Skip to main content
 
นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก

 
กลางเมืองชิคาโก ในสวนสหัสวรรษ (Millennium Park) ผมชื่นชมกับการที่เขาดัดแปลงพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะขนาดมหึมา ที่รวมพื้นที่สารพัด ไม่ว่าจะเป็นลานโล่งที่มีเวทีรองรับการจัดงานแสดงหรือผู้คนอาจมานั่งเล่นนอนเล่นวิ่งเล่นหรือกระทั่งจิบเบียร์เย็นๆ ได้ มีสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่และกลมกลืนกับมวลชนหลายชิ้น ที่คนชื่นชอบมากเห็นจะไม่เกินถั่วขนาดยักษ์และน้ำตกหน้าคน มีลำธารให้เด็กวิ่งเล่นน้ำกระจาย ให้คนนั่งหย่อนเอาเท้าแช่น้ำ มีลานแสดงดนตรีวงเล็กๆ แต่ที่ไม่ควรพลาดคือ สวนขนาดใหญ่ที่ให้ภาพดอกหญ้าตัดกับตึกระฟ้าอย่างน่าประทับใจ
 
แต่เหนือจากนั้น ผมโชคดีอย่างยิ่งที่ชาวชิคาโกแนะนำให้รู้จัก Chicago Botanic Garden หรือสวนพฤกษศาสตร์ชิคาโก แม้จะอยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองสัก 20 นาทีได้ แต่สวนแห่งนี้ก็ตั้งชื่อตามชื่อเมือง คงเนื่องจากทุนสนับสนุนมหาศาลที่น่าจะมาจากชิคาโก
 
สวนแห่งนี้มีพื้นที่ใหญ่โตมหึมา เกือบ 1,000 ไร่ มีพืชพันธ์ุต่างๆ มากมายขนาดไหนคงไม่ต้องพูดถึง แต่ที่น่าประทับใจคือ ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ไม่ว่าจะมองมุมไหน ก็ล้วนงดงาม ลงตัว เพียบพร้อมไปด้วยการจัดแต่งจัดวางองค์ประกอบอย่างดีเยี่ยมไปเสียทั้งหมด หากคิดแค่ว่า ลำพังสวนหลังบ้านของใครต่อใครที่ไม่ว่าจะมีพื้นที่เล็กใหญ่ขนาดไหน ที่จะจัดให้ได้งดงามน่าชมไปเสียทุกมุมมองนั่นก็ยากแล้ว สวนที่ใหญ่ขนาดร่วมพันไร่จะจัดการกันอย่างไรก็ยิ่งน่าทึ่งมากเข้าไปอีก
 
แน่นอนว่าความอุตสาหะของการทำสวนแห่งนี้ไม่ได้อยู่เพียงการจัดวาง หากแต่สวนแห่งนี้ยังคัดเลือกพันธ์ุไม้มาแสดงเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนด้วย สวนย่อยสวนหนึ่งในบรรดาเกินสิบสวนที่น่าสนใจคือสวนพันธ์ุไม้พื้นเมือง ทางสวนเลือกไม้ของทวีปอเมริกามาเป็นหลัก ปลูกอัดกันแน่นแต่คละสีสันและรูปทรงของลำต้น ใบไม้ จนทำให้หากจะดูเพื่อความงามก็ได้ หรือจะควานหาความรู้จากป้ายอธิบายพันธ์ุไม้อย่างพินิจพิจารณาก็ได้
 
นอกจากจะจัดระบบตามพันธ์ุพืชเช่นสวนไม้พื้นเมืองที่ว่า และยังมีสวนกุหลาบแล้ว สวนแห่งนี้ยังจัดแบ่งหย่อมๆ ออกตามระบบนิเวศน์ ดังเช่นอีกสวนหนึ่งนี่ผมชอบคือสวนสน ที่เขารวบรวมพันธ์ุสนมากมาย มีกระทั่งสนที่โตเรี่ยดิน กระทั่งสนต้นสูงใหญ่ สนใบสีเหลือง สนใบเขียวอ่อน สนสามใบ ฯลฯ ลำพังต้นสนก็มีมากมายนับไม่ถ้วนแล้ว 
 
สวนที่แสดงความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นอันสะท้อนออกมาจากระบบนิเวศน์เฉพาะของตนของกลางทวีปอเมริกาคือทุ่งแพรรี่ (prarie) เดิมทุ่งแพรรี่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของควายไบสันตัวใหญ่มหีมาแต่ถูกล่าตายด้วยอาวุธปืนไปจำนวนมากในช่วงบุกเบิกตะวันตกของคนขาว ทุ่งแพรรี่มีหญ้าและดอกทานตะวันพื้นเมืองขนาดเล็กๆ ขึ้นอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารสำคัญของชนพื้นเมืองอเมริกันเช่นกัน สิ่งเหล่านี้สูญหายไปเมื่อที่ดินถูกแปลงเป็นที่เพาะปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ
 
 
อีกสวนหนึ่งที่โดดเด่นคือสวนญี่ปุ่น ที่เริ่มปรับความรู้สึกให้ได้เหมือนกับไปญี่ปุ่นตั้งแต่สะพานข้ามน้ำที่เป็นสะพานไม้ดิบๆ แต่นุ่มนวลด้วยรูปทรงและการตกแต่งเรียบง่าย เมื่อข้ามไปจะพบกับต้นสนที่ตัดแต่งแบบญี่ปุ่น แต่ละต้นมีกิ่งไม่มาก เว้นช่วงกิ่งเป็นระยะ ตัดแต่งกิ่งให้มีใบเป็นหย่อมๆ บางต้นมีการดัดลำต้นให้คดงอและเตี้ยม่อต้อ นับเป็นการถ่ายทอดสุนทรีย์ศาสตร์การดัดแปลงธรรมชาติเพื่อชื่นชมธรรมชาติได้อย่างดี นอกจากนั้นยังมีเรือนญี่ปุ่นผนังดินปนไม้ที่มักเห็นตามชนบทในญี่ปุ่น บริเวณบ้านยังจัดสวนญี่ปุ่นขนาดเล็ก ได้บรรยากาศที่จำลองมาจากญี่ปุ่นอย่างประณีต มีแม้แต่มอสที่มักขึ้นในวัง วัด ศาลเจ้า และบ้านเก่าๆ ในชนบทญี่ปุ่น
 
ที่ต้องชื่นชมอีกอย่างคือ สวนแห่งนี้ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อให้ชื่นชมด้วยตาหรือจมูก แต่ยังให้การศึกษาอย่างเข้มข้น ต้นไม้หลากพันธ์ุได้รับการอธิบายด้วยชื่อสารพัดชื่อ และเพราะความซับซ้อนของชื่อต่างๆ เขาจึงทำป้ายอธิบายป้ายอีกว่าแต่ละป้ายนั้นบอกอะไรบ้าง นอกจากนันยังมีป้ายบอกเป็นระยะๆ ว่า พื้นที่บางพื้นที่ หรือต้นไม่บางต้น ได้รับการดูแลเป็นพิเศษเนื่องจากปัญหาอะไร เนื่องจากเขาได้เรียนรู้อะไรและต้องปรับปรุงอะไร ในสวนญี่ปุ่น มีคำอธิบายหลักปรัชญาเบื้องหลังการจัดหิน การดัดต้นสน และการจัดวางสิ่งสิ่งของ เช่น ความหมายของสะพาน ทำให้ทั้งเพลิดเพลินและได้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน
 
ที่น่าผิดหวังอยู่หน่อยตรงที่ไม่ได้เห็นข้าวป่าเมล็ดยาว ไม่ได้เห็นระบบนิเวศน์แบบชื้อแฉะ (wet land) ที่ดูรกร้าง แต่เท่าที่มีนั่นก็มากเกินพอกว่าจะไปเรียกร้องเอาจากสวนแห่งนี้แล้ว ยิ่งเขาไม่เก็บค่าเข้าชม (เก็บแต่ค่ารถ) ด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องขอบคุณเขามากกว่าที่จะไปเรียกร้องอะไรเพิ่มเติมจากเขาอีก
 
หากใครจะไปสวนพฤกษศาสตร์แห่งชิคาโกในฤดูร้อน คนชิคาโกแนะนำว่าให้ไปก่อน 10 โมง จะได้ไม่ลำบากหาที่จอดรถ และจะได้มีมุมถ่ายรูปที่ไม่ติดคนมากนัก ซึ่งก็จริง เพราะดูเหมือนคนชิคาโกจะนิยมไปชมสวนมากกว่าไปเดินห้าง  
 
อันที่จริงกรุงเทพฯไม่ได้ด้อยไปกว่าชิคาโกในแง่ของเศรษฐกิจ แต่คนกรุงเทพฯ น่าสงสารที่ไม่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ให้ผู้คนได้ชื่นชมและหาความรู้ โชคร้ายที่ผู้บริหารเมืองไม่เคยสามารถจัดการอะไรได้ ไร้วาสนาที่มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งจากการให้เช่าที่ดินในกรุงเทพฯกลับไม่ค่อยบริจาคเงินให้สาธารณชน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย