขาตอบว่า เคยมีอาจารย์จากประเทศไทยมาประจำที่นี่ แล้วบริจาคของสะสมส่วนตัวของท่านไว้ที่นี่ ด้วยความรู้และประสบการณ์อันจำกัดเกี่ยวกับเครื่องเคลือบของผม บอกได้เลยว่าผมไม่เคยเห็นของพวกนี้ในสภาพสมบูรณ์มากเท่านี้มาก่อน และดูเหมือนที่นี่จะรู้ดีถึงค่าของมัน จึงนำเอาของชุดนี้มาอวดเป็นของชุดพิเศษเลยทีเดียว นอกจากนั้นสำหรับของไทยเอง ที่นี่ยังมีเครื่องเคลือบที่เป็นจาน ชาม ถ้วยจากไทยสมัยสุโขทัยที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์อีกเป็นสิบๆ ชิ้น 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มักไม่เปิดให้เข้าชม เพราะเขาใช้สำหรับการเรียนการสอนเป็นหลักถัดไป ผู้จัดพาขึ้นรถวนไปชมนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับป่าดิบชื้น สถานที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของ "สวนป่า" ของมหาวิทยาลัย อาจารย์เฟอร์นานโด รอสซา นักวิจัยจากโปรตุเกสที่มาสอนมานุษยวิทยาประจำอยู่ที่นี่เล่าว่า เดิมมหาวิทยาลัยเป็นสวนปาร์มขนาดใหญ่ของพวกอังกฤษ สวนปาล์มเหล่านั้นเคยมีป่าอยู่แทรกอยู่ด้วย 

เมื่อตั้งมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งของสวนปาล์มยังอยู่ ส่วนที่เป็นป่าก็ยังคงเป็นป่า มหาวิทยาลัยได้เก็บพื้นที่เหล่านั้นไว้เป็นตัวอย่างสำหรับการศึกษา ที่จัดแสดงแห่งนี้ก็จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับป่าร้อนชื่ออย่างละเอียด เสียดายที่วันนี้มืดแล้ว ก็เลยไม่ได้มีโอกาสเดินเข้าไปในป่าของมหาวิทยาลัย ที่ว่ากันว่ายังมีสัตว์ผ่าที่สืบเผ่าพันธ์ุมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม 

โดยรวมแล้ว มหาวิทยาลัยมาลายาน่าอยู่ มีเนินมากมายยิ่งทำให้สวยงามร่มรื่น คนหนึ่งในแขกซึ่งมาจากเยอรมนีเปรยว่า "นักเรียนที่นี่น่าอิจฉามาก" อีกคนหนึ่งซึ่งมาจากแอฟริกาพูดขึ้นบ้างว่า "พวกนักศึกษาเขาจะรู้หรือเปล่าว่า สภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ตอนนี้มันดีมาก" 

มหาวิทยาลัยไทย ไม่ต้องมีสวนป่าที่มีลิง มีสัตว์ป่าให้ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ขอเพียงแต่ผู้บริหารทำในสิ่งที่ควรทำ มากกว่าไปเที่ยวเป็นที่ปรึกษาอย่างเลือกข้างตรงข้ามกับประชาธิปไตย ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยยกระดับคนเองขึ้นมาบ้างได้มากแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร