Skip to main content

รัฐบาลทหารไม่อยากให้ถูกเรียกว่าตนเองเป็นเผด็จการ เพราะยอมรับความจริงไม่ได้ว่า ที่ตนเป็นอยู่นั้นเป็นเผด็จการ เหมือนโจรที่ไม่อยากถูกเรียกว่าโจร เพราะไม่อยากรับความจริงว่าตนเองเป็นโจร รัฐบาลทหารอยากให้ประชาชนรักใคร่ ทั้งๆ ที่ยึดอำนาจ พรากสิทธิเสรีภาพไปจากประชาชน เหมือนโจรที่ปล้นของเขาไปแล้วจะให้เจ้าของเขามารักตนเองได้อย่างไร 

ทุกวันนี้ รัฐบาลทหารไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลทหารพยายามแยกตัวเองออกจากการเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง แต่กาลได้เผยให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลทหารกำลังผลักให้ตนเองกลายไปเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับกลุ่มคนสำคัญ 4 กลุ่ม 

หนึ่ง กลุ่มประชาชนคนยากคนจน คนเหล่านี้มีทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทหาร โดยเฉพาะเรื่องสิทธิที่ทำกิน และผู้ที่มีความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพดำเนินชีวิตผู้ต้องการให้รัฐบาลรับฟังปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องปากท้อง เรื่องผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลก่อนหน้า เช่น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล 

สอง กลุ่มเอ็นจีโอ คนกลุ่มนี้ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนมาตลอด เอ็นจีโอจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารตั้งแต่ต้น ในขณะนี้พวกเขายิ่งได้เห็นถึงปัญหาของการรัฐประหารจากการร่วมแก้ปัญหากับประชาชนผู้เดือดร้อนมาโดยตลอด พวกเขาจำนวนมากอยู่แนวหน้าของการต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชนเสียยิ่งกว่าองค์กรด้านสิทธิที่ได้รับเงินเดือนเป็นแสนจากภาษีของประชาชน   

สาม กลุ่มประชาชนทั่วไปผู้รักสิทธิเสรีภาพ คนเหล่านี้ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเสื้อแดง แต่พวกเขาคือประชาชนทั่วไปที่ต้องการให้ประเทศกลับเข้าสู่ระบอบการปกครองอย่างปกติ พวกเขาเพียงต้องการมีสิทธิแสดงอำนาจแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งและการแสดงออกทางการเมืองโดยสันติ  

สี่ กลุ่มนักศึกษาผู้รักประชาธิปไตย นักศึกษาเหล่านี้เรียนรู้อุดมการณ์ประชาธิปไตยโดยไม่จำเป็นที่จะต้องถูกปลูกฝังหว่านล้อมโดยใคร พวกเขามีความคิดเป็นของตนเอง พวกเขาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่ศึกษาอยู่ และเมื่อวันนี้ที่พวกเขารับรู้ถึงการถูกกักขังทางความคิด พวกเขาจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องขออำนาจคืน 

คนสี่กลุ่มนี้ไม่ได้มีโยงใยกับพรรคการเมือง คนสี่กลุ่มนี้รักประเทศชาติ รักประชาชน รักชีวิต รักสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ไม่ได้น้อยไปกว่าทหาร คนเหล่านี้เป็นพลเมืองผู้เสียภาษีให้ทหาร พวกเขาแสดงตนออกมาในวันนี้ก็เพื่อทวงคืนสิทธิในการปกครองตนเองของพวกเขา เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าอำนาจที่ทหารยึดไปนั้น เอาไปใช้อย่างสูญเปล่า ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับประเทศชาติอีกต่อไป 

นี่ยังไม่นับว่ารัฐบาลทหารกำลังสร้างความร้าวฉานในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ด้วยการคุกคามคนเสื้อแดง และผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย คุกคามนักการเมืองพรรคเพื่อไทย แต่กลับอวยอำนาจให้กับกลุ่มคนที่สนับสนุนให้โค่นล้มพรรคเพื่อไทย พร้อมๆ กับทำลายศักดิ์ศรีของสื่อมวลชนภาคสนามอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายสิบปี รวมทั้งยังใช้กฎหมาย ม. 112 อย่างบิดเบือนและก่อผลร้ายแรงต่อชีวิตประชาชนจำนวนมาก แถมยังพยายามคงอำนาจในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยพรบ.ดิจิทัล และการขยายอำนาจของศาลทหาร 

ยอมรับความจริงกันได้หรือยังว่า รัฐบาลทหารไม่ได้กำลังสู้อยู่กับนักการเมืองคอร์รัปชั่น รัฐบาลทหารล้มเหลวในการแก้ปัญหาทางการเมือง รัฐบาลทหารไม่ได้มีความเป็นกลางทางการเมือง รัฐบาลทหารไม่สามารถซื้อใจให้คนอีกจำนวนมากหันมารักได้ รัฐบาลทหารเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง  

รัฐบาลทหารกำลังสู้อยู่กับความรักชาติ รักประชาชน รักประชาธิปไตยของผู้คนอีกจำนวนมาก และวิธีจัดการกับคนรักชาติ รักประชาธิปไตย รักประชาชนด้วยการใช้กำลังรุนแรงแบบที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็กำลังยิ่งผลักให้รัฐบาลทหารเป็นศัตรูของประชาชนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์