Skip to main content

หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 

ผมไม่ค่อยชอบการอธิบายความขัดแย้งในประเทศไทยขณะนี้ด้วยคำอธิบายแบบ "อำมาตย์-ไพร่" เท่าไรนัก เพราะมันห้วนและสรุปในเชิงชนชั้นสูง-ชนชั้นต่ำมากเกินไป แต่ก็เอาล่ะ หลายคนคงทราบว่าอุปลักษณ์นี้มันถูกอุปโลกน์กันขึ้นมาเพื่อให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางอำนาจมากกว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และถูกใช้อธิบายความเชื่อมโยงกันของเครือข่ายทางการเมืองมากกว่าจะอธิบายเชิงชนชั้น ส่วนหนึ่งมันก็จึงใช้ได้เข้าใจอะไร ใช้บอกเล่าอะไรเร็วๆ ได้อยู่ ก็จึงจะลองใช้คำว่า "เครือข่ายอำมาตย์" มาอธิบายอะไรในแวดวงวิชาการบ้าง

ผมอยากให้ลองนึกดูบนฐานของความเคลื่อนไหวในแวดวงวิชาการขณะนี้ว่า หาก "เครือข่ายอำมาตย์" ชนะในเวทีการเมือง แวดวงวิชาการจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ผลกระทบสำคัญประการแรกคือ การเข้ามายึดกุมอำนาจในการบริหารงานวิชาการ คณะผู้บริหารจะอยู่ในมือของกลุ่มบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายอำมาตย์แทบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญๆ เช่น คณบดี อธิการบดี คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยต่างๆ ตลอดจนคณะกรรมการบริหารสถาบันเหล่านี้ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในมหาวิทยาลัย แต่ยังมีในกระทรวง ในสำนักงานที่ตั้งขึ้นมาพิเศษเพื่อดำเนินการวิจัย และในองค์การมหาชนต่างๆ ที่มีงบประมาณและอำนาจการบริหารงานมากมายและเป็นอิสระกว่ามหาวิทยาลัย

คนเหล่านี้ควบคุมตั้งแต่หลักสูตรการศึกษา เนื้อหาของรายวิชาการที่จัดการเรียนการสอน การรับบุคคลากร ไปจนกระทั่งการไหลเวียนของเงินทุนวิจัย ประเด็นของการศึกษาวิจัย หรือแม้กระทั่งหัวข้อวิทยานิพนธ์ บางคนอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมใครจะมาควบคุมหัวข้อวิทยานิพนธ์เราได้ ก็แน่ล่ะหากคุณไม่ต้องการเงินทุนของพวกเขา คุณก็ไม่ต้องพึ่งอำนาจเขา ไม่ต้องอยู่ใต้การกำกับของเขา แต่ชีวิตคุณก็จะต้องลำบากมากกว่าคนที่ทำยอมทำตามหัวข้อครึๆ แต่ตอบโจทย์ชาวอำมาตย์ได้ดี

อันที่จริงความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นแล้วในสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ หากแต่เชื่อได้ว่า สถาณการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงเมื่อฝ่ายอำมาตย์ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจครั้งนี้

ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งนั้น คณะผู้บริหารได้สร้างเครือข่ายให้คณบดีและผู้อำนวยการสถาบันจำนวนหนึ่ง เป็นคนในเครือข่ายเดียวกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย พวกเขาย่อมสนองตอบหรือดำเนินนโยบายไปในทำนองเดียวกันกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ดี ในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย ผมยังไม่ได้ยินว่ามีใครสามารถสั่งให้อาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงทำตามโดยไม่มีการโต้แย้งได้ง่ายๆ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่นัก

ข้อนี้ต่างกับในสถาบันทางวิชาการอีกแห่งหนึ่ง ที่ผมทราบมาว่ามีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ เพื่อจะให้องค์กรเดินไปในทางที่ "อนุรักษ์นิยม" ปรับตัวให้รับใช้เครือข่ายอำมาตย์มากยิ่งขึ้น ความจริงหากใครติดตามการดำเนินงานของสถาบันวิชาการบางแห่งก็คงจะพอเดาได้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นที่นั่น

อันที่จริงมีความพยายามจากรัฐบาลไทยสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการผลักดันให้วงการ "ไทยศึกษา" ที่เรียกได้ว่าก้าวหน้าที่สุดในแวดวงสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ข้อนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุหลายประการ เอาไว้มีเวลาจะมาเขียนเรื่องนี้ใหม่ว่าทำไมแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ไทยจึงต่างกับที่อื่นในภูมิภาคทางก้าวหน้ากว่า แต่เชื่อว่าหลายคนก็คงทราบดีกันอยู่แล้ว) ให้กลายเป็นสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์เพื่อการประชาสัมพันธ์สิ่งดีๆ ในประเทศไทย

ความพยายามที่ว่านี้นำมาซึ่งการเดินทางของคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งใน "เครือข่ายอำมาตย์" เพื่อออกไปหว่านล้อมให้มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับ Ivy League ในสหรัฐอเมริกา (ที่จริงรวมทั้งในออสเตรเลียด้วย) ทำโครงการไทยศึกษาที่ลดการวิจารณ์สถาบันประเพณีของไทย รวมทั้งตัดทุนสนุบสนุนมหาวิทยาลัยที่มีบุคคลากรที่ช่างวิพากษ์สังคมไทย แล้วผันเงินนั้นไปให้สถาบันที่โด่งดังมีชื่อเสียงแต่อนุรักษ์นิยม ในการเดินทางครั้งนั้น น่าสมเพชที่บางมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาไม่เล่นด้วย ก็เลียเสียหน้ากลับกันมาเล็กน้อย แต่ก็ไม่น่าประหลาดใจนักที่บางมหาวิทยาลัยงับเงินอันน้อยนิดแต่มีเส้นสายแน่นหนานั้นไป

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในสถาบันที่ให้ทุนการวิจัยและทุนในการจัดสัมมนาทางวิชาการก็คือการจัดให้ "บรรดาผู้ชรา" กลับเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารสถาบันวิชาการสำคัญๆ ในประเทศไทย การนี้ทำให้บรรดาศาสตราจารย์ที่เขียนหนังสือปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งเล่ม ต้องกระเด็นออกจากตำแหน่งในคณะกรรมการบริหาร แล้วรับเอากลุ่มคนที่ แม้แต่นักวิชาอาวุโสในปัจจุบันยังเรียกคนเหล่านั้นว่า "คนแก่ๆ" กลับเข้ามาบริหาร ผลที่เกิดขึ้นแล้วคือประเด็นวิจัย เงินทุนวิจัย รวมทั้งเงินสนับสนุนการจัดงานประชุมทางวิชาการ ถูกใช้ไปในทิศทางที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบนี้มาร่วม 20 ปีแล้ว ลองคิดดูเอาแล้วกันว่ามันจะถดถอยกันไปได้อีกถึงเพียงไหน

เขียนไปเขียนมาชักจะเป็น Hi S หรือ "ซ้อเจ็ด" ในวงวิชาการเข้าไปทุกที เอาเป็นว่า ดูๆ กันไปแล้วกันว่า แวดวงวิชาการในประเทศนี้จะเป็นอย่างไรหากฝ่ายอำมาตย์กลับมาครองอำนาจอีกครั้ง แต่เชื่อแน่ว่า หากเครือข่ายอำมาตย์ชนะ เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในแวดวงสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ไทย ไปในทิศทางที่สวนกับพัฒนาการของโลกวิชาการสากลอย่างแน่นอน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี