Skip to main content

อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ

สำหรับใครก็ตามที่เริ่มทำวิทยานิพนธ์หรือผ่านกระบวนการทำวิทยานิพนธ์มาแล้ว จะจบหรือยังไม่จบดีหรือไม่ผ่านไปแล้วก็แล้วแต่ คงเคยคิดบ้างว่า ทำไมกรรมการวิทยานิพนธ์ถึงโหดนัก ทำไมกรรมการวิทยานิพนธ์ต้องการโน่นต้องการนี่ แก้โน่นแก้นี่ในงานของเราจนแทบจะไปเหลือเค้างานที่เราคิดว่าเป็นของเราอีกต่อไปเลย บางคนคิดว่า จบมาแล้วไม่รู้สึกภูมิใจกับวิทยานิพนธ์เลย ถูกแก้กระทั่งการใช้สรรพนามในการเขียน เหมือนงานไม่ใช่ของเรา

 

เข้าใจถูกแล้วครับ วิทยานิพนธ์ไม่ใช่งานของคุณคนเดียวหรอก แต่เป็นงานของกรรมการทุกคนด้วย เพียงแต่วิทยานิพนธ์เป็นผลงานร่วมที่คุณผู้เขียนวิทยานิพนธ์เป็นผู้รับผิดและรับชอบมากที่สุด วิทยานิพนธ์จะดีหรือไม่ดี เมื่อจบมาแล้ว จะด้วยการกลั้นใจลงนามของกรรมการหรือไม่ คุณคนเขียนก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบมากที่สุด

 

แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการทำงานวิชาการ หลังวิทยานิพนธ์ ถ้าคุณยังจะทำงานวิชาการต่อไป ยังมีโลกที่กว้างใหญ่ของงานวิชาการอีก คนที่สอบวิทยานิพนธ์ เจอกรรมการแค่ 3-4 บ้าง 5-6 คนบ้าง แล้วกลัวหรือบ่นว่าทำไมกรรมการโหดกันนัก เมื่อจบแล้วไปอยู่ในโลกวิชาการที่ใหญ่กว่านี้จะรู้ว่า ไม่มีใครเขาแคร์ปริญญาคุณหรอก ถ้างานคุณไม่ดีจริงน่ะ แล้วอย่างไรเสีย คุณก็จะต้องต่อปากต่อคำกับคนอื่นๆ ที่จะดาหน้ากันเข้ามาประเมินคุณแบบไม่สนใจที่มาที่ไปของคุณกันไปตลอดชีวิตนั่นแหละ กับแค่กรรมการไม่กี่คนที่ยังคงความเป็นศิษย์เป็นครูกันน่ะ เป็นสภาพแวดล้อมทางวิชาการที่มีความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้งที่สุดแล้ว

 

กระนั้นก็ตาม ในโลกวิชาการสากล วิทยานิพนธ์ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์สายวิชาการ เน้นนะครับว่า นี่พูดเฉพาะสายวิชาการ เพราะสายวิชาชีพน่ะ แค่ทำ IS ก็จบปริญญาโทหรือแม้แต่ปริญญาเอกได้แล้ว แต่จะเอามาเทียบกับสายวิชาการไม่ได้ เพราะข้อเรียกร้องต่างกัน

วิทยานิพนธ์คือการสร้างข้อเสนอที่ชัดเจน มีลำดับการให้เหตุผลที่เป็นระบบด้วยหลักฐานข้อมูลสนับสนุนอย่างหนักแน่น ในระดับปริญญาโท วัดกันที่ว่าได้เสนออะไรหรือเปล่า แล้วข้อเสนอนั้นได้รับการนำเสนอด้วยเหตุผลและหลักฐานอย่างหนักแน่นหรือเปล่า ในระดับปริญญาเอกนั้น ต้องแสดงให้เห็นด้วยว่าผู้เสนอได้ค้นพบอะไรใหม่ ได้ต่อยอดเพิ่มพูนความรู้อะไรขึ้นไป สรุปแล้ว วิทยานิพนธ์ก็คืองานวิจัยดีๆ นี่เอง ข้อนี้ใครที่อยู่ในแวดวงอุดมศึกษาย่อมทราบดีอยู่แล้ว

 

ในต่างประเทศ ผมก็ขออ้างสหรัฐอเมริกาอีกนั่นแหละ วิทยานิพนธ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจบการศึกษาก็จริง แต่ไม่มีก็ไม่ได้ปริญญา บางคนว่าในระบบยุโรป วิทยานิพนธ์จะดูสำคัญกว่าเพราะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ใช้วัดความสำเร็จของการศึกษา แต่ที่จริงก็วัดความสำคัญต่างกันยาก แถมยังขึ้นกับสาขาวิชา บางสาขาวิชา วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในยุโรปคาดหวังต่ำกว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ แต่นั่นก็ยังขึ้นกับเงื่อนไขอื่นๆ อีกมาก เช่น ความเข้มข้นของมหาวิทยาลัย ความคาดหวังจากกรรมการวิทยานิพนธ์ เป็นต้น

 

ในสหรัฐฯ มีทุนวิจัยสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมากมาย บางสาขาทางสังคมศาสตร์อย่างมานุษยวิทยา มีอย่างน้อยเท่าที่ผมนับได้ 5 แหล่งทุนด้วยกันสำหรับคนอเมริกัน แล้ว 3 ใน 5 แหล่งทุนนั้นก็สำหรับใครก็ได้ที่เรียนที่สหรัฐฯ ถึงไม่ใช่ American citizen ก็ขอได้ นี่ยังไม่นับว่าบางมหาวิทยาลัยยังมีทุนสนับสนุนบางลักษณะอีกด้วย

 

ทุนเหล่านี้ส่วนมากเป็นทุนรัฐบาล จำนวนทุนที่ให้นั้น เมื่อสัก 10 ปีก่อนที่ผมเรียน ทุนวิจัยทางสังคมศาสตร์ อย่างมานุษยวิทยา สังคมวิทยา หรือภูมิศาสตร์ ก็ให้ตั้งแต่ 20,000 - 25,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ส่วนมากให้ปีเดียวคือปีที่เก็บข้อมูล) ขณะนี้อาจมากกว่านั้นเล็กน้อย ทุนเหล่านี้ไม่มีเงื่อนไขอะไร ให้เปล่าเลย แม้จะเป็นนักศึกษาต่างชาติก็ให้เปล่า แล้วหากนักศึกษาเรียนไม่จบล่ะ ไม่จบก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องใช้ทุนใดๆ ทั้งสิ้น (ถ้าเจอ ปปช. ไทย แบบนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ถูกจ้องเล่นงานว่า "ส่อ" ทุจริตไปแล้วล่ะครับ)

 

ผมไม่รู้ว่ามีการประเมินความสูญเสียจากทุนเหล่านี้บ้างหรือไม่ หรือเขาประเมินความคุ้มค่าของเงินเหล่านี้อย่างไร แต่ผมบอกได้เลยว่า เงินที่ลงทุนกับวิทยานิพนธ์เหล่านี้คุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับเงินที่ใช้สนับสนุนให้ได้งานวิจัยดีๆ สักหนึ่งชิ้น หากเทียบค่าตัวกันระหว่างนักศึกษาเดนตาย ที่อยากได้ทุนทำวิจัย ซึ่งทั้งต่อชีวิตทางวิชาการและเป็นเกียรติประวัติ กับอาจารย์ที่ค่าตัวจะสูงกว่ากันเกินเท่าตัวแล้ว หากมีคนจบเกินครึ่งหนึ่งของเงินที่เขาลงทุนไปก็ถือว่าคุ้มแล้ว 

 

หากวัดเอาหยาบๆ เอาจากคนเท่าที่ผมรู้จัก คนที่ได้ทุนราว 80% เรียนจบ หากเป็นอย่างนี้จริง ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ส่วนหนึ่งก็เพราะกระบวนการของการคัดเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่จะให้ทุนนั้นเข้มข้นมาก บรรดากรรมการน่าจะตาถึงพอที่จะดูออกว่าใครน่าจะเรียนจบหรือไม่จบ อีกส่วนหนึ่งนั้น คนที่เรียนปริญญาเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ต่างก็รู้ตัวดีว่ากำลังเดินบนเส้นทางสายลำบาก หลายคนเป็นหนี้ค่าลงทะเบียนเรียน หลายคนเรียนจนอายุมากและเสี่ยงกับอนาคตมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรียนไม่จบก็จะยิ่งลำบาก

 

คราวนี้หันมาดูทุนทำวิทยานิพนธ์ไทยบ้าง อมยิ้มเลยล่ะสิครับ มันน่ารักจุ๋มจิ๋มมากใช่ไหมล่ะ แล้วมีใครให้ทุนบ้างล่ะ ที่เห็นชัดๆ สม่ำเสมอก็แหล่งเดียวใช่ไหมล่ะ บางมหาวิทยาลัยมีเงินสนับสนุน แต่ได้มาเอาไปเป็นค่าพิมพ์ตัวเล่มส่งมหาวิทยาลัยตอนเรียนจบก็แทบจะหมดแล้ว ไม่เหลือแม้แต่จะกินข้าววันเอาตัวเล่มไปส่ง แต่เอาล่ะ ปัจจุบันก็ถือว่าดีขึ้นกว่าสมัยที่ผมต้องแบมือขอเงินพ่อแม่เรียนปริญญาโทมากนัก เพราะอย่างน้อยก็มีทุนของแหล่งทุนหนึ่งที่ให้เงินพอสมควรทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เอ่ยชื่อเลยดีกว่า ทุนของ สกว. นั่นแหละ ผมก็สนับสนุนนักศึกษาให้ขอทุนนี้อยู่สม่ำเสมอ 

 

แต่ปัญหาคือ นอกจากทุนจะน้อย น้อยจนไม่มีใครมีชีวิตอยู่ด้วยทุนนั้นได้ในระหว่างทำวิทยานิพนธ์โดยเฉพาะในระดับปริญญาโท และระเบียบการใช้เงินจะจุกจิกมากแล้ว การรับทุนทำวิทยานิพนธ์นี้ยังมีข้อผูกพัน แถมไม่ใช่ผูกพันกับนักศึกษา แต่ผูกพันกับอาจารย์ อาจารย์ต้องเขียนงานส่งด้วย อาจารย์ต้องเข้าร่วมกระบวนการตรวจสอบผลงานเป็นระยะๆ จากผู้ให้ความเห็นจากต่างสถาบันการศึกษา ต่างสาขาวิชา ต่างระบบความคิดด้วย 

 

ผลก็คือ ทุนลักษณะนี้มีส่วนในการปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการและมีส่วนในการปิดกั้นการพัฒนาความรู้ในแนวทางของแต่ละสถาบัน แต่ละสำนักคิด แต่ละสาขาวิชาไปอย่างถึงที่สุด ผลงานที่มีคุณภาพ บางทีไม่ได้ทุนเพราะทำวิจัยประเด็นที่สังคมไทยปิดกั้นโดยไร้เหตุผลทางวิชาการ (ว่าจะไม่พูดเรื่องนี้แล้วเชียว แต่ก็อดไม่ได้อยู่ดี) แถมทุนยังทำให้อาจารย์ต้องคิดหนักกับการแบกภาระงานเขียน ที่ก็แทบจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อไปไม่ได้มากนัก

 

การรับทุนวิทยานินพธ์ในระดับปริญญาเอกยิ่งแล้วใหญ่ นอกจากอาจารย์ต้องง้องอนแหล่งทุนแทนนักศึกษา ต้องกรอกเอกสารแสดงเกรียรติประวัติมากมายตามแบบฟอร์มที่ระบุแล้ว หากนักศึกษาเรียนไม่จบ อาจารย์ยังต้องเป็นหนี้ด้วย ทำไปทำมา แทนที่จะส่งเสริม ก็กลับจะสร้างกำแพงปิดกั้นการขอทุน อาจารย์จำนวนมากไม่กล้าขอรับทุนให้นักศึกษาปริญญาเอกของตนเอง เพราะไม่กล้ารับประกันนักศึกษาตนเอง สุดท้าย อาจารย์ที่สอนระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่ก็เลยต้องจำใจเรียกร้องนักศึกษาให้ควักกระเป๋าตนเองถูๆ ไถๆ ทำวิทยานิพนธ์กันจนจบกันมาได้โดยไม่มีทุน แล้วอย่างนี้จะไปเรียกร้องให้วิทยานิพนธ์ทำดีๆ ไปทำงานภาคสนามไกลๆ อยู่ในพื้นที่นานๆ ไปทำวิจัยต่างประเทศ อะไรต่อมิอะไรได้อย่างไร

 

ส่วนอาจารย์ตั้งมากมายที่รับทุนรัฐบาลไปทำวิจัยหลักล้าน หลักสิบๆ ล้านจากสถาบันอะไรก็แล้วแต่ แล้วกลับไม่ส่งงานวิจัย หรือทำเสร็จแล้วผลงานกลับไม่มีประโยชน์ กลายเป็นกองกระดาษใต้บันไดประจำภาควิชาต่างๆ ที่รอชั่งกิโลขาย หรือไม่ก็หลงลืมตั้งทิ้งไว้จนสุดท้ายกลายเป็นอาหารปลวกน่ะ ไม่มีการประเมินกันว่าสูญเปล่าแค่ไหนเมื่อเทียบกับการให้ทุนนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์

วิทยานิพนธ์เป็นก้าวแรกก็จริง แต่ก็เป็นก้าวสำคัญของการทำงานวิชาการในอนาคต ในโลกวิชาการสากล นักวิชาการส่วนใหญ่ต่อยอดการทำงานจากวิทยานิพนธ์ของตน แน่นอนว่าเมื่อเป็นอาจารย์แล้วก็ต้องทำงานใหม่ แต่การทำวิทยานิพนธ์เป็นรากฐานสำคัญในการก้าวต่อไปในดลกวิชาการทั้งสิ้น 

 

แต่ในสังคมวิชาการไทย อาจารย์ไทยบางคนที่ก็จบจากต่างประเทศมานั่นแหละ กลับมองวิทยานิพนธ์ว่าเป็นเพียงแบบฝึกหัด ให้ค่าวิทยานิพนธ์ต่ำกว่างานวิจัยที่ไม่มีใครเปิดอ่านของตนเอง อาจารย์บางคนทำวิจัยมาตลอดชีวิต ยังทำงานได้ไม่ดีเท่าวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาตนเองเลย แต่สังคมวิชาการไทยก็ไม่อยากลงทุนกับวิทยานิพนธ์

 

ท้ายสุด เมื่อคุณเขียนวิทยานิพนธ์จบแล้วเกิดเรียนจบขึ้นมา จะด้วยทุนรอนของใครก็แล้วแต่ โลกวิชาการไทยก็ไม่ให้คุณค่ากับวิทยานิพนธ์ เรืองนี้เอาไว้มาเล่าในตอนต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน