Skip to main content

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย

วันที่คุยกันเรื่องการวิจัย ผมก็เล่าไปว่าก่อน ระหว่าง และหลังการวิจัยที่เวียดนามผมทำอะไรบ้าง ทำไมไปที่นั่น ไปแล้วอยู่อย่างไร ทำอะไร มีใครช่วยบ้าง แล้วรอดมาได้อย่างไร จนหลังจากนั้นขณะนี้ผมคิดอะไรกับการวิจัยของผม กำลังพัฒนาอะไรอยู่ พูดแบบรวบรัดในเวลาแค่ 1 ชั่วโมงนี่ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ ไม่นับรูปอีกมากมาย ทั้งหมดก็ยังความทรงจำเก่าๆ และความสุขที่ได้พูดถึงงานวิจัยอันบ้าบิ่นที่จนบัดนี้ยังผลิตงานออกมาจากข้อมูลที่เก็บมาได้ไม่หมดสิ้น

หลังการบรรยาย เพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่สองสามคนก็ไปนั่งดื่มกันที่บาร์ของมหา'ลัย ใช่ครับ ที่นี่เขามีความรับผิดชอบกันดีพอที่จะเปิดบาร์กลางมหา'ลัยเลย เป็นของสโมสรนักศึกษาด้วยซ้ำ ต้องอายุถึง 21 ต้องเป็นสมาชิกมหา'ลัย ถึงจะดื่มได้ เครื่องดื่มหลักคือเบียร์ เดี๋ยวนี้มีให้ชิมก่อนสั่ง จิบๆ ชิมสัก 2-3 รสค่อยซื้อก็สุขแล้ว

เราคุยกันหลายเรื่อง ส่วนใหญ่ก็งานของแต่ละคน คนหนึ่งทำวิจัยเรื่องชาวจาม (Cham) ในเวียดนามและกัมพูชา ดูบ้าบิ่นมากกว่าผมหลายเท่านัก เป็นอเมริกัน พูดจาม เวียด ขแมร์ รู้เรื่องความเชื่อมโยงชาวจามกับหมู่เกาะ รู้เรื่องสังคมจามปัจจุบัน ชอบตัวอักษรเหมือนผม อีกคนทำเรื่อง ตชด. ในไทย เป็นคนเกาหลี ไปตระเวนชายแดนมาโชกโชน ศึกษาทั้งประวัติศาสตร์และปัจจุบัน อีกคนเป็นเพื่อนร่วมชั้นตั้งแต่สมัยผมเรียน จนบัดนี้เขายังไม่จบ เป็นอาจารย์สอนกาเมลาน (วงฆ้องวง-ระนาดชวา) อยู่ที่คณะดนตรีวิทยาที่มหา'ลัยวิสคอนซิน กลับจากวิจัย ethnomusicology ในชวามา เราสี่คนนั่งคุยกันไม่จบสักเรื่อง

ปลายสัปดาห์ในปาร์ตี้ของศูนย์ฯ มีคนมากมาย นับได้น่าจะเกิน 30 คน งานจัดที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่งที่ศึกษาประวัติศาสตร์ Cebu ในฟิลิปปินส์ ได้เจอทั้งอาจารย์เก่าๆ ที่คุ้นเคย และนักเรียนใหม่ๆ นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งเอาทุเรียนไปแต่ปอกไม่เป็น ผมเลยช่วยปอก แกะเปลือกออกมาแล้วก็เวียนไปวงแตกไปทุกวงคุย อาหารที่แต่ละคนทำมาก็สุดจะอวดความเป็น Southeast Asianist ของตนเอง ไม่ว่าจะทำโดยมือคนในหรือคนนอกก็ตาม ผมทำ "เหมียนส่าว" ผัดวุ้นเส้นแบบเวียดนามไป งานนี้ดื่มกินกันสำราญพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้กันไป ไม่รู้ว่าใครจะจำเรื่องราวที่คุยกันได้กี่มากน้อย

ผมเองได้คุยแลกเปลี่ยนกับอาจารย์จากเวียดนามที่ได้ทุนมาทั้งศึกษาและเป็นผู้ช่วยสอนที่นี่ เธออายุน้อยมาก (หรือผมอายุมากแล้วนั่นแหละ) มาจากเมืองที่ผมเคยไปทำวิจัยคือเมืองไลอันไกลโพ้น แต่เธอเป็นคนเวียด สอนที่มหา'ลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม น่าสนใจที่ทุนใหม่ๆ เหล่านี้กำลังแทรกเข้าไปดึงเอาคนรุ่นใหม่จากที่ซึ่งเคยปิดกั้นความรู้จากโลกภายนอก สงสัยว่าเมื่อเขาเหล่านี้กลับไปแล้วจะทำอะไรได้มากแค่ไหน หรือจะเปลี่ยนอะไรเธอได้บ้าง

คนรุ่นใหม่อีกคนที่ได่คุยคือนักศึกษาจากไต้หวัน ผมถามเรื่องพิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน ถามเรื่องวัตถุจัดแสดงที่นั่น เธอก็ตอบได้น่าสนใจดี ผมนึกในใจ "ถ้าถามเด็กไทยเรื่องพิพิธภัณฑ์ไทย คงจะได้คำตอบชวนหงุดหงิดใจ" เธอชวนสนทนาเรื่องอนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เธอมาเรียนที่นี่ปีเดียว กำลังค้นหาความสนใจอยู่ ผมบอกไปว่าถามตัวเองว่าอนาคตสัก 5 ปี หรือ 10 ปีอยากทำอะไร อยากอยู่ที่ไหนในโลก ถ้าที่ไต้หวันหรือที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาขานี้จะมีอนาคต แต่ถ้าอยู่ในอเมริกาก็ลำบาก

วันกินชีสจิ้มจุ่ม มีคนไม่กี่คน ก็ล้วนแต่นักอะไรต่างๆ ที่ทำงานวิจัยงานเขียนกันมหาศาล อาจารย์คนหนึ่งเพิ่งจบใหม่ เป็นชาวอิรัก จบจาก SOAS อังกฤษ หลังจากนั่งเงียบมานาน เมื่อคนถามเรื่องอิรัก เขาก็พรั่งพรูเรื่องอิรักอย่างรัวๆ ผมจับใจความได้บ้างไม่ได้บ้างเพราะตามรายละเอียดไม่ทัน แถมฟังสำเนียงอังกฤษไม่ถนัด แต่พอถึงตาตัวเองแลกเปลี่ยนเรื่องไทยบ้าง ก็ทำให้เข้าใจว่า พอลงรายละเอียดเรื่องตัวเอง คนก็คงเข้าใจไม่ได้ง่ายๆ นักเหมือนกัน  

มีตอนหนึ่งที่อาจารย์คนหนึ่งซึ่งทั้งชีวิตสนใจประวัติศาสตร์การเมืองกับการทหารถามว่า ทหารจะมีเวลามาติดตามหรือว่าตอนนี้ใครพูดอะไรทำอะไรอยู่ที่ไหน ผมตอบไปว่า ทหารมีเวลาเยอะ ตอนนี้สนุกใหญ่ที่มีงานทำ เมื่อก่อนไม่มีอะไรทำ ก็คิดดูสิว่าไทยไม่มีสงครามอะไรกับใคร วันๆ ทหารเข้ากรมกองไปทำอะไรล่ะ ตอนนี้สิถึงจะมีงานทำ ทำเอาอาจารย์ท่านนั้นไปไม่ถูกเลย

สังคมวิชาการแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาได้เพราะมีคนใช้ชีวิตด้านการศึกษาเล่าเรียนมาอยู่ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง ตั้งแต่การเดินทางสะดวก ไปจนถึงความเปิดกว้างทางความคิด รวมทั้งพลังงานอันล้นเหลือของแต่ละคนที่จะอยากรู้จักกัน อยากสังสันทน์ประกอบการสนทนาอันเคร่งเครียดกันได้บ่อยๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร