Skip to main content
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น

 
อันที่จริงข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรใหม่ เพียงแต่เลี่ยงบาลี เปลี่ยนจากการเรียกนายกฯ คนกลาง ไปเป็นรองนายกฯ คนกลาง จะเรียกว่านายกฯ หรือรองนายกฯ หรือรักษาการนายกฯ ก็นับว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาลทั้งสิ้น ที่สำคัญคือ แล้วเขาจะมาทำอะไร ทำไมจะต้องมีรัฐบาลอยู่ต่อไป จะปฏิรูปอะไรในเมื่อสภาก็ไม่มีแล้ว จะเอาเทคโนแครทอะไรมาจากอำนาจไหน จะต่างอะไรกับที่ กปปส. และพรรคพวกเรียกว่า “สภาประชาชน” หรือเผลอๆ เรียกสภาประชาชนโดยพยายามดึงคนจากกลุ่มต่างๆ มาร่วมก็จะยังน่าฟังเสียกว่า
 
แล้วทำไมประชาชนจะต้องยอมรับรัฐบาลประหลาดนี้ ทำไมผมจะต้องยอมรับด้วยล่ะ ประชาชนอย่างผมมีสิทธิไหมที่จะบอกว่าไม่เอาคนนั้นคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีชั่วคราว พวกเขามีความชอบธรรมอะไรมาให้ประชาชนอย่างผมยอมรับ แค่ไม่เข้าข้างใครสม่ำเสมอ ไม่ด่างพร้อย บริหารเก่งน่ะเหรอ แค่นี้ก็มีคุณสมบัติที่ไม่เป็นกลางแล้ว เพราะไม่จำเป็นว่าคุณสมบัติเหล่านี้จะอยู่ในใจคนทุกคน ผมจะเลือกหัวหน้ารัฐบาลที่หล่อพูดเก่งแต่บริหารไม่เอาไหนไม่ได้เหรอ ผมจะเลือกคนที่มีความคิดความอ่านก้าวหน้าแต่อาจโกงบ้างไม่ได้เหรอ ผมจะเลือกคนสวยดูไม่ฉลาดแต่ตั้งใจทำงานไม่ได้เหรอ ผมเลือกเองไม่ได้เหรอ
 
ข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษากลุ่มนี้เองก็จึงไม่เป็นกลาง ระหว่างการเลือกตั้งกับการแต่งตั้ง ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ จะมีอะไรกลางได้อย่างไร แล้วทำไมจึงต้องเลี่ยงไม่ยอมรับการเลือกตั้งแต่ต้น หากเห็นว่าเรายังไม่ควรเดินหน้าเลือกตั้ง นักวิชาการกลุ่มนี้ควรชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งขณะมีปัญหาอย่างไร ควรเถียงกับงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ระบบการเลือกตั้งของไทยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดไม่มีปัญหา แต่ผู้จัดการเลือกตั้งคือ กกต. และกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงขัดขวางการเลือกตั้งต่างหากที่เป็นปัญหา การซื้อเสียงก็มีส่วนน้อยต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง อีกทั้งการซื้อเสียง-ขายเสียงก็ซับซ้อนและไม่อาจชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้ ประเด็นเหล่านี้มีงานวิจัยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีข้อถกเถียงมาหักล้าง แล้วจะให้ปฏิรูปอะไร 
 
แต่หากนักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้เห็นด้วยกับการเลือกตั้งก็ควรสนับสนุนให้ชัดเจน ไม่ใช่มาบ่ายเบี่ยงหาทางออกอื่นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำไมนักวิชาการกลุ่มนี้จึงออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จะซื้อเวลาไปทำไม ทำไมให้รีบๆ เลือกตั้ง จะได้มีรัฐบาลใหม่ที่ชอบธรรม จะได้เป็นการปฏิรูปที่ชอบธรรม ทำไมไม่เรียกร้องให้เลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูป ผมไม่เชื่อว่าพวกท่านเองก็มีวาระซ่อนเร้นอยากจะเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งกับเขาด้วย เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่สนับสนุนให้สังคมเดินหน้าไปอย่างปกติ
 
ในทางกลับกัน หากท่านเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป จะทำให้พวกท่านกลายเป็นคนไม่กลางหรืออย่างไร แล้วใครที่สนับสนุนการเลือกตั้งมีแต่ฝ่ายเพื่อไทยกับ นปช. หรืออย่างไร คนกลาง คนที่สนับสนุนพรรคอื่นๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการเลือกตั้งไม่มีหรือ การเลือกตั้งไม่เป็นกลางอย่างไร เพราะในท้ายที่สุด ในข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษา พวกท่านก็ต้องการให้มีการลงประชามติ ให้เลือกตั้ง แล้วทำไมจะต้องรอด้วยล่ะ ทำไมต้องยอมหักกฎเกณฑ์เพื่อเอาใจคนส่วนน้อยและย่ิงน้อยลงไปทุกวันจนแทบจะเหลือไม่กี่คนแล้วด้วยล่ะ หรือพวกเขาเหลือน้อยเกินไปก็จึงต้องมาหนุนกันหน่อย
 
ทำไมเราต้องระดมสรรพปัญญามาแก้ปัญหาคนดื้อที่เอาแต่ใจตัวเองไม่ยอมรับกฎกติกาล่ะ ทำไมเราจึงไม่ระดมสรรพปัญญาเพื่อพยายามทำให้สาธารณชนเห็นว่า การเดินบนเส้นทางของกฎกติกานั้นสำคัญอย่างไรล่ะ ทำไมเราจะต้องคิดหาหนทางออกจากเส้นทางปกติจนกระทั่งอาจนำเราไปสู่หุบเหวล่ะ ทำไมเราต้องเอาใจใส่กับคนที่ไม่มีความรับผิดชอบทางการเมือง คนเสื่อมศีลธรรม คนไม่เคารพกฎหมาย ที่มาเรียกร้องการปฏิรูปล่ะ ทำไมเราไม่เห็นใจคนที่เขาไม่มีหนทางใดที่จะส่งเสียงนอกจากการใช้สิทธิในคูหาเลือกตั้งบ้างล่ะ
 
ประชาธิปไตยไทยออกนอกเส้นทางมากี่ครั้งแล้ว แต่ละครั้งกว่าจะกลับเข้ามาได้เราต้องเสียเลือดเนื้อไปเท่าไหร่ นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้ย่อมทราบและชอกช้ำมามากกว่าผม นักวิชาการรับผิดชอบต่อข้อเสนอของได้เพียงการเอาปี๊บปิดหน้า หรือปีนหายกลับเข้าไปบนหอคอยงาช้าง กอดทุนวิจัยก้อนใหญ่และรางวัลทางวิชาการมากมาย แล้วสักพักก็ลงมาโลดแล่นเสนอทางออกให้สังคมได้ใหม่ แต่ประชาชนนั้นต้องรับผิดชอบกับทางเลือกทางการเมืองด้วยเลือดเนื้อและความบอบช้ำของจิตวิญญาณพวกเขา
 
*http://www.isranews.org/isra-news/item/29371-รักษาการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลาง-แต่ไม่ได้มาด้วย-มาตรา-7.html#.U3HijTGr8Hs.twitter

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร