Skip to main content

วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 

วาทกรรมนี้มักมีข้อสรุปร่วมกันว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีระบบคุณค่าพิเศษของตนเอง จึงไม่สามารถนำเอาแนวความคิดประชาธิปไตยซึ่งเป็นแนวคิดแบบตะวันตกเข้ามาใช้ได้ การสร้างคำอธิบายสนับสนุนวาทกรรมนี้มีตั้งแต่การกล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความสงบสุขร่มเย็นอยู่แล้ว มีสถาบันทางการเมืองที่ดีงามอยู่แล้ว ไปจนกระทั่ง สังคมไทยก็เป็นประชาธิปไตยในแบบของตนเองมานานแล้วด้วยการสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ต่อผู้ปกครอง

หากแต่เมื่อพิจารณาให้ชัดเจนขึ้นก็จะพบว่าใครก็ตามที่อ้างแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทย ก็มักจะเป็นผู้ที่เสวยสุขอยู่ในโครงสร้างอำนาจที่ค้ำจุนความเหลื่อมล้ำเอาไว้ และเมื่อใดก็ตามที่มีการรัฐประหารในประเทศไทย วาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยก็จะเริ่มทำงานทันที ดังที่เราจะเห็นคนที่สนับสนุนการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 จำนวนมากลุกขึ้นมาสาธยายความพิเศษไม่เหมือนใครของสังคมไทย แล้วจึงสรุปว่า ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถใช้แนวคิดประชาธิปไตยสากลได้ 

วาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยฟังดูเหมือนมีเหตุผลน่าเชื่อถือ แต่อันที่จริงแล้ววาทกรรมนี้วางอยู่บนหลักคิดหรือตรรกะที่ผิดพลาด ทั้งนี้ก็เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงของสังคมไทยเองและบิดเบือนพัฒนาการทางสังคมในโลก วาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยวางอยู่บนตรรกะวิบัติสำคัญสองประการคือ "ตรรกะคู่ตรงข้าม" และ "ตรรกะสัมพัทธ์นิยมสามานย์" 

"ตรรกะคู่ตรงข้าม" คือการสร้างข้อเสนอจากการสร้างคู่ขัดแย้งตรงข้ามกันขึ้นมา เพื่อทำให้ข้อเสนอตนเองเด่นชัด พร้อมๆ กับเพื่อหักล้างข้อเสนอตรงข้ามลงไป ในการสร้างวาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทย มีการสร้างกรอบความคิดขึ้นมาว่าไทยตรงข้ามกับฝรั่ง ไทยเป็นสังคม "ตะวันออก" และจึงตรงข้ามกับ "ตะวันตก" คู่ตรงข้ามนี้ยังเสนออีกด้วยว่า ประชาธิปไตย = ตะวันตก ซึ่งตรงข้ามกับ ไทย = ไม่ใช่ประชาธิปไตย นอกจากนั้นยังมีนัยแฝงเชิงคุณค่าว่า ไทย ดีกว่า เหมาะกว่า ตะวันตก และประชาธิปไตยจึงไม่ดี ไม่เหมาะกับไทย แต่ต้องดัดแปลงให้เป็นประชาธิปไตยแบบไทย จึงจะเหมาะกับสังคมไทย 

ตรรกะคู่ตรงข้ามแบบนี้มีปัญหาอย่างน้อยสามประการคือ หนึ่ง ตรรกะนี้ไม่ได้อธิบายสังคมไทยจากลักษณะภายในเอง แต่อธิบายจากการเปรียบเทียบ ความเป็นไทยจึงไม่ได้มีเนื้อในที่ได้รับการพิจารณาอย่างเฉพาะเจาะจงจริงๆ แต่เป็นความเป็นไทยที่ถูกเลือกหยิบมาเฉพาะส่วนที่เข้ากับคำอธิบายแบบนี้ หรือแม้แต่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพียงเพื่อให้แตกต่างจากความเป็นตะวันตกในจินตนาการ เช่น การอ้างว่าสังคมไทยเน้นความสามัคคีความเป็นระเบียบ ส่วนสิทธิเสรีภาพเป็นแนวคิดตะวันตกจึงไม่เข้ากับสังคมไทย

สอง เหมาว่าตะวันตกเหมือนกันหมดพร้อมกับเหมาว่าตะวันออกเหมือนกันหมด เช่นคิดว่าสังคมตะวันตกให้สิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกันหมด ทั้งที่จริงๆ แล้วในยุโรปบางประเทศเพิ่งให้สิทธิผู้หญิงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อ 40 ปีมานี้เอง และที่จริงแล้ววิธีเลือกตั้งของประเทศประชาธิปไตยต่างๆ ก็แตกต่างกันออกไป พร้อมกันนั้น ด้วยตรรกะคู่ตรงข้ามจึงเหมาว่าตะวันออกเหมือนกันหมด และเลยเหมาว่าไทยเหมือนกันหมด เช่น เชื่อว่าสังคมไทยเน้นคุณค่าของคนดีที่เหมารวมว่าเหมือนกันหมด การเลือกตั้งด้วยหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียงจึงไม่เหมาะสม เพราะขัดกับหลักการคัดสรรคนดีมากเป็นผู้ปกครอง ซึ่งมีเฉพาะคนดีด้วยกันเท่านั้นจึงจะรู้ว่าใครสมควรเป็นผู้ปกครอง ไม่ใช่ทุกคนจะเลือกได้ ตรรกะแบบนี้ละเลยความเป็นตะวันตกในตะวันออกและละเลยความเป็นตะวันออกในตะวันตก หรือพูดง่ายๆ คือ ละเลยรายละเอียดหลากหลายของสังคม

สาม ตรรกะแบบนี้นำไปสู่การหลงใหลในพวกเดียวกันเอง หลงใหลในระบบคุณค่าที่เชื่อว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตนเอง และพาลเห็นว่าระบบคุณค่าของคนอื่น ของสังคมอื่น เลวร้ายไปด้วยกันไม่ได้กับของเรา ดังเช่นการไม่ยอมรับระบบคุณค่าแบบประชาธิปไตยเพียงเพราะเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก ไม่เข้ากับระบบคุณค่าของเรา ไม่ยอมรับว่าสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญเหนือความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ เพราะเหมาเอาว่าความเป็นไทยเน้นสถาบันหลักเหนือประชาชน เหมาเอาว่าเสรีภาพประชาชนเป็นวิธีคิดตะวันตกที่เลวร้ายไม่เข้ากับสังคมไทย

วิธีคิดแบบนี้จึงไม่ได้ต่างอะไรกับที่ชาวตะวันตกกลุ่มหนึ่งใช้มองเชิงเหยียดชาวตะวันออกเพียงแต่เป็นการกลับตาลปัตรความคิดเท่านั้นเอง การยกย่องตนเองด้วยตรรกะคู่ตรงข้ามแบบนี้ก็เป็นการตกกับดักวิธีคิดที่ตนเองพยายามปฏิเสธนั่นเอง พูดอีกอย่างคือ ยังพายเรือวนเวียนอยู่ในอ่างความคิดแบ่งเขาแบ่งเรา เกลียดเขาบูชาเราอย่างไม่ลืมหูลืมตาอยู่นั่นเอง วิธีคิดนี้นำมาซึ่งปัญหามากมาย เนื่องจากไม่ยุติธรรมกับข้อเท็จจริงรายละเอียด และยังวางกรอบความคิดไว้แต่ต้นจนกระทั่งกำหนดกรอบการกระทำที่ตามมา ผลก็คือเราจะติดกับดักความคิดนี้อยู่อย่างนั้น ถอดไม่ออก ไม่สามารถก้าวข้ามกับดักความคิดว่า "ไทยตรงข้ามกับตะวันตก ประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก และดังนั้นประชาธิปไตยไม่เข้ากับสังคมไทย" ได้

อีกตรรกะที่มักจะพบในวิธีคิดประชาธิปไตยแบบไทยคือ "สัมพัทธ์นิยมสามานย์" โดยทั่วๆ ไปแล้ว สัมพัทธ์นิยมเป็นแนวคิดที่ว่า อะไรก็ตามไม่ได้มีค่าความสมบูรณ์ในตัวเอง หากแต่มีค่าโดยเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นๆ เสมอ คนสูง จึงไม่ได้หมายความว่าสูงที่สุด แต่สูงโดยเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ เท่าที่จะเห็นได้เท่านั้น คนดี ก็ไม่ได้ดีกว่าใครอื่นทั้งหมด แต่ดูดีกว่าคนที่เอามาเทียบกันเท่านั้น ความคิดลักษณะนี้ถูกนำมาใช้กับการวัดทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย เช่น สังคมที่ดูซับซ้อนกว่า ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นสังคมที่มีพัฒนาการที่สูงกว่าสังคมอื่น แต่ที่ดูซับซ้อนกว่าก็เพราะมีปัจจัยจำเป็นภายในสังคมนั้นเองที่ต้องการความซับซ้อนบางด้าน ส่วนสังคมที่ดูเหมือนเรียบง่าย ก็ไม่ใช่ว่าด้อยพัฒนา แต่เพราะมีความต้องการพัฒนาการของสังคมในลักษณะนั้น และอันที่จริง สังคมที่ดูเหมือนเรียบง่ายก็มีความซับซ้อนในระบบสังคมและวัฒนธรรมเองอยู่เหมือนกัน

แต่เมื่อนำมาใช้อธิบายสังคมไทยตามวาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยตรรกะนี้ถูกนำมาบิดเบือนด้วยการสร้างวาทกรรมว่า สังคมไทยมีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของตนเอง แตกต่างจากสังคมตะวันตกที่ปัจจุบันพัฒนาไปเป็นสังคมประชาธิปไตย การที่สังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยจึงไม่ได้เสียหายอะไร และไม่ได้ด้อยพัฒนากว่าสังคมประชาธิปไตยแต่อย่างใด ไม่จำเป็นและไม่ควรต้องทำให้สังคมไทยพัฒนาไปเหมือนสังคมตะวันตก ประชาธิปไตยจึงไม่จำเป็นกับสังคมไทย และการที่สังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้ทำให้สังคมไทยล้าหลังสังคมตะวันตก

การใช้วาทกรรมเช่นนี้เป็นการนำหลักการสัมพัทธ์นิยมมาใช้อย่างบิดเบือนหลักการสำคัญของแนวคิดสัมพัทธ์นิยมในการอธิบายสังคม-วัฒนธรรมต่างๆ นั้น อยู่ที่การยอมรับความเสมอภาคกันของสังคมที่แตกต่างกัน หลักนี้ไม่ยกย่องสังคม-วัฒนธรรมใด เหนือสังคม-วัฒนธรรมอื่น และถ้ายอมรับหลักการความเท่าเทียมกัน ก็จะต้องยอมรับไม่ใช่แต่เพียงว่าวัฒนธรรมไทยเท่าเทียมกับวัฒนธรรมตะวันตก แต่จะต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า ค่านิยม วัฒนธรรม และระบบคุณค่าของคนบ้านนอก คนต่างจังหวัด มีค่าเท่าเทียมกันกับของคนกรุงเทพฯ ดังนั้น หลักสัมพัทธ์นิยมจึงไปด้วยกันได้กับหลักคิดแบบประชาธิปไตย ที่โดยหลักการแล้วให้อำนาจประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน และดังนั้นจึงต้องยอมรับการตัดสินใจทางการเมือง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนต่างจังหวัด 

กล่าวอีกอย่างคือ หากเห็นว่าสังคมไทยเท่าเทียมกับสังคมตะวันตก ก็จะต้องยอมรับด้วยว่า สังคมกรุงเทพฯ เท่าเทียมกับสังคมต่างจังหวัด คนกรุงเทพฯเท่าเทียมกับคนต่างจังหวัด "คนเท่ากัน" ไม่ว่าจะมีการศึกษามากน้อย หรือมีฐานะแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม

การอ้างว่าสังคมไทยมีลักษณะเฉพาะและจึงต้องมีประชาธิปไตยแบบเฉพาะหรือไม่มีเลยก็ได้เพราะสังคมไทยไม่เคยมีประชาธิปไตยนั้น เป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นจากตรรกะวิบัติดังกล่าว วาทกรรมนี้สร้างขึ้นมาเพื่อค้ำจุนความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เพื่อคงความได้เปรียบของคนกลุ่มหนึ่งไว้ มากกว่าที่จะถูกนำมาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้สังคม วาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยจึงไม่เคยถูกเอ่ยจากปากผู้คนเบื้องล่างของสังคม วาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยจึงเป็นความเฉพาะเจาะจงของความเป็นไทย ที่อำพรางความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ และการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนเอาไว้

 

(มติชนรายวัน 22 ธันวาคม 2557)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร