Skip to main content
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน

 
 
1. Karl Marx และ Friederich Engels "Manifesto of the Communist Party" (1848) เล่มนี้หลุดลิขสิทธิ์มานานแล้วครับท่านหาอ่านฟรีๆ ได้ไม่ยาก อ่านแล้วจะได้รู้บ้างว่าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างไร สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมเกี่ยวกันอย่างไร ไม่ต้องอ่านตอนท้ายที่แนะนำแนวทางการปฏิวัติก็ได้ เพราะยังไงท่านก็รู้วิธีอยู่แล้ว เพียงแต่ท่านไม่มีบทวิเคราะห์ที่ดี ก็เลยแนะนำบ้างอะไรบ้าง เล่มนี้มีแปลเป็นไทยแล้วนะ หาดูในเน็ตก็แล้วกัน รู้ใช่ไหม
 
   
 
2. และ 3. Anthony Reid "Southeast Asia in the Age of Commerce" (1988) มีสองเล่ม สองเล่มนี้จะช่วยให้ท่านผู้นำเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ไทยเข้ากับประวัติศาสตร์ภูมิภาคอาเซียนและประวัติศาสตร์โลกได้บ้าง เผื่อท่านจะเข้าใจว่า สมัยก่อนเขาไม่ได้รบกันเลือดพุ่งตายเป็นเบือแบบความรู้จากหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวร เพราะเขารบกันเพื่อเอาแรงงาน แถมมีประวัติศาสตร์เรื่องเพศ ที่พวกผู้ชายต้องคอยเอาใจหญิงๆ รวมทั้งประวัติความยิ่งใหญ่ของบ้านเมืองแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมาย รับรองว่าจะทำให้ท่านดูฉลาดหน้าจอไปได้อีกนานเท่านานทีเดียว สองเล่มนี้ก็มีแปลแล้วนะ แต่ต้องหาซื้อนะ ของฟรีไม่มีบ่อยๆ หรอก เข้าใจนะ
 
 
4. Plato "Republic" (380 ปีก่อนคริสตกาล) หนังสือเล่มนี้มีชายคนหนึ่ง ชื่อโสเกรติส เป็นคนช่างสงสัย เที่ยวถามคนเรื่องต่างๆ ที่ใหญ่ๆ โตๆ ทั้งสิ้น ที่จริงเพลโตเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม แต่แนะนำเล่มนี้ก็เพื่อว่าท่านจะได้เอาไว้อวดคนได้ เพราะคนรู้จักเล่มนี้มากหน่อย ที่จริงเพลโตเป็นคนเขียน แต่โสกราตีส ที่ว่ากันว่าเป็นอาจารย์เพลโต เป็นคนเล่าเรื่อง เป็นคนเที่ยวซักคนอื่นๆ อย่างน้อยถ้าท่านอ่าน ก็จะได้อ่านไปคิดตามไป รับรองว่าฉลาดขึ้นภายในชั่วอายุขัยที่เหลืออยู่ของท่านได้แน่นอน เล่มนี้มีแปลมากกว่าหนึ่ง version แล้วนะ เข้าใจนะ (สำนวนแปลล่าสุดของเวทัส โพธารามิก ดาวน์โหลดได้ฟรี)
 
 
5. Milinda Panha (มิลินทปัญหา) (100 ปีก่อนคริสตกาล) เพื่อเอาใจท่าน ขอแนะนำหนังสือที่ชื่อดูไทย แต่ที่จริงเป็นเรื่องที่มีฉากแข้กแขก ชื่อเรื่องก็เป็นภาษาแขกแล้ว แต่ท่านอ่านเถอะ สนุกมาก เป็นการถามตอบระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน ว่ากันว่าพระเจ้ามิลินท์น่าจะมีตัวตนจริงแต่พระนาคเสนน่ะไม่รู้หรอกว่าเป็นใคร แต่ที่มาของหนังสือไม่ทำให้น่าอ่านเท่ากับเรื่องราวที่ท่านทั้งสองถามตอบกันหรอก สนุกและชวนคิดไปอ่านไปไม่แพ้ Republic แน่นอน ที่จริงหากท่านอ่านแค่ 2 เล่มนี้ ก็บันเทิงสมองมากมายแล้ว เล่มนี้น่ะมีภาษาไทยนะ หนาหน่อย แต่อ่านเถอะ จะได้ไม่กลัวการตอบคำถามนักข่าว เข้าใจนะ
 
 
6. ยศ สันตสมบัติ "สืบสายเลือด" (2531) เป็นรวมเรื่องสั้นที่เขียนจากเรื่องราวชีวิตจริงของคนที่ต่างๆ ทั่วโลก จากประสบการณ์ของนักมานุษยวิทยา นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมซื้อแจกเพื่อนๆ ไปทั่ว ท่านผู้นำก็ควรจะได้รับแจกจากผมเช่นกัน แต่แค่แจกชื่อให้ท่าน ท่านก็คงมีปัญญาไปหาซื้อเองได้แหละ หนังสือเล่มนี้อ่านแล้วกินใจ ทำให้การเข้าใจคนในสังคมต่างๆ ไม่แห้งแล้ง ทำให้เห็นมนุษย์หลายมุมมองมากขึ้น ช่วยให้อ่อนโยนต่อทางเลือกในการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ท่านจะได้เข้าใจคำพูดที่ท่านชอบพูดติดปากว่า "เข้าใจใช่ไหม" "เข้าใจนะ" มากขึ้นว่า การเข้าใจนั้น ที่จริงแล้วคืออะไรกันแน่ เข้าใจนะ
 
 
7. Italo Cavino "Difficult Loves" (1970) ที่จริงมีวรรณกรรมหลายเล่มนะที่ท่านอาจชอบ ก็ไม่รู้เหมือนกันทำไมที่เมื่อทำตามกฎที่เขาว่าให้นึกเร็วๆ แล้ว เล่มนี้ขึ้นมาก่อน คงมีอะไรเกี่ยวกับท่านบ้างแหละ เล่มนี้รวมเรื่องสั้นของคู่รักแปลกๆ หลายแบบ ท่านอาจชอบหรือไม่ชอบก็เรื่องของท่าน แต่มันสร้างจินตนาการสมจริงในการดิ่งเข้าไปทำความเข้าใจโลกอันขัดแย้งกันระหว่างชีวิตกับความใคร่ได้พิลึกดี ท่านไม่อ่านก็ไม่เป็นไรนะ แนะนำไว้เผื่อว่าท่านจะสนใจน่ะ เท่าที่รู้เล่มนี้ยังไม่มีแปลนะ ลองพิมพ์เอาคำแปลใน google translate เอาก็แล้วกัน บันเทิงไปอีกแบบนะ
 
 
8. จิตร ภูมิศักดิ์ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และชื่อชนชาติขอม" (2519) ถ้าท่านอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการน่ะ ท่านจะรู้มุมมองด้านเดียว แต่ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ไทยจากมุมมองไม่เป็นทางการน่ะ ท่านจะได้อ่านมากกว่าหนึ่งมุมมองในเล่มเดียวกัน เพราะอะไรน่ะเหรอ ก็เพราะคนที่จะเถียงน่ะ เขาก็จะสรุปทั้งมุมมองที่เขาจะเถียงด้วยและมุมมองของเขาให้ท่านอ่านไง อย่างน้อยท่านจะได้รู้ว่า เมื่อท่านเอาปัญญาชนไปขังน่ะ เขากลับจะทำงานทางปัญญาได้มากกว่าปัญญาชนที่ปรี่เข้าไปรับใช้ท่าน แต่นอกจากนั้น ท่านอาจกลับใจเพราะรู้ขึ้นมาบ้างว่า ความเป็นไทยน่ะ ไม่ได้จำกัดอยู่ในเขตแดนแคบๆ อย่างที่ประวัติศาสตร์ในโรงเรียนทหารท่านสอนหรอกนะ
 
 
9. Nancy Scheper-Hughes "Death Without Weeping: The Violence of Everyday Life in Brazil" (1993) ที่จริงก็ไม่ค่อยอยากแนะนำหนังสือภาษาอังกฤษให้ท่านหลายเล่มหรอกนะ แต่เพราะคิดว่า ท่านคงอ่านภาษาอังกฤษออกน่ะแหละ เล่มนี้หนาหน่อยนะ รวม 600 หน้า ทำไมควรรู้เกี่ยวกับบราซิล (เดิมพิมพ์ผิดเป็นแม็กซิโก) น่ะหรอ ไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่ที่สำคัญคือ คนเราอ่านหนังสือเพื่อเรียนวิธีคิดไปพร้อมๆ กับอ่านเอาเรื่องน่ะ โลกนี้มีการอ่านที่ "อ่านเอาเรื่อง" และ "อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง" น่ะ อ่านแบบหลังนี่รู้จักไหมท่าน หางานของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์มาอ่านแล้วท่านจะรู้ เข้าใจนะ หนังสือของเชฟเปอร์-ฮิวส์น่ะ ช่วยให้เข้าใจว่าทำไมคนจนที่นั่นจึงยอมรับความตายก่อนวัยของเด็กๆ ได้ ทำไมความรักของแม่จึงไม่ใช่สิ่งสากล ทำไมอารมณ์ ฐานะทางเศรษฐกิจ และการกดขี่ในระดับโลกจึงสัมพันธ์กัน 
 
 
10. Eric Williams "Capitalism and Slavery" (1944) ที่จริงหนังสือทำนองนี้มีมากนะท่าน จะให้จัดชุดแนะนำให้ก็ได้ คือแบบที่เกี่ยวกับระบบโลกน่ะ น่าอ่านมากมาย แต่เล่มนี้น่ะประทับใจหลายอย่าง คนเขียนเป็น "คนพื้นเมือง" เอง คือชาวทรินิแดด เขียนถึงบ้านเมืองตัวเองหลังจากไปร่ำเรียนในประเทศเจ้าอาณานิคมของตน แล้วเขียนวิจารณ์เจ้าอาณานิคม ว่าด้วยสามเหลี่ยมการค้าทาส ทำไมคนไทยต้องเข้าใจการค้าทาสน่ะเหรอ น่าจะช่วยให้เข้าใจบ้างนะว่าโลกปัจจุบันน่ะ (ที่จริงเล่มนี้พิมพ์ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดด้วยซ้ำ) ฝรั่งถูกวิจารณ์มากขนาดไหน เสียเครดิตไปมากขนาดไหน แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครเขาจะหันหลังให้แนวคิดก้าวหน้าสากลอย่างประชาธิปไตยหรอกนะ
 
สองเล่มหลังนี่ไม่มีแปลหรอก พยายามหน่อยก็แล้วกันถ้าอยากฉลาดก่อนหมดอายุขัย
 
เอาล่ะนะ จะให้แนะนำหนังสือท่านผู้นำสักร้อยเล่ม ก็จะกินแรงท่านเกินไป พอดีพอร้ายอ่านมากเข้าท่านจะพาลฉลาดเกินผู้นำทหารแล้วกลายมาแย่งอาชีพผมล่ะก็จะแย่เลย อ่านที่คนอื่นแนะนำบ้างสักเล็กน้อย ของผมบ้างสักหน้าสองหน้าจากแต่ละเล่ม ท่านก็มีอะไรมาโม้มากกว่าที่ให้ความบันเทิงประชาชนอยู่ทุกวันนี้แล้วล่ะ เข้าใจนะ
 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"