Skip to main content
 
นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก

 
กลางเมืองชิคาโก ในสวนสหัสวรรษ (Millennium Park) ผมชื่นชมกับการที่เขาดัดแปลงพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะขนาดมหึมา ที่รวมพื้นที่สารพัด ไม่ว่าจะเป็นลานโล่งที่มีเวทีรองรับการจัดงานแสดงหรือผู้คนอาจมานั่งเล่นนอนเล่นวิ่งเล่นหรือกระทั่งจิบเบียร์เย็นๆ ได้ มีสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่และกลมกลืนกับมวลชนหลายชิ้น ที่คนชื่นชอบมากเห็นจะไม่เกินถั่วขนาดยักษ์และน้ำตกหน้าคน มีลำธารให้เด็กวิ่งเล่นน้ำกระจาย ให้คนนั่งหย่อนเอาเท้าแช่น้ำ มีลานแสดงดนตรีวงเล็กๆ แต่ที่ไม่ควรพลาดคือ สวนขนาดใหญ่ที่ให้ภาพดอกหญ้าตัดกับตึกระฟ้าอย่างน่าประทับใจ
 
แต่เหนือจากนั้น ผมโชคดีอย่างยิ่งที่ชาวชิคาโกแนะนำให้รู้จัก Chicago Botanic Garden หรือสวนพฤกษศาสตร์ชิคาโก แม้จะอยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองสัก 20 นาทีได้ แต่สวนแห่งนี้ก็ตั้งชื่อตามชื่อเมือง คงเนื่องจากทุนสนับสนุนมหาศาลที่น่าจะมาจากชิคาโก
 
สวนแห่งนี้มีพื้นที่ใหญ่โตมหึมา เกือบ 1,000 ไร่ มีพืชพันธ์ุต่างๆ มากมายขนาดไหนคงไม่ต้องพูดถึง แต่ที่น่าประทับใจคือ ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ไม่ว่าจะมองมุมไหน ก็ล้วนงดงาม ลงตัว เพียบพร้อมไปด้วยการจัดแต่งจัดวางองค์ประกอบอย่างดีเยี่ยมไปเสียทั้งหมด หากคิดแค่ว่า ลำพังสวนหลังบ้านของใครต่อใครที่ไม่ว่าจะมีพื้นที่เล็กใหญ่ขนาดไหน ที่จะจัดให้ได้งดงามน่าชมไปเสียทุกมุมมองนั่นก็ยากแล้ว สวนที่ใหญ่ขนาดร่วมพันไร่จะจัดการกันอย่างไรก็ยิ่งน่าทึ่งมากเข้าไปอีก
 
แน่นอนว่าความอุตสาหะของการทำสวนแห่งนี้ไม่ได้อยู่เพียงการจัดวาง หากแต่สวนแห่งนี้ยังคัดเลือกพันธ์ุไม้มาแสดงเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนด้วย สวนย่อยสวนหนึ่งในบรรดาเกินสิบสวนที่น่าสนใจคือสวนพันธ์ุไม้พื้นเมือง ทางสวนเลือกไม้ของทวีปอเมริกามาเป็นหลัก ปลูกอัดกันแน่นแต่คละสีสันและรูปทรงของลำต้น ใบไม้ จนทำให้หากจะดูเพื่อความงามก็ได้ หรือจะควานหาความรู้จากป้ายอธิบายพันธ์ุไม้อย่างพินิจพิจารณาก็ได้
 
นอกจากจะจัดระบบตามพันธ์ุพืชเช่นสวนไม้พื้นเมืองที่ว่า และยังมีสวนกุหลาบแล้ว สวนแห่งนี้ยังจัดแบ่งหย่อมๆ ออกตามระบบนิเวศน์ ดังเช่นอีกสวนหนึ่งนี่ผมชอบคือสวนสน ที่เขารวบรวมพันธ์ุสนมากมาย มีกระทั่งสนที่โตเรี่ยดิน กระทั่งสนต้นสูงใหญ่ สนใบสีเหลือง สนใบเขียวอ่อน สนสามใบ ฯลฯ ลำพังต้นสนก็มีมากมายนับไม่ถ้วนแล้ว 
 
สวนที่แสดงความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นอันสะท้อนออกมาจากระบบนิเวศน์เฉพาะของตนของกลางทวีปอเมริกาคือทุ่งแพรรี่ (prarie) เดิมทุ่งแพรรี่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของควายไบสันตัวใหญ่มหีมาแต่ถูกล่าตายด้วยอาวุธปืนไปจำนวนมากในช่วงบุกเบิกตะวันตกของคนขาว ทุ่งแพรรี่มีหญ้าและดอกทานตะวันพื้นเมืองขนาดเล็กๆ ขึ้นอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารสำคัญของชนพื้นเมืองอเมริกันเช่นกัน สิ่งเหล่านี้สูญหายไปเมื่อที่ดินถูกแปลงเป็นที่เพาะปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ
 
 
อีกสวนหนึ่งที่โดดเด่นคือสวนญี่ปุ่น ที่เริ่มปรับความรู้สึกให้ได้เหมือนกับไปญี่ปุ่นตั้งแต่สะพานข้ามน้ำที่เป็นสะพานไม้ดิบๆ แต่นุ่มนวลด้วยรูปทรงและการตกแต่งเรียบง่าย เมื่อข้ามไปจะพบกับต้นสนที่ตัดแต่งแบบญี่ปุ่น แต่ละต้นมีกิ่งไม่มาก เว้นช่วงกิ่งเป็นระยะ ตัดแต่งกิ่งให้มีใบเป็นหย่อมๆ บางต้นมีการดัดลำต้นให้คดงอและเตี้ยม่อต้อ นับเป็นการถ่ายทอดสุนทรีย์ศาสตร์การดัดแปลงธรรมชาติเพื่อชื่นชมธรรมชาติได้อย่างดี นอกจากนั้นยังมีเรือนญี่ปุ่นผนังดินปนไม้ที่มักเห็นตามชนบทในญี่ปุ่น บริเวณบ้านยังจัดสวนญี่ปุ่นขนาดเล็ก ได้บรรยากาศที่จำลองมาจากญี่ปุ่นอย่างประณีต มีแม้แต่มอสที่มักขึ้นในวัง วัด ศาลเจ้า และบ้านเก่าๆ ในชนบทญี่ปุ่น
 
ที่ต้องชื่นชมอีกอย่างคือ สวนแห่งนี้ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อให้ชื่นชมด้วยตาหรือจมูก แต่ยังให้การศึกษาอย่างเข้มข้น ต้นไม้หลากพันธ์ุได้รับการอธิบายด้วยชื่อสารพัดชื่อ และเพราะความซับซ้อนของชื่อต่างๆ เขาจึงทำป้ายอธิบายป้ายอีกว่าแต่ละป้ายนั้นบอกอะไรบ้าง นอกจากนันยังมีป้ายบอกเป็นระยะๆ ว่า พื้นที่บางพื้นที่ หรือต้นไม่บางต้น ได้รับการดูแลเป็นพิเศษเนื่องจากปัญหาอะไร เนื่องจากเขาได้เรียนรู้อะไรและต้องปรับปรุงอะไร ในสวนญี่ปุ่น มีคำอธิบายหลักปรัชญาเบื้องหลังการจัดหิน การดัดต้นสน และการจัดวางสิ่งสิ่งของ เช่น ความหมายของสะพาน ทำให้ทั้งเพลิดเพลินและได้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน
 
ที่น่าผิดหวังอยู่หน่อยตรงที่ไม่ได้เห็นข้าวป่าเมล็ดยาว ไม่ได้เห็นระบบนิเวศน์แบบชื้อแฉะ (wet land) ที่ดูรกร้าง แต่เท่าที่มีนั่นก็มากเกินพอกว่าจะไปเรียกร้องเอาจากสวนแห่งนี้แล้ว ยิ่งเขาไม่เก็บค่าเข้าชม (เก็บแต่ค่ารถ) ด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องขอบคุณเขามากกว่าที่จะไปเรียกร้องอะไรเพิ่มเติมจากเขาอีก
 
หากใครจะไปสวนพฤกษศาสตร์แห่งชิคาโกในฤดูร้อน คนชิคาโกแนะนำว่าให้ไปก่อน 10 โมง จะได้ไม่ลำบากหาที่จอดรถ และจะได้มีมุมถ่ายรูปที่ไม่ติดคนมากนัก ซึ่งก็จริง เพราะดูเหมือนคนชิคาโกจะนิยมไปชมสวนมากกว่าไปเดินห้าง  
 
อันที่จริงกรุงเทพฯไม่ได้ด้อยไปกว่าชิคาโกในแง่ของเศรษฐกิจ แต่คนกรุงเทพฯ น่าสงสารที่ไม่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ให้ผู้คนได้ชื่นชมและหาความรู้ โชคร้ายที่ผู้บริหารเมืองไม่เคยสามารถจัดการอะไรได้ ไร้วาสนาที่มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งจากการให้เช่าที่ดินในกรุงเทพฯกลับไม่ค่อยบริจาคเงินให้สาธารณชน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)