Skip to main content

เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว

 
ชื่อนิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวางก็ด้วยมติชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิตยสารสำคัญคือ "ศิลปวัฒนธรรม" ผมคิดว่า "ศิลปวัฒนธรรม" และอาจารย์นิธิได้ร่วมกันสร้างความหมายหนึ่งให้กับ "วัฒนธรรม" ในสังคมไทย คือการทำให้วัฒนธรรมเป็นเรื่องร้อยแปดสารพัดอย่าง ไม่ใช่จะต้องเป็นเรื่อง "ความเจริญงอกงาม" ตามนิยามแบบเก่าเท่านั้น ผมว่าถ้าจะมีสำนัก cultural studies ของไทยขึ้นมาสักสำนัก อาจารย์นิธิและศิลปวัฒนธรรมนี่แหละที่จะเป็นขุมความรู้สำคัญของสำนักนี้
 
อาจารย์มานุษยวิทยาที่ผมเคารพมากท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า ในการสอบเข้านักศึกษาปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ที่ผ่านมานับสิบปี หากถามนักศึกษาว่าประทับใจงานเขียนทางวิชาการของใครบ้าง ชื่อนิธิ เอียวศรีวงศ์ก็มักจะเป็นชื่อแรกๆ ผมเองก็เคยเจอแบบนั้นบ่อยๆ และเมื่อถามนักศึกษาว่า แล้วคุณมีอะไรโต้เถียงหรือเห็นแย้งกับแนวคิดอาจารย์นิธิไหม นักศึกษาก็มักจะตอบว่า "ไม่มีหรอกครับ/ค่ะ เพราะนี่อาจารย์นิธิพูดนะครับ/คะ"
 
จะว่าไป อาจารย์นิธิน่าจะเป็นหนึ่งในเป้าใหญ่ของการทำงานทางวิชาการของนักวิชาการรุ่นหลังหลายๆ คนรวมทั้งผมเองก็อาศัยการถกเถียงกับงานเขียนของอาจารย์นิธิเพื่อเป็นฐานในการคิดต่อยอดไปสู่อะไรใหม่ๆ เรียกว่าหากพบอะไรที่อาจารย์นิธิยังไม่ได้คิด ยังไม่ได้เขียน แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันประเด็นเดียวกันกับที่อาจารย์เขียนแล้วก็ตาม นั่นก็นับว่ามีวาสนาอย่างที่สุดแล้ว 
 
ในระยะหลังที่อาจารย์เขียนบทวิจารณ์การเมืองไทยมากขึ้น ทัศนะทางการเมืองของอาจารย์ก็ยิ่งมักถูกวิจารณ์ตรวจสอบอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ที่ทำให้ผมนับถืออาจารย์นิธิยิ่งขึ้นไปอีกไม่ใช่เพียงความกล้าหาญต่อกรกับผู้มีอำนาจผ่านการคิด การเขียน แต่อาจารย์ยังเป็นผู้ใหญ่ที่กล้าวิจารณ์ผู้ใหญ่ แบบซึ่งหน้า ตรงไปตรงมา บทความลง "มติชน" หลังรัฐประหารในแนวนี้หลายชิ้นนับเป็นชุดผลงานที่ต้องเก็บไว้ในทำเนียบประวัติศาสตร์ปัญญาชนสยามที่มีการเปิดวิวาทะอย่างเข้มข้นทีเดียว
 
ย้อนกลับมาที่งาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่น่ายินดีอีกอย่างคือ กองทัพไทยละเว้นไม่บุกรุกล้ำพื้นที่งานนี้ ต่างกับการจัดงานวิชาการในมหาวิทยาลัยขณะนี้ที่ต้องขออนุมัติจากทหารก่อน ต่างจากงานเวทีเสวนาของชาวบ้านในท้องถิ่นที่อาจถูกบุกเข้าไปให้ระงับได้ง่ายๆ ต่างจากงานระลึกโอกาสต่างๆ ของปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตย ที่ถูกทหารไปข่มขู่เสมอมา
 
นี่ก็แสดงว่า มติชนได้เข้ามาทำบทบาทเป็นสถาบันทางวิชาการแทนที่มหาวิทยาลัยที่เข้าไปรับใช้เผด็จการกันเต็มที่แล้ว งานที่มติชนเมื่อวานจึงกลายเป็นงานแสดงพลังเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายใต้กฎอัยการศึกงานเดียวกระมังที่ไม่มีเสียงข่มขู่คุกคามจากทหาร
 
ในด้านหนึ่ง นี่ก็นับเป็นความกล้าหาญของมติชน ในอีกด้านหนึ่ง ก็ชี้ให้เห็นว่าหากสื่อมวลชนยืนยันบทบาทการรักษาพื้นที่เสรีภาพทางความเห็น สังคมก็จะยิ่งยอมรับ และพร้อมกันนั้นก็น่าจะเป็นพลังต่อรองเพียงพอที่จะทัดทานการรุกล้ำพื้นที่ของสื่อมวลชน 
 
งาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" จึงเป็นทั้งหมุดหมายของวัฒนธรรมศึกษาแบบไทยและหมุดหมายของการสร้างพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี