Skip to main content
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 

 
หากเป็นข้าราชการที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งก็ว่าไปอย่าง แต่กับปัจเจกชนมากมาย ทั้งผู้บริการธุรกิจและผู้บริหารองค์การมหาชนหลายคนที่มีประวัติการศึกษาที่โดดเด่น มีประสบการณ์การบริหารองค์กรขนาดใหญ่มายาวนาน และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างสูง ผมไม่เข้าใจว่าพวกเขาใช้หลักการอะไรในการตัดสินใจร่วมงานกับคณะรัฐประหาร
 
บุคคลเหล่านี้อาจกล่าวอ้างว่าตนเองหวังดีต่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งนั่นก็อาจจะจริง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะหนีพ้นจากคำถามทางการเมืองที่สาธารณชนจะมีต่อพวกเขาได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่อยากตอบ แต่ในใจผู้รักความเป็นธรรม ในใจผู้รักประชาธิปไตย ก็อดไม่ได้ที่จะมีคำถามถึงพวกเขาดังต่อไปนี้
 
ประการแรก พวกเขาไม่ได้ใส่ใจเลยหรือว่าระบอบที่พวกเขาเข้าไปทำงานด้วยนี้ กำลังละเมิดชีวิตความเป็นอยู่อันปกติสุขของใครต่อใครเต็มไปหมด ส่วนใหญ่ในคนที่ถูกคุกคามเหล่านั้นยังเป็นคนที่ด้อยอำนาจ เป็นคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียง ไม่มีหน้าตาในสังคม จึงถูกกระทำฝ่ายเดียวด้วยอย่างไม่ยุติธรรม ส่วนใหญ่ในคนเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหาร ไม่เหมือนพวกเขา 
 
มากไปกว่านั้น พวกเขาคงไม่ใส่ใจว่า อำนาจที่รับรองการทำงานของพวกเขานี้ มีส่วนสำคัญในการละเมิดชีวิตผู้คนมาก่อนหน้านี้ขนาดไหน พวกเขาไม่รับรู้เลยหรือว่ากำลังร่วมมืออยู่กับกลุ่มผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ทำให้มีพลเรือนเสียขีวิตกว่าร้อยคน บาดเจ็บอีกนับพัน และยังมีผู้ต้องขังโดยไม่มีความผิดอีกจำนวนมาก
 
ถ้าพวกเขาไม่จะสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ไม่สนใจเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพ พวกเขาจะไม่สนใจเรื่องมนุษยธรรมเลยใช่หรือไม่ พวกเขารู้ใช่ไหมว่า พวกเขากำลังออกแบบความใฝ่ฝันของชาติในสภาพการณ์ที่ไร้รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยสิ้นเชิง คนฉลาด ๆ อย่างพวกเขาเชื่อมโยงไม่ได้หรือว่า ความใฝ่ฝันอันงดงามของพวกเขาไม่สามารถเกิดขึ้นมาในยุคสมัยที่ไม่มีหลักประกันในสิทธิมนุษยชนอย่างในปัจจุบันนี้ 
 
ประการที่สอง พวกเขาไม่เชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุลของอำนาจใช่หรือไม่ พวกเขาจึงเข้ามาทำงานในตำแหน่งใหญ่โตในขณะที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดปกป้องคุ้มครองพวกเขาอยู่ข้างหลัง พวกเขาคงเห็นว่า การออกแบบทิศทางของประเทศภายใต้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลแบบปกตินั้น ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้คิด ได้ฝัน ได้ทำได้ดั่งใจ 
 
ขณะที่ในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ความใฝ่ฝันอันดีงามของพวกเขาจะต้องเผชิญกับการวิจารณ์ การตรวจสอบ การไต่สวนจากสาธารณชนอย่างกว้างขวางหนักหน่วง จะต้องถูกตรวจสอบจากผู้แทนราษฎร จากสื่อมวลชน จากประชาชนมากมาย 
 
หากแต่ในระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ พวกเขาไม่ต้องตอบคำถามใคร ไม่ต้องเผชิญกับการซักไซ้ไล่เรียงจากใคร ถ้าอย่างนั้นแล้ว อะไรคือหลักธรรมาภิบาลของการบริหารงานที่พวกเขายึดมั่น ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อคนในเครื่องแบบเท่านั้นหรือ สังคมจะเชื่อมั่นในกลุ่มคนที่เชื่อถือเฉพาะเครื่องแบบกับอำนาจเบ็ดเสร็จเท่านั้นได้หรือ
 
ประการที่สาม พวกเขามองเห็นหรือไม่ว่า ต้นตอของปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันมาจากไหน ความขัดแย้งขณะนี้มาจากการไม่ยอมรับความเท่าเทียมกันของอำนาจ หาใช่ว่าจะมาจากความเลวร้ายของนักการเมืองเพียงเท่านั้น หาใช่ว่าจะมาจากความวุ่นวายชั่วหกเดือนที่สร้างขึ้นโดยนักการเมืองที่สนับสนุนการรัฐประหารเท่านั้น
 
งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่มีชนชั้นกลางหน้าใหม่มากขึ้น คนเหล่านี้ตระหนักในสิทธิเสรีภาพของตนเองมากขึ้น ระบบการเมืองเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายมากขึ้น ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยมีอำนาจอยู่เดิม โดยเฉพาะชนขั้นนำเก่าและชนขั้นกลางเก่า ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้ จึงพยายามร่วมมือกันขัดขวางโค่นล้มกลุ่มอำนาจใหม่มาตลอดเกือบสิบปีนี้
 
ความขัดแย้งในปัจจุบันจึงกว้างขวาง ลึกซึ้ง และมีพวกเขาเองร่วมอยู่ในความขัดแย้ง มีส่วนได้ส่วนเสียกับความขัดแย้งนี้ด้วย หากพวกเขายอมรับแต่อำนาจของคนฝ่ายเดียว คือฝ่ายพวกเขา แต่ไม่ยอมรับอำนาจของคนส่วนใหญ่ คนฉลาด ๆ อย่างพวกเขาคิดไม่ได้หรือว่าการเข้ามารับตำแหน่งของพวกเขาจะยิ่งมีส่วนตอกย้ำความแตกร้าวในสังคมนี้มากยิ่งขึ้น หาใช่ว่าจะช่วยเยียวยาได้ดังที่พวกเขาใฝ่ฝัน
 
ประการที่สี่ พวกเขาไม่เห็นว่าคนเท่ากัน พวกเขาเห็นว่าพวกเขาคือคนพิเศษ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอภิชน ที่มีความสามารถเหนือบุคคลทั่วไป และจึงไม่เห็นว่าคนอื่นๆ ก็มีความสามารถไม่น้อยไปกว่าพวกเขาในการบริหารประเทศ พวกเขาไม่เห็นหัวชาวบ้าน อย่างนั้นหรือ พวกเขาไม่ต้องการให้โอกาสคนทั่วไปได้มีส่วนกำหนดชะตาชีวิตของตนเองอย่างนั้นหรือ 
 
ที่สำคัญคือ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความสามารถมากเหนือคนทั่วไปเป็นอภิมุนษย์อย่างไร หากไม่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปรับรู้ ตรวจสอบ มีส่วนร่วม พวกเขาจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าพวกเขาเข้าใจความต้องการของประชาชนทั้งประเทศได้ดีทั้งหมด พวกเขาไม่คิดหรือว่าพวกเขาอาจตัดสินใจและวางแผนนโยบายประเทศบนฐานของอคติส่วนตน บนฐานของความต้องการส่วนตน ในกรอบของประโยชน์ส่วนตนเพียงเท่านั้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่ปรารถนาเช่นนั้นก็ตาม แต่เพราะเขาไม่มีทางล่วงรู้ใจคนได้ทั่วประเทศ พวกเขาก็จะทำได้เฉพาะในกรอบความเข้าใจแคบๆ ของตนหรือไม่
 
สังคมไทยได้เปลี่ยนมาสู่ยุคที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมกำหนดชีวิตตนเองได้มากขึ้น ทั้งจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับประเทศ จากการได้รับการคุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ผู้ที่เข้าร่วมกับคณะรัฐประหารต้องการย้อนเวลากลับไปในยุคก่อนหน้าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่ประเทศนี้ยังมีเพียงคนหยิบมือเดียวอย่างพวกเขาเท่านั้นที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของคนในชาติได้อย่างนั้นหรือ
 
สุดท้าย ทั้งหมดนั้นชวนให้ต้องตั้งคำถามว่า พวกเขาเลื่อมใสในระบอบอำนาจนิยม พวกเขาไม่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย พวกเขาเป็นนักบริหารที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยอำนาจพิเศษมาอำนวยอวยทางให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถโดยไม่แยแสต่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม หลักมนุษยธรรมใดๆ หรือไม่
 
แต่หากพวกเขาไม่ได้คิดอย่างว่า อย่างแย่ที่สุดก็แสดงว่าพวกเขาเห็นแก่ตัว คิดถึงพวกพ้องตนเอง คิดถึงความมั่นคงของอาชีพการงานธุรกิจของตนเองเป็นหลัก หรืออย่างเลวน้อยกว่านั้น พวกเขาก็ฝักใฝ่ในอำนาจ กระสันที่จะเข้าสู่เวทีอำนาจเพื่อที่จะได้นำความเห็นตนเองไปปฏิบัติอย่างไม่ใยดีต่อปัญหาขัดแย้งร้าวลึกของสังคม 
 
แต่หากพวกเขายอมรับมาตามตรงซื่อ ๆ ว่า ที่เข้าร่วมก็ด้วยเพราะยำเกรงต่อกำลังคุกคามสวัสดิภาพส่วนตนแล้วล่ะก็ สังคมก็ยังอาจเข้าใจว่าพวกเขาไม่ได้เลือกทางเดินนี้เอง และยังอาจให้อภัยตามสมควรแก่หลักมนุษยธรรมได้บ้าง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"