Skip to main content

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว

มหาวิทยาลัยมาลายาเป็นมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยไทยหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแห่งที่ผมทำงานอยู่ ควรจะแวะเวียนกันมาดูแล้วดูเล่า ดูให้เข้าใจแล้วลอกเลียนแบบเขาไปบ้างว่า ทำไมเขาจึงทำมหาวิทยาลัยแบบนี้ขึ้นมาได้ แล้วอย่าได้อ้างเด็ดขาดว่า "ก็เพราะฝรั่งตั้งขึ้นไง ก็เพราะมาเลเซียเคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษไง" เพราะพูดแบบนั้นนอกจากจะไม่รู้เรื่องอาณานิคมแล้ว ยังดูถูกตนเองว่า ขนาดไม่ได้ถูกครอบครองโดยใคร แถมส่งคนไปเรียนจากเจ้าอาณานิคมมากมาย แต่เมื่อกลับมาบ้าน แต่ละคนกลายเป็นบิดานั่นบิดานี่ ก็เป็นโดยไม่ได้ทิ้งอะไร สร้างอะไรดีๆ เอาไว้บ้างเลย 

อาจารย์สุมิต แมนเดล คนมาเลย์เชื้อสายอินเดียที่มหาวิทยาลัยมาลายาเล่าว่า ความแตกต่างระหว่างมหาวิทยาลัยนี้ กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติคือ มหาวิทยาลัยมาลายาตั้งโดยอังกฤษตั้งแต่ปี 1905 เดิมอยู่ในสิงคโปร์ แล้วมาตั้งที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อแยกประเทศกันหลังทศวรรษ 1940 นอกจากนั้น ความเป็นมรดกอาณานิคมคือการคงชื่อ Malaya ไว้ 

ส่วนมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ตั้งขึ้นหลังเกิดประเทศมาเลเซีย คือหลังยุคอาณานิคมแล้วหลายปี มหาวิทยาลัยแห่งชาติทำในสิ่งที่มหาวิทยาลัยมาลายาคิดว่าทำไม่ได้ คือเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษามาเลย์เป็นแห่งแรก แต่มหาวิทยาลัยมาลายาประกาศว่า หากมีคนในชั้นเรียนแม้แต่คนเดียวที่พูดภาษามาเลย์ไม่ได้ ก็ต้องจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 

ที่น่าสนใจคือ มหาวิทยาลัยมาลายามีพิพิธภัณฑ์ถึง 7 แห่งด้วยกัน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม หลังจบการสัมมนาวิชาการที่โรงแรมแห่งหนึ่ง มหาวิทยาลัยมาลายาซึ่งเป็นผู้จัด ก็ได้จัดให้ไปชมมหาวิทยาลัยด้วยการนำชมพิพิธภัณฑ์ 2 จาก 7 แห่งนั้น เพียงแค่นี้ผมก็นึกไม่ออกว่า หากพาใครมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นนที่รักของผม จะพาเขาไปดูพิพิธภัณฑ์อะไร ก็พอมีนั่นแหละ แต่ก็ยังมีไม่น่าสนใจพอ 

แห่งแรกที่เขาพาไปคือ Museum of Asian Arts มี 3 ชั้น ชั้นแรกแสดงผลงานชั่วคราวของศิลปินอาชีพ ที่นี่เป็นแกลอรี่ด้วย ขายงานศิลปะที่จัดแสดงที่นี่ด้วย ผลงานที่นำมาแสดงไม่มากชิ้น เพราะสถานที่เล็ก แต่ก็เป็นผลงานของศิลปินระดับชาติ มีชื่อเสียง ขายผลงานได้เป็นล้านริงกิต (1 ริงกิตเท่ากับราวๆ 10 บาท) 

ส่วนชั้นสองกับชั้นสามเป็นคอลเล็คชั่นเครื่องเคลือบดินเผาหรือเซรามิก ของเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมยืนตะลึกงันอยู่หน้าชุดเซรามิกจากสมัยสุโขทัย ที่เป็นรูปช้าง ทั้งเศียรเดียวและสามเศียร มีคนนั่งบนช้าง แต่งตัวเป็นช้างศึก มีกองทหารคุ้มกันช้างทั้งสี่ขาด้วย ในของสะสมชุดเดียวกันนี้ยังมีช่อฟ้าหัวนาคเซรามิกจากสมัยเดียวกันด้วย เขาลงศักราชไว้ว่าคศ.ที่ 14 

ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าได้ของพวกนี้มาอย่างไร เขาตอบว่า เคยมีอาจารย์จากประเทศไทยมาประจำที่นี่ แล้วบริจาคของสะสมส่วนตัวของท่านไว้ที่นี่ ด้วยความรู้และประสบการณ์อันจำกัดเกี่ยวกับเครื่องเคลือบของผม บอกได้เลยว่าผมไม่เคยเห็นของพวกนี้ในสภาพสมบูรณ์มากเท่านี้มาก่อน และดูเหมือนที่นี่จะรู้ดีถึงค่าของมัน จึงนำเอาของชุดนี้มาอวดเป็นของชุดพิเศษเลยทีเดียว นอกจากนั้นสำหรับของไทยเอง ที่นี่ยังมีเครื่องเคลือบที่เป็นจาน ชาม ถ้วยจากไทยสมัยสุโขทัยที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์อีกเป็นสิบๆ ชิ้น 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มักไม่เปิดให้เข้าชม เพราะเขาใช้สำหรับการเรียนการสอนเป็นหลักถัดไป ผู้จัดพาขึ้นรถวนไปชมนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับป่าดิบชื้น สถานที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของ "สวนป่า" ของมหาวิทยาลัย อาจารย์เฟอร์นานโด รอสซา นักวิจัยจากโปรตุเกสที่มาสอนมานุษยวิทยาประจำอยู่ที่นี่เล่าว่า เดิมมหาวิทยาลัยเป็นสวนปาร์มขนาดใหญ่ของพวกอังกฤษ สวนปาล์มเหล่านั้นเคยมีป่าอยู่แทรกอยู่ด้วย 

เมื่อตั้งมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งของสวนปาล์มยังอยู่ ส่วนที่เป็นป่าก็ยังคงเป็นป่า มหาวิทยาลัยได้เก็บพื้นที่เหล่านั้นไว้เป็นตัวอย่างสำหรับการศึกษา ที่จัดแสดงแห่งนี้ก็จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับป่าร้อนชื่ออย่างละเอียด เสียดายที่วันนี้มืดแล้ว ก็เลยไม่ได้มีโอกาสเดินเข้าไปในป่าของมหาวิทยาลัย ที่ว่ากันว่ายังมีสัตว์ผ่าที่สืบเผ่าพันธ์ุมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม 

โดยรวมแล้ว มหาวิทยาลัยมาลายาน่าอยู่ มีเนินมากมายยิ่งทำให้สวยงามร่มรื่น คนหนึ่งในแขกซึ่งมาจากเยอรมนีเปรยว่า "นักเรียนที่นี่น่าอิจฉามาก" อีกคนหนึ่งซึ่งมาจากแอฟริกาพูดขึ้นบ้างว่า "พวกนักศึกษาเขาจะรู้หรือเปล่าว่า สภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ตอนนี้มันดีมาก" 

มหาวิทยาลัยไทย ไม่ต้องมีสวนป่าที่มีลิง มีสัตว์ป่าให้ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ขอเพียงแต่ผู้บริหารทำในสิ่งที่ควรทำ มากกว่าไปเที่ยวเป็นที่ปรึกษาอย่างเลือกข้างตรงข้ามกับประชาธิปไตย ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยยกระดับคนเองขึ้นมาบ้างได้มากแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก