Skip to main content
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น

 
อันที่จริงข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรใหม่ เพียงแต่เลี่ยงบาลี เปลี่ยนจากการเรียกนายกฯ คนกลาง ไปเป็นรองนายกฯ คนกลาง จะเรียกว่านายกฯ หรือรองนายกฯ หรือรักษาการนายกฯ ก็นับว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาลทั้งสิ้น ที่สำคัญคือ แล้วเขาจะมาทำอะไร ทำไมจะต้องมีรัฐบาลอยู่ต่อไป จะปฏิรูปอะไรในเมื่อสภาก็ไม่มีแล้ว จะเอาเทคโนแครทอะไรมาจากอำนาจไหน จะต่างอะไรกับที่ กปปส. และพรรคพวกเรียกว่า “สภาประชาชน” หรือเผลอๆ เรียกสภาประชาชนโดยพยายามดึงคนจากกลุ่มต่างๆ มาร่วมก็จะยังน่าฟังเสียกว่า
 
แล้วทำไมประชาชนจะต้องยอมรับรัฐบาลประหลาดนี้ ทำไมผมจะต้องยอมรับด้วยล่ะ ประชาชนอย่างผมมีสิทธิไหมที่จะบอกว่าไม่เอาคนนั้นคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีชั่วคราว พวกเขามีความชอบธรรมอะไรมาให้ประชาชนอย่างผมยอมรับ แค่ไม่เข้าข้างใครสม่ำเสมอ ไม่ด่างพร้อย บริหารเก่งน่ะเหรอ แค่นี้ก็มีคุณสมบัติที่ไม่เป็นกลางแล้ว เพราะไม่จำเป็นว่าคุณสมบัติเหล่านี้จะอยู่ในใจคนทุกคน ผมจะเลือกหัวหน้ารัฐบาลที่หล่อพูดเก่งแต่บริหารไม่เอาไหนไม่ได้เหรอ ผมจะเลือกคนที่มีความคิดความอ่านก้าวหน้าแต่อาจโกงบ้างไม่ได้เหรอ ผมจะเลือกคนสวยดูไม่ฉลาดแต่ตั้งใจทำงานไม่ได้เหรอ ผมเลือกเองไม่ได้เหรอ
 
ข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษากลุ่มนี้เองก็จึงไม่เป็นกลาง ระหว่างการเลือกตั้งกับการแต่งตั้ง ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ จะมีอะไรกลางได้อย่างไร แล้วทำไมจึงต้องเลี่ยงไม่ยอมรับการเลือกตั้งแต่ต้น หากเห็นว่าเรายังไม่ควรเดินหน้าเลือกตั้ง นักวิชาการกลุ่มนี้ควรชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งขณะมีปัญหาอย่างไร ควรเถียงกับงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ระบบการเลือกตั้งของไทยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดไม่มีปัญหา แต่ผู้จัดการเลือกตั้งคือ กกต. และกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงขัดขวางการเลือกตั้งต่างหากที่เป็นปัญหา การซื้อเสียงก็มีส่วนน้อยต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง อีกทั้งการซื้อเสียง-ขายเสียงก็ซับซ้อนและไม่อาจชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้ ประเด็นเหล่านี้มีงานวิจัยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีข้อถกเถียงมาหักล้าง แล้วจะให้ปฏิรูปอะไร 
 
แต่หากนักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้เห็นด้วยกับการเลือกตั้งก็ควรสนับสนุนให้ชัดเจน ไม่ใช่มาบ่ายเบี่ยงหาทางออกอื่นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำไมนักวิชาการกลุ่มนี้จึงออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จะซื้อเวลาไปทำไม ทำไมให้รีบๆ เลือกตั้ง จะได้มีรัฐบาลใหม่ที่ชอบธรรม จะได้เป็นการปฏิรูปที่ชอบธรรม ทำไมไม่เรียกร้องให้เลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูป ผมไม่เชื่อว่าพวกท่านเองก็มีวาระซ่อนเร้นอยากจะเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งกับเขาด้วย เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่สนับสนุนให้สังคมเดินหน้าไปอย่างปกติ
 
ในทางกลับกัน หากท่านเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป จะทำให้พวกท่านกลายเป็นคนไม่กลางหรืออย่างไร แล้วใครที่สนับสนุนการเลือกตั้งมีแต่ฝ่ายเพื่อไทยกับ นปช. หรืออย่างไร คนกลาง คนที่สนับสนุนพรรคอื่นๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการเลือกตั้งไม่มีหรือ การเลือกตั้งไม่เป็นกลางอย่างไร เพราะในท้ายที่สุด ในข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษา พวกท่านก็ต้องการให้มีการลงประชามติ ให้เลือกตั้ง แล้วทำไมจะต้องรอด้วยล่ะ ทำไมต้องยอมหักกฎเกณฑ์เพื่อเอาใจคนส่วนน้อยและย่ิงน้อยลงไปทุกวันจนแทบจะเหลือไม่กี่คนแล้วด้วยล่ะ หรือพวกเขาเหลือน้อยเกินไปก็จึงต้องมาหนุนกันหน่อย
 
ทำไมเราต้องระดมสรรพปัญญามาแก้ปัญหาคนดื้อที่เอาแต่ใจตัวเองไม่ยอมรับกฎกติกาล่ะ ทำไมเราจึงไม่ระดมสรรพปัญญาเพื่อพยายามทำให้สาธารณชนเห็นว่า การเดินบนเส้นทางของกฎกติกานั้นสำคัญอย่างไรล่ะ ทำไมเราจะต้องคิดหาหนทางออกจากเส้นทางปกติจนกระทั่งอาจนำเราไปสู่หุบเหวล่ะ ทำไมเราต้องเอาใจใส่กับคนที่ไม่มีความรับผิดชอบทางการเมือง คนเสื่อมศีลธรรม คนไม่เคารพกฎหมาย ที่มาเรียกร้องการปฏิรูปล่ะ ทำไมเราไม่เห็นใจคนที่เขาไม่มีหนทางใดที่จะส่งเสียงนอกจากการใช้สิทธิในคูหาเลือกตั้งบ้างล่ะ
 
ประชาธิปไตยไทยออกนอกเส้นทางมากี่ครั้งแล้ว แต่ละครั้งกว่าจะกลับเข้ามาได้เราต้องเสียเลือดเนื้อไปเท่าไหร่ นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้ย่อมทราบและชอกช้ำมามากกว่าผม นักวิชาการรับผิดชอบต่อข้อเสนอของได้เพียงการเอาปี๊บปิดหน้า หรือปีนหายกลับเข้าไปบนหอคอยงาช้าง กอดทุนวิจัยก้อนใหญ่และรางวัลทางวิชาการมากมาย แล้วสักพักก็ลงมาโลดแล่นเสนอทางออกให้สังคมได้ใหม่ แต่ประชาชนนั้นต้องรับผิดชอบกับทางเลือกทางการเมืองด้วยเลือดเนื้อและความบอบช้ำของจิตวิญญาณพวกเขา
 
*http://www.isranews.org/isra-news/item/29371-รักษาการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลาง-แต่ไม่ได้มาด้วย-มาตรา-7.html#.U3HijTGr8Hs.twitter

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"