Skip to main content

ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย

ชื่อธรรมศาสตร์กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ผมรู้มาตั้งแต่จำความได้ เพราะเติบโตในกรุงเทพฯ มีความทรงจำลางเลือนวัยเด็กเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองกลางพระนคร และคนรอบตัวในครอบครัวก็สนใจการเมืองกันมาตลอด ส่วนหนึ่งที่เลือกเรียนธรรมศาสตร์ก็เพราะมีฮีโร่หลายคนที่นั่น 

ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ปี 2529 รู้จักงานฟุตบอลประเพณีฯ (สมัยนั้นเด็กธรรมศาสตร์จะเรียกว่า "งานบอลฯ") มาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม แต่ไม่ว่าจะก่อนหรือเมื่อเข้ามาเรียนแล้ว ผมก็ไม่เคยไปงานบอลฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียว ผมออกจะต่อต้านด้วยซ้ำ ผมเข้ามหาวิทยาลัยก่อนเพื่อนๆ มัธยมส่วนใหญ่ เมื่อกลับไปเที่ยวที่โรงเรียนช่วงงานบอลฯ เพื่อนคนไหนฝากซื้อเสื้อเชียร์งานบอลฯ ผมก็จะถามกลับไปว่า "มึงจะซื้อไปทำไม ในตู้เสื้อผ้ามึงไม่มีเสื้อผ้าจะใส่แล้วเหรอ" ไม่ใช่ว่าเพราะผมจะกีดกันพวกมัน แต่เพราะผมรังเกียจงานบอลฯ แล้วผมก็ไม่เคยซื้อเสื้อเชียร์งานบอลฯ สักตัวเดียว 

ทำไมผมถึงรังเกียจงานบอลฯ ผมคิดว่างานบอลฯ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการส่งเสริมการเล่นกีฬา หรือเพื่อผ่อนคลายจากการเรียน แต่งานบอลฯ แฝงไว้ด้วยการส่งเสริมคุณค่าระบบสถาบันนิยม คือเชิดชูจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ให้ดูเป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญ ยิ่งใหญ่ ไม่แข่งกับใครแต่แข่งกันเองเท่านั้น แล้วยังมีพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองด้วยพาเหรดล้อการเมือง ซึ่งผมก็มองว่าเป็นแค่น้ำจิ้ม ทำไปอย่างนั้นเองเพื่อให้ดูว่าปัญญาชนมีอะไรเสนอกับสังคม แต่ไม่ได้เป็นสาระอะไรมากมาย 

แถมงานบอลฯ ยังเป็นการส่งเสริมระบบอาวุโส ระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง เพราะจะต้องมีการซ้อมเชียร์ ไป "ขึ้นสแตน" ซ้อมแปรอักษร การฝึกความพร้อมเพรียงเหล่านี้ใช้ระบบเดียวกับทหาร ใช้การฝึกวินัยและการเชื่อฟังคำสั่งอย่างเด็ดขาด แต่ผมเห็นว่าความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ มีแต่จะยิ่งเสริมความเป็นสถาบัน และลดทอดการแลกเปลี่ยนโต้เถียงกันด้วยสติปัญญา ผมจึงไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว 

งานบอลฯ ยังเป็นงานที่สะท้อนสังคมสายลมแสงแดด กิจกรรมเชียร์ลีดเดอร์เป็นกิจกรรมของความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ เหมือนจำลองสังคมของการสร้างเซเล็บ สร้างชนชั้นขึ้นมาจากหน้าตาบุคคลิกของเชียร์ลีดเดอร์ มีการประกวดเชียร์ลีดเดอร์ มีสังคมฟุ้งเฟ้อของเชียร์ลีดเดอร์ การเป็นเชีบร์ลีดเดอร์งานบอลฯ กลายเป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มสาว ผมจึงคิดว่ากิจกรรมนี้กลับไปส่งเสริมการวัดคนที่หน้าตาท่าทาง มากกว่าความรู้ความคิด เป็นกิจกรรมที่ไม่ส่งเสริมการศึกษา เสมือนจัดการประกวดความงามและสร้างชนชั้นเซเล็บขึ้นมา 

