Skip to main content
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น

 
อันที่จริงข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรใหม่ เพียงแต่เลี่ยงบาลี เปลี่ยนจากการเรียกนายกฯ คนกลาง ไปเป็นรองนายกฯ คนกลาง จะเรียกว่านายกฯ หรือรองนายกฯ หรือรักษาการนายกฯ ก็นับว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาลทั้งสิ้น ที่สำคัญคือ แล้วเขาจะมาทำอะไร ทำไมจะต้องมีรัฐบาลอยู่ต่อไป จะปฏิรูปอะไรในเมื่อสภาก็ไม่มีแล้ว จะเอาเทคโนแครทอะไรมาจากอำนาจไหน จะต่างอะไรกับที่ กปปส. และพรรคพวกเรียกว่า “สภาประชาชน” หรือเผลอๆ เรียกสภาประชาชนโดยพยายามดึงคนจากกลุ่มต่างๆ มาร่วมก็จะยังน่าฟังเสียกว่า
 
แล้วทำไมประชาชนจะต้องยอมรับรัฐบาลประหลาดนี้ ทำไมผมจะต้องยอมรับด้วยล่ะ ประชาชนอย่างผมมีสิทธิไหมที่จะบอกว่าไม่เอาคนนั้นคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีชั่วคราว พวกเขามีความชอบธรรมอะไรมาให้ประชาชนอย่างผมยอมรับ แค่ไม่เข้าข้างใครสม่ำเสมอ ไม่ด่างพร้อย บริหารเก่งน่ะเหรอ แค่นี้ก็มีคุณสมบัติที่ไม่เป็นกลางแล้ว เพราะไม่จำเป็นว่าคุณสมบัติเหล่านี้จะอยู่ในใจคนทุกคน ผมจะเลือกหัวหน้ารัฐบาลที่หล่อพูดเก่งแต่บริหารไม่เอาไหนไม่ได้เหรอ ผมจะเลือกคนที่มีความคิดความอ่านก้าวหน้าแต่อาจโกงบ้างไม่ได้เหรอ ผมจะเลือกคนสวยดูไม่ฉลาดแต่ตั้งใจทำงานไม่ได้เหรอ ผมเลือกเองไม่ได้เหรอ
 
ข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษากลุ่มนี้เองก็จึงไม่เป็นกลาง ระหว่างการเลือกตั้งกับการแต่งตั้ง ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ จะมีอะไรกลางได้อย่างไร แล้วทำไมจึงต้องเลี่ยงไม่ยอมรับการเลือกตั้งแต่ต้น หากเห็นว่าเรายังไม่ควรเดินหน้าเลือกตั้ง นักวิชาการกลุ่มนี้ควรชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งขณะมีปัญหาอย่างไร ควรเถียงกับงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ระบบการเลือกตั้งของไทยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดไม่มีปัญหา แต่ผู้จัดการเลือกตั้งคือ กกต. และกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงขัดขวางการเลือกตั้งต่างหากที่เป็นปัญหา การซื้อเสียงก็มีส่วนน้อยต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง อีกทั้งการซื้อเสียง-ขายเสียงก็ซับซ้อนและไม่อาจชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้ ประเด็นเหล่านี้มีงานวิจัยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีข้อถกเถียงมาหักล้าง แล้วจะให้ปฏิรูปอะไร 
 
แต่หากนักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้เห็นด้วยกับการเลือกตั้งก็ควรสนับสนุนให้ชัดเจน ไม่ใช่มาบ่ายเบี่ยงหาทางออกอื่นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำไมนักวิชาการกลุ่มนี้จึงออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จะซื้อเวลาไปทำไม ทำไมให้รีบๆ เลือกตั้ง จะได้มีรัฐบาลใหม่ที่ชอบธรรม จะได้เป็นการปฏิรูปที่ชอบธรรม ทำไมไม่เรียกร้องให้เลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูป ผมไม่เชื่อว่าพวกท่านเองก็มีวาระซ่อนเร้นอยากจะเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งกับเขาด้วย เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่สนับสนุนให้สังคมเดินหน้าไปอย่างปกติ
 
ในทางกลับกัน หากท่านเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป จะทำให้พวกท่านกลายเป็นคนไม่กลางหรืออย่างไร แล้วใครที่สนับสนุนการเลือกตั้งมีแต่ฝ่ายเพื่อไทยกับ นปช. หรืออย่างไร คนกลาง คนที่สนับสนุนพรรคอื่นๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการเลือกตั้งไม่มีหรือ การเลือกตั้งไม่เป็นกลางอย่างไร เพราะในท้ายที่สุด ในข้อเสนอของนักวิชาการสันติศึกษา พวกท่านก็ต้องการให้มีการลงประชามติ ให้เลือกตั้ง แล้วทำไมจะต้องรอด้วยล่ะ ทำไมต้องยอมหักกฎเกณฑ์เพื่อเอาใจคนส่วนน้อยและย่ิงน้อยลงไปทุกวันจนแทบจะเหลือไม่กี่คนแล้วด้วยล่ะ หรือพวกเขาเหลือน้อยเกินไปก็จึงต้องมาหนุนกันหน่อย
 
ทำไมเราต้องระดมสรรพปัญญามาแก้ปัญหาคนดื้อที่เอาแต่ใจตัวเองไม่ยอมรับกฎกติกาล่ะ ทำไมเราจึงไม่ระดมสรรพปัญญาเพื่อพยายามทำให้สาธารณชนเห็นว่า การเดินบนเส้นทางของกฎกติกานั้นสำคัญอย่างไรล่ะ ทำไมเราจะต้องคิดหาหนทางออกจากเส้นทางปกติจนกระทั่งอาจนำเราไปสู่หุบเหวล่ะ ทำไมเราต้องเอาใจใส่กับคนที่ไม่มีความรับผิดชอบทางการเมือง คนเสื่อมศีลธรรม คนไม่เคารพกฎหมาย ที่มาเรียกร้องการปฏิรูปล่ะ ทำไมเราไม่เห็นใจคนที่เขาไม่มีหนทางใดที่จะส่งเสียงนอกจากการใช้สิทธิในคูหาเลือกตั้งบ้างล่ะ
 
ประชาธิปไตยไทยออกนอกเส้นทางมากี่ครั้งแล้ว แต่ละครั้งกว่าจะกลับเข้ามาได้เราต้องเสียเลือดเนื้อไปเท่าไหร่ นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้ย่อมทราบและชอกช้ำมามากกว่าผม นักวิชาการรับผิดชอบต่อข้อเสนอของได้เพียงการเอาปี๊บปิดหน้า หรือปีนหายกลับเข้าไปบนหอคอยงาช้าง กอดทุนวิจัยก้อนใหญ่และรางวัลทางวิชาการมากมาย แล้วสักพักก็ลงมาโลดแล่นเสนอทางออกให้สังคมได้ใหม่ แต่ประชาชนนั้นต้องรับผิดชอบกับทางเลือกทางการเมืองด้วยเลือดเนื้อและความบอบช้ำของจิตวิญญาณพวกเขา
 
*http://www.isranews.org/isra-news/item/29371-รักษาการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลาง-แต่ไม่ได้มาด้วย-มาตรา-7.html#.U3HijTGr8Hs.twitter

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"