Skip to main content

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย

วันที่คุยกันเรื่องการวิจัย ผมก็เล่าไปว่าก่อน ระหว่าง และหลังการวิจัยที่เวียดนามผมทำอะไรบ้าง ทำไมไปที่นั่น ไปแล้วอยู่อย่างไร ทำอะไร มีใครช่วยบ้าง แล้วรอดมาได้อย่างไร จนหลังจากนั้นขณะนี้ผมคิดอะไรกับการวิจัยของผม กำลังพัฒนาอะไรอยู่ พูดแบบรวบรัดในเวลาแค่ 1 ชั่วโมงนี่ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ ไม่นับรูปอีกมากมาย ทั้งหมดก็ยังความทรงจำเก่าๆ และความสุขที่ได้พูดถึงงานวิจัยอันบ้าบิ่นที่จนบัดนี้ยังผลิตงานออกมาจากข้อมูลที่เก็บมาได้ไม่หมดสิ้น

หลังการบรรยาย เพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่สองสามคนก็ไปนั่งดื่มกันที่บาร์ของมหา'ลัย ใช่ครับ ที่นี่เขามีความรับผิดชอบกันดีพอที่จะเปิดบาร์กลางมหา'ลัยเลย เป็นของสโมสรนักศึกษาด้วยซ้ำ ต้องอายุถึง 21 ต้องเป็นสมาชิกมหา'ลัย ถึงจะดื่มได้ เครื่องดื่มหลักคือเบียร์ เดี๋ยวนี้มีให้ชิมก่อนสั่ง จิบๆ ชิมสัก 2-3 รสค่อยซื้อก็สุขแล้ว

เราคุยกันหลายเรื่อง ส่วนใหญ่ก็งานของแต่ละคน คนหนึ่งทำวิจัยเรื่องชาวจาม (Cham) ในเวียดนามและกัมพูชา ดูบ้าบิ่นมากกว่าผมหลายเท่านัก เป็นอเมริกัน พูดจาม เวียด ขแมร์ รู้เรื่องความเชื่อมโยงชาวจามกับหมู่เกาะ รู้เรื่องสังคมจามปัจจุบัน ชอบตัวอักษรเหมือนผม อีกคนทำเรื่อง ตชด. ในไทย เป็นคนเกาหลี ไปตระเวนชายแดนมาโชกโชน ศึกษาทั้งประวัติศาสตร์และปัจจุบัน อีกคนเป็นเพื่อนร่วมชั้นตั้งแต่สมัยผมเรียน จนบัดนี้เขายังไม่จบ เป็นอาจารย์สอนกาเมลาน (วงฆ้องวง-ระนาดชวา) อยู่ที่คณะดนตรีวิทยาที่มหา'ลัยวิสคอนซิน กลับจากวิจัย ethnomusicology ในชวามา เราสี่คนนั่งคุยกันไม่จบสักเรื่อง

ปลายสัปดาห์ในปาร์ตี้ของศูนย์ฯ มีคนมากมาย นับได้น่าจะเกิน 30 คน งานจัดที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่งที่ศึกษาประวัติศาสตร์ Cebu ในฟิลิปปินส์ ได้เจอทั้งอาจารย์เก่าๆ ที่คุ้นเคย และนักเรียนใหม่ๆ นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งเอาทุเรียนไปแต่ปอกไม่เป็น ผมเลยช่วยปอก แกะเปลือกออกมาแล้วก็เวียนไปวงแตกไปทุกวงคุย อาหารที่แต่ละคนทำมาก็สุดจะอวดความเป็น Southeast Asianist ของตนเอง ไม่ว่าจะทำโดยมือคนในหรือคนนอกก็ตาม ผมทำ "เหมียนส่าว" ผัดวุ้นเส้นแบบเวียดนามไป งานนี้ดื่มกินกันสำราญพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้กันไป ไม่รู้ว่าใครจะจำเรื่องราวที่คุยกันได้กี่มากน้อย

ผมเองได้คุยแลกเปลี่ยนกับอาจารย์จากเวียดนามที่ได้ทุนมาทั้งศึกษาและเป็นผู้ช่วยสอนที่นี่ เธออายุน้อยมาก (หรือผมอายุมากแล้วนั่นแหละ) มาจากเมืองที่ผมเคยไปทำวิจัยคือเมืองไลอันไกลโพ้น แต่เธอเป็นคนเวียด สอนที่มหา'ลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม น่าสนใจที่ทุนใหม่ๆ เหล่านี้กำลังแทรกเข้าไปดึงเอาคนรุ่นใหม่จากที่ซึ่งเคยปิดกั้นความรู้จากโลกภายนอก สงสัยว่าเมื่อเขาเหล่านี้กลับไปแล้วจะทำอะไรได้มากแค่ไหน หรือจะเปลี่ยนอะไรเธอได้บ้าง

คนรุ่นใหม่อีกคนที่ได่คุยคือนักศึกษาจากไต้หวัน ผมถามเรื่องพิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน ถามเรื่องวัตถุจัดแสดงที่นั่น เธอก็ตอบได้น่าสนใจดี ผมนึกในใจ "ถ้าถามเด็กไทยเรื่องพิพิธภัณฑ์ไทย คงจะได้คำตอบชวนหงุดหงิดใจ" เธอชวนสนทนาเรื่องอนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เธอมาเรียนที่นี่ปีเดียว กำลังค้นหาความสนใจอยู่ ผมบอกไปว่าถามตัวเองว่าอนาคตสัก 5 ปี หรือ 10 ปีอยากทำอะไร อยากอยู่ที่ไหนในโลก ถ้าที่ไต้หวันหรือที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาขานี้จะมีอนาคต แต่ถ้าอยู่ในอเมริกาก็ลำบาก

วันกินชีสจิ้มจุ่ม มีคนไม่กี่คน ก็ล้วนแต่นักอะไรต่างๆ ที่ทำงานวิจัยงานเขียนกันมหาศาล อาจารย์คนหนึ่งเพิ่งจบใหม่ เป็นชาวอิรัก จบจาก SOAS อังกฤษ หลังจากนั่งเงียบมานาน เมื่อคนถามเรื่องอิรัก เขาก็พรั่งพรูเรื่องอิรักอย่างรัวๆ ผมจับใจความได้บ้างไม่ได้บ้างเพราะตามรายละเอียดไม่ทัน แถมฟังสำเนียงอังกฤษไม่ถนัด แต่พอถึงตาตัวเองแลกเปลี่ยนเรื่องไทยบ้าง ก็ทำให้เข้าใจว่า พอลงรายละเอียดเรื่องตัวเอง คนก็คงเข้าใจไม่ได้ง่ายๆ นักเหมือนกัน  

มีตอนหนึ่งที่อาจารย์คนหนึ่งซึ่งทั้งชีวิตสนใจประวัติศาสตร์การเมืองกับการทหารถามว่า ทหารจะมีเวลามาติดตามหรือว่าตอนนี้ใครพูดอะไรทำอะไรอยู่ที่ไหน ผมตอบไปว่า ทหารมีเวลาเยอะ ตอนนี้สนุกใหญ่ที่มีงานทำ เมื่อก่อนไม่มีอะไรทำ ก็คิดดูสิว่าไทยไม่มีสงครามอะไรกับใคร วันๆ ทหารเข้ากรมกองไปทำอะไรล่ะ ตอนนี้สิถึงจะมีงานทำ ทำเอาอาจารย์ท่านนั้นไปไม่ถูกเลย

สังคมวิชาการแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาได้เพราะมีคนใช้ชีวิตด้านการศึกษาเล่าเรียนมาอยู่ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง ตั้งแต่การเดินทางสะดวก ไปจนถึงความเปิดกว้างทางความคิด รวมทั้งพลังงานอันล้นเหลือของแต่ละคนที่จะอยากรู้จักกัน อยากสังสันทน์ประกอบการสนทนาอันเคร่งเครียดกันได้บ่อยๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"