ในธรรมศาสตร์ มีการถกเถียงกันประปรายบ้างหรือบางปีก็เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตบ้าง ว่าเราควรจัดงานบอลฯ กันต่อไปหรือเปล่า อย่างช่วงที่ผมเรียนปริญญาตรีอยู่ มีปีหนึ่งจัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายที่คัดค้านงานบอลฯ มาถกเถียงกันกันถึงประโยชน์กับโทษจากงานบอลฯ ปีนั้นอาจารย์นักพูดชื่อดังที่มีบุคคลิกเฉพาะตัวคนหนึ่งหลังๆ มาท่านใส่เสื้อสีเหลืองก็สละเวลามาร่วมเวทีด้วย แน่นอนว่าท่านเป็นฝ่ายสนับสนุนงานบอลฯ แต่ก็นับว่าช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันอย่างคึกคักทีเดียว หลังๆ มาผมไม่ทราบว่านักศึกษาจัดกิจกรรมลักษณะนี้กันบ้างหรือไม่  

สำหรับผม การที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ปีนี้พร้อมเพรียงกันแสดงออกทางการเมืองในลักษณะส่งเสริมประชาธิปไตย แสดงให้เห็นถึงอะไรหลายๆ อย่างที่ผมมองข้ามไป ที่ว่าพร้อมเพรียงคือ ไม่ใช่เฉพาะขบวนล้อเลียนการเมือง ซึ่งต้องฝ่าฟันอุปสรรคอย่างชัดเจนจนกระทั่งมีการงานแผนล่วงหน้าในการตบตาทหารตำรวจมาอย่างดี แต่ที่น่าทึ่งมากเข้าไปอีกคือการแปรอักษรบนอัฒจรรย์ ที่แสดงความเห็นทางการเมืองอย่างชัดเจน กิจกรรมนี้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียง ต้องมีการซักซ้อมกันมาก่อน และต้องอาศัยการประสานงานกันหลายฝ่าย แสดงว่าความเห็นของพวกเขาต้องตกผลึกกันมานานพอสมควร  

ที่ว่ามองข้ามไปคือ การปลูกฝังความคิดทางการเมืองอย่างต่อเนื่องอาจมีส่วนทำให้อุดมการณ์เหล่านั้นแทรกซึมเข้าไปในความรูสึกนึกคิดของนักศึกษาได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ การรู้สำนึกจนกระทั่งกล้าแสดงออกมาอย่างพร้อมเพรียงกันนี้ แสดงให้เห็นว่านักศึกษารับรู้ถึงผลกระทบของอำนาจเผด็จการที่กำลังทำงานเหนือพวกเขาขึ้นมาบ้างแล้ว พวกเขาคงเริ่มตระหนักว่าวันข้างหน้าเสียงของพวกเขาจะไม่ถูกรับฟัง พวกเขาคงเริ่มตระหนักบ้างแล้วว่า ความรู้ของพวกเขาจะไม่มีประโยชน์เลยหากต้องอยู่ในระบบที่ปิดกั้นการแสดงความเห็น พวกเขาคงเริ่มไม่ไว้ใจระบอบที่เป็นอยู่แล้วเริ่มสงสัยมากขึ้น และวันนี้พวกเขาคงได้รู้บ้างแล้วว่า เพียงแค่การขยับตัวแบบขำๆ ของพวกเขา ก็ยังแทบจะทำไม่ได้ ยังกลายเป็นอาญาแผ่นดิน 

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ปีนี้ร่วมมือร่วมใจกันประกาศว่าพวกเขาต้องการประชาธิปไตย พวกเขาเห็นว่าระบอบที่เป็นอยู่ไม่ใช่ประชาธิปไตย พวกเขาเรียกร้องให้คืนอำนาจให้ประชาชน และเหนือสิ่งอื่นใดคือ พวกเขาพร้อมเพรียงกันแสดงความกล้าหาญที่จะท้าทายอำนาจเผด็จการ นี่คือการแสดงออกอย่างสงบ อย่างที่ปัญญาชนพึงและพอที่จะกระทำได้ มากกว่านี้คืออะไรแล้วผลจะเป็นอย่างไร หวังว่าผู้มีอำนาจจะสำเหนียกและไม่ต้องรอให้ถึงวันนั้น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน