Skip to main content
 
 
เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 

 
แต่แล้วผมก็ตัดสินใจเข้าสถาบันศิลปะทั้งๆ ที่มีเวลาเพียงอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่งก็จะถึงเวลาปิดแล้ว มีสิ่งเดียวที่ดึงผมเข้าไปได้ในเวลาที่เหลือน้อยนิด นั่นก็คือภาพเรอเน มากริตต์ขนาดมหึมาหน้าสถาบันศิลปะแห่งนี้ 
 
อย่างที่หลายๆ คนทราบดีอยู่แล้วว่า สถาบันศิลปะแห่งนี้มีคอลเล็คชั่นงานศิลปะจำนวนและชิ้นงานสำคัญๆ เทียบกันไม่ได้กับสถาบันศิลปะแห่งอื่นๆ เช่น หากจะเทียบงานศิลปะสมัยใหม่แล้ว ก็เทียบไม่ได้เลยกับ the MoMA ของนิวยอร์ค แต่จากการใช้เวลาโฉบๆ ชมและถ่ายรูปแบบไวๆ ก็พบว่าที่นี่ก็พอจะมีงานชิ้นดังๆ เท่าที่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลป์อันจำกัดของผมจะประเมินได้อยู่นับสิบชิ้น
 
แต่ที่เกินคาดและผมถือว่าคุ้มค่าเป็นส่วนตัวคือการแสดงนิทรรศการพิเศษที่รวมรวมผลงานของมากริตต์น่าจะนับ 100 ชิ้นมาแสดงในช่วงเวลาที่ผมไปเยี่ยมชมพอดี ภาพหลายภาพ ผลงานหลายชิ้น ล้วนผ่านหูผ่านตามาหลายต่อหลายครั้ง หลายคนก็คงเคยเห็นและติดตาติดใจ แต่โอกาสที่จะได้เห็นภาพต้นฉบับอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ คงเป็นไปได้ยากมาก เสียดายที่เขาไม่ให้ถ่ายภาพ
 
ผลงานเท่าที่ผมจดมาตามความประทับใจที่มีอยู่เดิมต่อภาพเหล่านี้ก็ได้แก่ The Lovers ภาพคนคลุมผ้าจูบกัน, This is not a pipe อันโด่งดัง, Threatening Weather เมฆก่อรูปความฝัน, The False Mirror ดวงตาสะท้อนท้องฟ้า, The Human Condition ภาพทิวทัศน์ที่สนิทกับทิวทัศน์, The Rape ที่ผมบันทึกมา, Black Magic ภาพนู๊ดลวงตาที่ไม่ค่อยพูดถึงกันนัก
 
The Red Model ภาพรองเท้ารูปเท้า, The Healer คนใส่หมวกคลุมผ้าตัวเป็นกรงนก, Clairvoyance ศิลปินวาดรูปไข่แต่กลายเป็นนกในผ้าใบ, Time Transfixed รถไฟวิ่งออกมาจากเตาผิงข้างผนัง ที่จริงมีงานอื่นๆ อีกมากมาย แต่ผมเลือกงานเหล่าน้เพราะติดตาประทับใจเองมาเนิ่นนานแล้ว
 
 
เมื่อเทียบกับภาพเขียนพวกเซอร์เรียลคนอื่นๆ ผมชอบมากริตต์ตรงที่การใช้ภาพและสัญลักษณ์ที่ปกติสามัญทั่วไป แถมยังใช้สีเรียบง่าย สดใส และมักใช้เทคนิคการเขียนภาพแบบสมจริง แต่กลับสามารถตั้งคำถามและสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ได้อย่างน่าประหลาด มากริตต์ไม่ค่อยเล่นกับเซ็กซ์และความรุนแรงอย่างตรงไปตรงมาหรือเกรี้ยวกราดมากนัก แต่เขาจะอาศัยรูปสัญลักษณ์ที่ต้องตีความ ที่จริงก็มีบ้างเหมือนกันที่เขาวาดรูปคนกินนกแบบสดๆ เลือดสาด แต่ก็ต้วยโทนสีที่เงียบสงบ ที่จะมียากบ้างก็บรรดาสัญลักษณ์เฉพาะตัวของเขาเองที่กลายเป็น motif เฉพาะตัวของเขา เช่นเมฆ หมวก กระดาษตัด เสาประดับโค้งๆ ดวงตา
 
ในแง่ความคิด ผมชอบงานมากริตต์ตรงที่งานเขาตั้งคำถามกับการถ่ายทอดความจริงทางศิลปะ เช่น การเล่นกับภาพแทนความจริงผ่านการล้อเลียนภาพสามมิติด้วยการทำให้มันสองมิติ การเล่นกับภาพลวงตาที่ประกอบจากมุมมองและการจัดวางภาพ การพิจารณาความซับซ้อนและทับซ้อนกันของอักษร ภาพ และความจริง เช่นภาพอันโด่งดังคือ This is not a pipe. และการท้าทายความเข้าใจแบบปกติสามัญด้วยการนำเอาสัญลักษณ์ที่ไม่เข้ากัน ไม่เป็นระบบต่อเนื่องกัน อยู่กันคนละที่ละทางมาวางไว้ด้วยกันจนเกิดความหมายแปลกใหม่ เกิดความรู้สึกประหลาด
 
ประเด็นเหล่านั้นบอกเล่าอยู่ในนิทรรศการพิเศษนี้อย่างครบครันด้วยคำบรรยายภาพมากมาย จนกระทั่งบางครั้งผมดูไปอ่านไปแล้วรู้สึกว่ามันมากเกินไปด้วยซ้ำ
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มาดูภาพด้วยตาตนเองอย่างใกล้ชิดแล้ว ก็เห็นความพิถีพิถันประณีตบรรจงในการทำงานศิลปะของมากริตต์ ผลงานของมากริตต์ส่วนใหญ่เป็นภาพสีน้ำมัน ขนาดไม่ใหญ่มาก แต่บางภาพก็ใหญ่มาก เมื่อได้ดูภาพใกล้ๆ จนได้เห็นฝีแปรงพู่กัน ได้เห็นการสอดสี ก็ทำให้เข้าใจวิธีการสร้างภาพของมากริตต์ ที่อาศัยเทคนิคแบบภาพสมจริงเป็นหลัก แต่สร้างความไม่สมจริงจากการประกอบภาพ อย่างไรก็ตาม มากริตต์ก็ทดลองสร้างภาพที่สื่อสารกันระหว่างภาพวาดหลายๆ ภาพ ข้ามกรอบรูปด้วยเช่นกัน ผลงานของเขาลางชิ้นจึงไม่ได้เป็นเพียงภาพๆ เดียวโดดๆ แต่ประกอบจากหลายๆ ภาพ
 
นอกจากนั้น การได้มาดูเองยังทำให้ได้เห็นขนาดของภาพ สี และแสง ที่แตกต่างจากที่เคยคิดเคยเห็นหรือไม่มีโอกาสจินตนาการได้ชัดเจนเท่ากับที่เมื่อได้เห็นภาพต้นฉบับ เช่น This is not a pipe. นั้น มีขนาดใหญ่กว่าที่ผมเคยจินตนาการไว้มากนัก นอกจากนั้นงานครั้งนี้ยังรวบรวมเอาภาพถ่ายและภาพพิมพ์จำนวนหนึ่งของมากริตต์มาแสดงด้วย ทำให้ได้เห็นผลงานที่มักไม่ค่อยเห็นกันนักมากขึ้น แต่ที่น่าผิดหวังหน่อยหนึ่งคือ เขาน่าจะนำภาพยนตร์ที่มากริตต์น่าจะมีส่วนร่วมสร้างกับศิลปินคนอื่นๆ มาแสดงบ้าง 
 
ณ ที่ซึ่งเคยเก็บทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์มาก่อนแห่งนี้ ยังมีผลงานศิลปะเอเชีย ศิลปะยุโรป และศิลปะอเมริกันพื้นเมืองอีกมากมายที่ผมยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอในการศึกษา-ชื่นชม แม้จะถูกตราหน้าว่า "ซื้อของโจร" มาก่อนแล้วก็ตาม สถาบันแห่งนี้ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษาเทียบเคียงสุนทรีย์ศาสตร์ทั้งที่หลากหลายและที่เป็นสากลของมนุษยชาติผ่านวัตถุทางศิลปะ ทั้งแก่ชาวเมืองนี้เองและผู้เข้าเยี่ยมชมจากทั่วโลก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง