Skip to main content


"Quân đội nhân dân” (กวนโด่ยเยินเซิน) ภาษาเวียดนาม แปลตามตัวว่า “กองทัพประชาชน” ผมคิดว่าน่าจะหมายความได้ทั้งว่ากองทัพเป็นของประชาชน และการที่กองทัพก็คือประชาชนและประชาชนก็คือกองทัพ

นี่ชวนให้ผมลองนั่งนึกเปรียบเทียบกองทัพของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดู แล้วก็คิดเรื่อยเปื่อยไปว่า จะสรุปได้หรือไม่ว่า หากจะมีกองทัพของประเทศไหนที่เรียกตนเองว่าเป็น “กองทัพประชาชน" ได้อย่างเต็มปากเต็มคำล่ะก็ เห็นจะมีก็แต่กองทัพเวียดนามนั่นแหละที่พอจะคุยได้

การเกิดของรัฐสมัยใหม่ในเอเขียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนจำเป็นต้องมีทหารเป็นกำลังสำคัญ หากแต่กองทัพในแต่ละประเทศมีบทบาทเคียงข้างประชาชนหรือไม่ แตกต่างกันไป

หลังศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา การสงครามมีบทบาทน้อยกว่าการค้าทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จวบจนกระทั่งมีอำนาจอาณานิคมตะวันตกนั่นแหละ ที่จะมีการสงครามกันจริงจังอีกครั้งหนึ่ง หากจับประเด็นตามแอนโทนี รีดไม่ผิด (Anthony Ried. Southeast Asia in the Age of Commerce, 1988) การสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในภาคพื้นทวีปนั้น มีไปเพื่อการเสริมสร้างกำลังคน

ที่รบกันอย่างเอาเป็นเอาตายกันไปข้างหนึ่งแบบในภาพยนตร์ไทยย้อนยุคน่ะ เขาไม่ทำกันหรอก เพราะจะเสียโอกาสที่จะได้กวาดต้อนกำลังทหารของอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นแรงงาน มาเป็นไพร่ในสังกัดของตน ในแง่นี้ ตรรกของการยุทธหัตถีก็คือการที่มีเพียงผู้นำเท่านั้นที่จะมีเอาเป็นเอาตายกัน แต่ไพร่พลน่ะ ยืนดูแล้วรอว่าใครชนะก็ไปอยู่กับฝ่ายนั้น

แต่หลังจากศตวรรษที่ 18 กำลังการผลิตที่สำคัญได้รับการชดเชยไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการอพยพของแรงงานชาวจีน ปรกอบกับเกิดการขยายตัวของการค้าทั้งระหว่างยุโรป เอเชียตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกไกล เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้โลกทั้งใบมุ่งค้าขายมากกว่าทำสงคราม ระยะนั้นบทบาททหารในภูมิภาคนี้ก็ลดน้อยลงไปด้วย

ในยุคอาณานิตมตะวันตกในศตวรรษที่ 19 กองทัพของเจ้าอาณานิคมและเจ้าศักดินาที่ร่วมมือกับชาติตะวันตกย่อมมีบทบาทหลักในการควบคุมประชาชนใต้อาณานิคม เช่น กองทัพฝรั่งเศสนำกำลังค่อยๆ คืบคลานยึดอำนาจเริ่มตั้งแต่ยึดไซ่ง่อน เว้ จรดฮานอยและหมดทั้งเวียดนามเหนือใข้เวลาถึงร่วม 30 ปี (1860-1890) ถ้าอยากรู้ว่ากองทัพดัชจัดการกับเจ้าครองนครต่างๆ อย่างไรในปลายศตวรรษที่ 19 ก็ลองอ่านฉากที่เจ้าครองนครเดินดาหน้าเข้าไปให้ทหารดัชฆ่าตายในบาหลีที่บรรยายโดยนักมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างคลิฟเฟิร์ด เกีร์ยซดู (Clifford Geertz. Theartre State, 1980)

ส่วนสยามประเทศนั้น แม้จะถือว่า "ไม่เป็นอาณานิคมของใคร" แต่หากใครยืนอยู่ในฐานะเจ้าครองนครและประชาชนของเมืองแพร่ เมืองเชียงใหม่ ที่ไหนก็ตามในอีสาน และรัฐปาตานี ซึ่งเคยมีอำนาจเป็นเอกเทศจากสยาม ก็จะเห็นว่ากองทัพสยามเป็นเครื่องมือของขนขั้นนำสยามในการสร้างอำนาจรวมศูนย์ที่แปลงคนอื่นให้กลายเป็นไทย การปราบกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏผีบุญต่างๆ ในอีสาน การผนวกปาตานีมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามเพื่อสถาปนารัฐสมัยใหม่ขึ้นเหนือดินแดนที่ไม่เคยเป็นประเทศไทยอย่างทุกวันนี้มาก่อน (อ่าน ธงชัย วินิจจะกูล. กำเนิดสยามจากแผนที่, 2557)

ที่กองทัพสยามจะได้สู้กับอาณานิคมตะวันตกจริงๆ น่ะ มีไม่กี่ครั้งและทุกครั้งก็แพ้ราบคาบไป แม้แต่การไป “ปราบฮ่อ” ก็ไม่ได้ไปปราบจริง เพราะกว่าจะรวบรวมกำลังเดินทางไปถึงที่นั่น  ฝรั่งเศสก็ปราบฮ่อเสียราบคาบไปก่อนหน้าเป็นปีแล้ว มิพักต้องกล่าวว่าทหารหาญที่ถูกเกณฑ์ไปนั้นเป็นเหล่าไพร่-ทาสที่ล้มตายกลางทางเสียมากกว่าเจ็บตายจากการสู้รบ หากแต่กระบวนการสร้างรัฐรวมศูนย์และทำให้ทุกคนกลายเป็นไทยยังไม่จบสิ้น จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่จบ ทหารกับการสร้างความเป็นไทยจึงอยู่ยงคงต่อมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มสร้างชาติไทยในปลายคริสตศตวรรษที่ 19

สิ่งนี้ทำให้กองทัพไทยแตกต่างจากกองทัพประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่กองทัพประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกับประขาชนในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมเป็นสำคัญ นับตั้งแต่อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม สงครามปลดปล่อยประชาชน เพื่อสร้างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือสงครามที่ประชาชนและทหารหรือจะกล่าวให้ถูกคือ การที่ประชาชนกลายเป็นทหาร ร่วมมือกันเพื่อปลดปล่อยตนเองจากอำนาจการปกครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตก ทว่า ประสบการณ์นี้ไม่มีในประเทศไทย ประเทศไทยจึงไม่มีความรักชาติในความหมายของการปลดปล่อยตนเองออกจากตะวันตก ไม่มีตะวันตกเป็นศัตรูอย่างเป็นรูปธรรมที่ทุกคนล้วนมีส่วนร่วมแบบเดียวกับที่ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้เขามีกัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้กองทัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้มแข็งอย่างอินโดนีเซียและพม่า แตกต่างจากกองทัพเวียดนามคือ หลังการปลดปล่อยจากอาณานิคมตะวันตก กองทัพอินโดนีเซียและพม่าหักหลังประชาขน นี่รวมทั้งกองทัพฟิลิปปินส์ ที่ไม่น้อยหน้ากองทัพอินโดนีเซียและกองทัพไทย ที่ร่วมมือใกล้ชิดกัยสหรัฐอเมริกาในการปราบปรามประชาขนของตนเองที่เป็น "คอมมิวนิสต์" กองทัพพม่าต่างออกไปตรงที่กองทัพหักหลังชนกลุ่มต่างๆ ยึดอำนาจการปกครองแล้วสร้างรัฐรวมศูนย์ด้วยอำนาจเผด็จการทหารจวบจนทุกวันนี้ กองทัพของหลายๆ ประเทศจึงกลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน การจะหากองทัพที่เป็นกองทัพประชาชนนั้น ยากเต็มที

กองทัพเวียดนามนั้นแตกต่างออกไป หลังทศวรรษ 1940s-1950s เมื่อชนะฝรั่งเศสแล้ว กองทัพเวียดนามเหนือทำสงครามต่อสู้กับกองทัพเวียดนามใต้ที่อเมริกันหนุนหลัง ต่างฝ่ายต่างอาศัยพลเรือนเป็นกำลังสำคัญทั้งในแง่ของกำลังแรงงาน กำลังรบ และการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ กองทัพต้องทำให้ตนเองใกล้ชิดเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน และทำให้กองกำลังของอีกฝ่ายกลายเป็นศัตรู แน่นอนว่าเมื่อฝ่ายหนึ่งแพ้ คือฝ่ายเวียดนามใต้ ประชาชนของฝ่ายนั้นย่อมไม่อาจยอมรับว่ากองทัพเวียดนามเหนือเป็นกองทัพประชาชนได้ หากแต่สำหรับเวียดนามเหนือ กองทัพยังคงเป็นของประชาชน คือประชาชนฝ่ายตนที่ชนะ

กระนั้นก็ตาม ในระยะหลัง ก็เริ่มมีปัญญาชนในฝ่ายของเวียดนามเหนือเองเป็นจำนวนมากตั้งคำถามกับกองทัพและการนำประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ นักเขียนเหล่านี้จำนวนมากประสบชะตากรรมแตกต่างกันไป บางคนถูกจองจำในบ้านตนเอง งานของบางคนกลายเป็น “ความลับของทางการ” ที่หากเล็ดรอดออกไปพิมพ์ในต่างประเทศก็จะกลายเป็นการขายความลับของทางราชการ งานของบางคนต้องเขียนเป็นสัญลักษณ์ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนกระทั่งประชาชนทั่วไปอ่านไม่เข้าใจว่ากำลังวิจารณ์อะไร

ปัจจุบันในระยะที่ความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลและสมาชิกระดับสูงบางคนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามถดถอยลง กองทัพเวียดนามก็ยังคงความเชื่อถือจากประชาชนเอาไว้ได้ เนื่องจากกองทัพหลีกเลี่ยงการปะทะกับประชาชน ด้วยการที่ให้ตำรวจทำหน้าที่ปราบปรามภัยความมั่นคงต่างๆ ในประเทศ เช่น การชุมนุมประท้วงรัฐ หรือการท้าทายอำนาจรัฐแบบอื่นๆ กองทัพจะไม่มายุ่งกับกิจการเหล่านี้ กองทัพทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยเป็นหลักอย่างเดียว กองทัพเวียดนามจึงยังคงบทบาท “กองทัพประชาชน” ไว้ได้ค่อนข้างเหนียวแน่น และเป้นเกราะปกป้องระบอบปัจจุบันเอาไว้ได้อีกทีหนึ่ง

ส่วนกองทัพไทยปัจจุบันเป็นอย่างไรน่ะ อย่าไปกล่าวถึงท่านเลย เพราะท่านกำลังคืนความสุขให้ประชาชนอยู่

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้