Skip to main content

สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 

 
แรกเลยคือการได้พบเจอลูกๆ ของอาจารย์ที่เคยเรียนด้วย เด็กๆ พวกนี้เมื่อก่อนพวกเขาก็โผล่หน้าแว๊บไปแว๊บมาเมื่อเราไปหาอาจารย์บ้าง หาเพื่อนๆ บ้าง ได้เห็นกันก็แค่ผ่านๆ หรือจะได้กินอาหารด้วยกัน เมื่อพวกเขาอิ่มแล้ว 7 ปีก่อนตอนเขาเป็นวัยรุ่นหรือยังเป็นเด็กเล็กๆ พวกเขาก็จะหายหน้ากันไปเข้าห้อง ไม่ก็ดูทีวี หรือไปวิ่งเล่น แทบไม่ได้คุยกัน
 
แต่เมื่อโตขึ้นถึงวันนี้ คนหนึ่งกำลังจะทำงานบริษัท กินเงินเดือนมากกว่าแม่ที่เป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย คนหนึ่งเลือกเส้นทางอุดมการณ์ทำงานการเมืองผลักดันนโยบายเพื่อคนรุ่นใหม่ คนหนึ่งทำงานบริษัทการเงินใหญ่โต อีกคนกำลังเรียนการออกแบบวิดีโอเกมส์
 
อีกคนเจริญรอยตามพ่อเป็นนักล่า เรียนเรื่องการล่าสัตว์ ซึ่งพ่อก้าวหน้าไปไกลถึงขั้นสามารถฆ่าหมีด้วยธนูดอกเดียวมาแล้ว อีกคนเคยถีบจักรยานทั่วสหรัฐฯ เพื่อระดมทุนการกุศลแล้วขณะนี้เป็นครูประวัติศาสตร์ อีกคนพาแฟนบุคคลิกแปลกจากชาวนาวิสคอนซินมาแนะนำครอบครัว ส่วนเด็กอีกคนเมื่อ 7 ปีก่อนยังแบเบาะ ขณะนี้นี้โดตขึ้นมาเป็นเด็กดื้อเหลือขอ
 
ชีวิตของพวกเพื่อนเองก็เปลี่ยนแปลงกันไปไม่ใช่น้อย เพื่อนคนหนึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ เกษียณอายุแล้ว อายุ 70 กว่า ขณะนี้ย้ายจากบ้านขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กมีอาณาบริเวณในชุมชนที่ใครๆ ก็อยากอยู่ ไปอยู่อพาทเมนท์ผู้สูงอายุ แถมภรรยายังต้องไปอยู่อีกที่หนึ่ง เป็นที่สำหรับดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลพิเศษ 
 
เมื่อได้ไปเยี่ยมทั้งสองแล้ว ก็ให้สะท้อนใจกับชีวิต และคิดถึงจุดจบของชีวิตที่ยุ่งยากยิ่งขึ้นทุกวัน เมื่อโลกเทคโนโลยีพัฒนาไปเรื่อยๆ คนสูงวัยก็กังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเมื่อไหร่ตนจะหมดอายุขัยสักที
 
เพื่อนอีกคู่หนึ่งมีชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างเหลือเชื่อ คนสามีออกจากงานใชัแรงงานหนัก มาเป็นคนจัดแต่งกะบะไม้ประดับ รวมทั้งช่วยภรรยาที่ทำงานอดิเรกอย่างขะมักเขม้น คือการทำกระถางประดับ ที่ออกแบบเก๋ไก๋เฉพาะตัวแต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน ขณะนี้กำลังรุ่งมาก เดินทางออกร้านตามงานอาร์ตแฟร์ตามรัฐต่างๆ ไม่เว้นแต่ละเดือน 
 
จนเร็วๆ นี้สองสามีภรรยานี้กำลังคิดจะขายบ้านไปอยู่คอนโดฯ ส่วนภรรยายจะออกจากงาน เพื่อกลายเป็นศิลปินเต็มตัว ยิ่งได้ไปดูสตูดิโอสองคนนี้แล้วก็ให้ทึ่งในความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกับนับถือในความกล้าหาญที่คิดจะเปลี่ยนแปลงชีวิตในวัยปลาย 50 แล้ว
 
อีกคู่หนึ่งเป็นคนไทยที่มาใช้ชีวิตที่นี่หลายสิบปีแล้ว ทั้งคู่ทำงานหนัก สามีขณะนี้อายุ 80 กว่า ภรรยา 60 กว่า จนขณะนี้เกษียณแล้ว ไปซื้อบ้านหลังใหญ่อยู่นอกเมืองแมดิสัน บ้านอยู่ริมน้ำ บรรยากาศงดงามเหมาะกับบั้นปลายชีวิต สองสามีภรรยาไม่คิดจะกลับเมืองไทย ผิดกับคนไทยหลายๆ คนที่ลงแรงเก็บเงิน ฝันว่าสักวันจะกลับไปสบายในบั้นปลายที่เมืองไทย 
 
น่านับถือในความมุ่งมั่นทำมาหากินเก็บหอมรอมริบ น่าทึ่งกับสังคมเศรษฐกิจอเมริกันที่เปิดโอกาสให้คนใช้แรงงานที่มีวินัย สามารถมีชีวิตที่ดีไม่ต่างจากหรืออาจจะดีกว่าคนที่ร่ำเรียนสูงๆ ได้ แต่ก็น่าเห็นใจพี่ๆ คนไทยทั้งสองคนนี้ที่อย่างไรเสียพวกเขาก็ยังคงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในฐานะทางสังคมของตนเอง จึงไม่ค่อยคบเพื่อนฝรั่งเท่าไหร่นัก
 
เพื่อนอีกคนเลือกเส้นทางชีวิตที่น่าทึ่งตั้งแต่เมื่อหลายปีที่แล้ว และจนบัดนี้ก็ยังยืนยันใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ เขาเลือกอยู่กินกับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีลูกกับสามีที่เลิกกับเธอไป เพื่อนคนนี้เลี้ยงลูกภรรยาราวกับลูกตนเอง ส่วนเด็กคิดอย่างไรกับเขานั้น พอจะเดาได้แต่ก็ไม่อยากกล่าอะไรให้เพื่อนช้ำใจนัก 
 
ชีวิตเพื่อนคนนี้น่าทึ่งตั้งแต่รู้จักกันมากว่า 10 ปีแล้ว เขาเป็นคนไนจีเรีย ถูกเลี้ยงดูโดยคนขาวในอังกฤษ พูดอังกฤษทั้งสำเนียงและลีลาการใช้ภาษาแบบชาวอังกฤษที่มีการศึกษาสูง มาเริ่มทำงานในสหรัฐฯ ในอาชีพเซลแมน แล้วค่อยๆ เรียนเป็นนักบิน จนปัจจุบันเป็นนักบินมือหนึ่งของสายการบินอเมริกันมานานเกือบ 10 ปีแล้ว บินทั้งภายในและต่างประเทศ น่าทึ่งที่สังคมนี้เปิดโอกาสให้คนที่ต่อสู้สามารถเปลี่ยนชีวิตได้มากขนาดนี้
 
ยากที่จะพูดคำส่งความสุขปีใหม่ปีนี้ แต่เมื่อได้เจอเพื่อนๆ และครูบาอาจารย์เก่าๆ ก็มีความสุขที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ถึงกับฉับพลันเลวร้ายนัก แต่ก็พอได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน สุดท้ายก็รู้สึกดีขึ้นมาบ้างที่ปีใหม่นี้ได้เข้าใจสังคมอเมริกันมากขึ้น และได้เรียนรู้ชีวิตมนุษย์มากขึ้น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"