Skip to main content

จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 

 
เช่นว่า ที่จริงก็อยากเขียนเรื่องหลักสูตร อย่างหลักสูตรโครงการปกติ โดยเฉพาะรายวิชาการศึกษาทั่วไป ที่แทบไม่พัฒนาเลยและมีวิธีคิดที่ล้าหลังย่ำอยู่กับที่มานับ 20 ปีแล้ว หลักสูตรพิเศษ ที่เปิดหากินกับกระเป๋าพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งๆ ที่ไม่สามารถทำคุณภาพให้เท่าหลักสูตรปกติได้ เพราะต้นทุนสูงลิบ และเพราะเงื่อนไขที่กีดกันการจัดชั้นเรียนให้มีประสิทธิภาพ เขียนไปก็ปากว่าตาขยิบเปล่าๆ เพราะอย่างที่บอกคือ ทุกวันนี้หลักสูตรพิเศษคือแหล่งรายได้หลักของมหาวิทยาลัยไทย
 
หรือปัญหาเรื่องหลักสูตรระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ที่ สกอ. คิดในระบบเดียวกับคิดถึงการแบ่งชั้นประถมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษา ก็เลยต้องแยกกันโดยไม่จำเป็น ไม่เหมือนที่ชาวโลกเขาทำกันอย่างไทยทุกวันนี้ หลายๆ คณะและภาควิชารวมทั้งคณะผมก็เลยต้องตีลังกาทำหลักสูตรให้เชื่อมโยงกันอย่างพิสดาร ทั้งๆ ที่ในโลกนี้ไม่มีใครเขาทำกัน 
 
หรือเรื่องการบริหารความรู้ต่างสาขาวิชา ที่ไม่คิดให้สอดคล้องกันทั้งระบบ จึงเป็นการศึกษาแยกส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปีสูงของปริญญาตรี บางสถาบันจึงไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเปิดหูเปิดตาเรียนรู้ข้ามสาขา 
 
เรื่องหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรนักศึกษาโครงการแลกเปลี่ยนที่กลวงโบ๋และหลอกลวงทั้งนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติ เปิดกันเหมือนโรงเรียนกวดวิชา แทบจะไม่มีอาจารย์ประจำ จ้างอาจารย์เกษียณและอาจารย์ล่าค่าสอน ให้วิ่งรอกสอนกันไปทั่ว รวมทั้งพื้นฐานนักศึกษาก็อ่อนปวกเปียก แถมห้องเรียนแน่นยั้วเยี้ยและไม่ส่งเสริมการเรียนรู้นอกสถานที่ เพราะหวังกำไรไปสร้างตึกใหม่แต่อ้างว่ามีต้นทุนการจัดการสูงลิ่ว อย่างนี้เป็นต้น
 
ไม่ต้องห่วงครับ ผมสอนหลักสูตรพวกนี้มากแล้ว จนมีคนจะให้บริหารมาแล้วก็มี แต่บริหารอย่างไรได้ล่ะครับ ในเมื่อทั้งระบบใหญ่มันนุงนังกันอย่างนี้ ผมไม่เอาด้วยหรอก ก็จึงเอามาบ่นอยู่นี่ได้ไงครับ ต่อไปนี้ผมคงไม่สอนแล้วล่ะ ส่วนอนาคตข้างหน้าหากเกษียณแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าอยู่ได้นานขนาดนั้น ก็คงจะหาทางดิ้นรนทำอย่างอื่นไปได้เองนั่นแหละ แต่บอกได้ว่า ระบบที่เป็นอยู่นี้น่ะล้าหลัง ไม่ทันแม้กระทั่งเพื่อนบ้าน 
 
ผมเคยสอนหลักสูตรโครงการแลกเปลี่ยนให้โครงการหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน เขาไม่ทำอย่างนี้หรอก เขาทุ่มเทให้กับการให้ความรู้มากกว่าที่เมืองไทย เพราะคนจัดการเรียนการสอนอยู่ในระบบอเมริกันเอง ใช้อีกมาตราฐานหนึ่ง ไม่เหมือนในไทยที่ใช้มาตราฐานไทย บางโครงการก็เลยเละจนมหาวิทยาลัยอเมริกันเจ้าของทุนต้องระงับแล้วตั้งต้นกันใหม่ อย่ารู้เลยครับว่าที่ไหน เจ้าตัวถ้าเข้ามาอ่านอาจจะรู้ตัวอยู่บ้าง หรือไม่รู้ก็แล้วไป
 
อีกเรื่องที่พูดได้ไม่รู้จบคือเรื่องการบริหารมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เรื่องใหญ่คือระบบประกันคุณภาพ ผมแตะผ่านๆ มาตลอดในเรื่องอื่นๆ ที่เขียนถึงมาแล้ว และจะให้สาธยายเจาะลงไปโดยตรงก็มีเรื่องให้พูดอีกมากมาย เช่นว่า นอกจากตัวระบบการนับคะแนนจะยุ่งขิงแล้ว วิธีการประกันคุณภาพเอง โดยเฉพาะตัวกรรมการประกันคุณภาพ และ "คุณภาพองกรรมการประกันคุณภาพ" ก็พูดกันได้เป็นวรรคเป็นเวร  หากใครอยากอ่านเรื่องพวกนี้ ก็หาที่ผมเคยเขียนเอาไว้แล้วในหลายๆ ที่อ่านก็แล้วกันครับ
 
ไม่ใช่แต่เฉพาะตัวระบบประกันคุณภาพ ระบบประเมินต่างๆ ที่ซ้อนทับกันยุ่งไปหมด ประกันคุณภาพดีแล้วยังไม่พอ ยังต้องมากรอก มคอ. ประกันมาตรฐานคุณวุฒิกันอีก เอาเฉพาะ มคอ. เองน่ะมั่วและลวงโลกขนาดไหน อย่างที่บอกแล้วคือ มคอ. น่ะ ต้องมี มคอ. 1 ถึง มคอ. 7 ทุกวันนี้หลกสูตรส่วนใหญ่มีแต่ มคอ. 2-7 ไม่มีหรอกครับ มคอ. 1 น่ะ บางหลักสูตรน่ะมี เพราะ สกอ. หาคนทำแล้ว แต่หลักสูตรอีกจำนวนมาก บรรดาคณะใหญ่ๆ อีกหลายคณะ โดยเฉพาะทางสังคมศาสตร์กับมนุษยศาสตร์น่ะ ไม่มีหรอก แล้ว มคอ. 3, 4, 5, 6 ที่กรอกๆ กันน่ะเอาไปไหน ก็เอาไปกองๆ ไว้ใต้ถุนตึกไหนสักตึกน่ะแหละ ไม่มีใครอ่านหรอก สกอ. ยังเคยบอกเองว่า ส่งมาก็ไม่อ่าน
 
ก็เลยขอพักการเขียนเรื่องนี้เอาไว้แค่ก่อน จะได้คิดเรื่องอื่นกันบ้าง เรื่องโลกวิชาการไทยน่ะ คิดไปก็ปวดหัวเปล่าๆ ปลี้ๆ ครับเพราะไม่มีทางแก้ และไม่มีใครอยากแก้ ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยไทยไต่เต้าขึ้นสู่อำนาจไปก็เพื่อรอรับส่วนบุญจากการรัฐประหารอย่างทุกวันนี้ ฉะนั้น โลกวิชาการไทยน่ะไม่มีวันก้าวไปสู่โลกวิชาการสากลได้ภายใน 20-30 ปีนี้หรอก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้