Skip to main content

แนวโน้มของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แสดงให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจของประชาชนลง แนวโน้มนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมายของผู้เฝ้าติดตามการเมืองไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกระบวนการต่อเนื่องของการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2557 ที่เกิดปรากฏการณ์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือการชุมนุมทางการเมืองและใช้กำลังรุนแรงของมวลชนเข้าไปปิดล้อมทำลายการเลือกตั้ง 

ทำไมกลุ่มการเมืองบางกลุ่มจึงต้องทำลายการเลือกตั้ง คำตอบอย่างซื่อๆ ซึ่งอาจจะเป็นคำตอบของผู้ที่จงใจเข้าร่วมหรือมีส่วนสนับสนุนทางอ้อมให้เกิดการทำลายการเลือกตั้งก็คือ เพราะธุรการเลือกตั้งไม่ได้ดำเนินไปด้วยความสุจริต เที่ยงตรง เพราะมีการซื้อเสียงทำให้การลงคะแนนเสียงไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเมื่อนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศแล้ว พวกเขาเข้ามาโกงกินกอบโกยผลประโยชน์ หากแต่ว่าคำตอบเหล่านี้ละเลยข้อเท็จจริงหลายประการซึ่งเกินกว่าที่ข้อเขียนเล็กๆ นี้จะตอบโต้ 

แต่ประเด็นหนึ่งที่คำตอบลักษณะนี้มองข้ามไปและข้อเขียนนี้จะพยายามอธิบายก็คือ กลไกทางสังคมของการเลือกตั้งŽ ที่ดำเนินไปควบคู่กับความขัดแย้งในกระบวนการการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย 

ผมขอยกตัวอย่างจากงานวิจัยที่ผมเคยทำเมื่อปี 2554 ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตชนบทจังหวัดชัยภูมิ ขอเรียกว่า บ้านสหกรณ์Ž หมู่บ้านนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาหมู่บ้านอย่างยิ่ง เป็นหมู่บ้านที่มีคนมาดูงานสม่ำเสมอ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าบ้านสหกรณ์สามารถจัดระบบการเงินและการลงทุนได้อย่างดีเยี่ยม จนชาวบ้านแทบทุกคนยินดีร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์การเงินของหมู่บ้าน ด้านหนึ่ง หมู่บ้านนำเงินกองทุนของหมู่บ้านไปลงทุนสร้างลานรับซื้อผลผลิต สร้างโรงสีชุมชน อีกด้านหนึ่ง หมู่บ้านให้สมาชิกกู้เงินและรับออมเงินของสมาชิก สมาชิกยังจะได้เงินปันผลที่ให้แก่สมาชิกและดอกเบี้ยจากการออมเงิน 

นับเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้วที่ระบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาในบ้านสหกรณ์ จนทุกวันนี้เงินกองทุนนี้เติบโตขึ้นทุกปีๆ จนแทบจะทำให้แหล่งเงินกู้นอกระบบหายไปจากหมู่บ้าน ส่วนลานรับซื้อผลผลิตนั้น มีบทบาทเป็นเสมือนพ่อค้าคนกลาง แทนที่ชาวบ้านรายย่อยแต่ละรายจะนำผลผลิตการเกษตรไปขายให้ลานรับซื้อเอกชนด้วยตนเอง การนำผลผลิตมาขายให้ลานรับซื้อของหมู่บ้านช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้หมู่บ้าน และให้ความเชื่อมั่นกับชาวบ้านในการนำผลผลิตทางการเกษตรมาขาย นอกจากนั้น ชาวบ้านยังรู้สึกว่าตนเองก็ร่วมเป็นเจ้าของกิจการนี้ด้วย 

จึงกล่าวได้ว่า บ้านสหกรณ์ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบสหกรณ์ของชุมชนขึ้นมาจนอยู่รอดได้ในท่ามกลางกระแสของการไหลเวียนทางการเงิน ทุน และการตลาดในระบบทุนนิยมปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องถอยหลังไปหาระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองแบบทำแค่อยู่แค่กินอย่างที่บางคนเสนอว่านั่นเป็นทางออกเดียวของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจชนบทไทย หากแต่การพึ่งตนเองในระบบตลาดเสรีก็สามารถช่วยให้บ้านสหกรณ์อยู่รอดได้ดีเช่นกัน 

ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของกิจการนี้ไม่ได้มาจากเพียงแค่การมีเงินกองทุนของหมู่บ้าน หากแต่ได้มาด้วยระบบการบริหารจัดการที่เข้มแข็งและชาญฉลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มาด้วยการมีภาวะผู้นำของผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกสภาตำบลที่มาจากการเลือกตั้งของชาวบ้านเอง ผู้ใหญ่บ้านบ้านสหกรณ์ได้รับเลือกตั้งมาต่อเนื่องในระยะสิบกว่าปีที่โครงการสหกรณ์นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมา ชาวบ้านเล่าถึงกระบวนการการเลือกตั้งที่นำผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันขึ้นมาสู่ตำแหน่งว่า เป็นผลมาจากการโค่นอำนาจของผู้ใหญ่บ้านคนก่อนหน้า ที่ชาวบ้านเห็นว่าไม่สามารถช่วยพัฒนาหมู่บ้านได้ ชาวบ้านจึงสร้างเครือข่ายขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันได้รับเลือกตั้ง 

เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ผู้ใหญ่คนนี้ก็จัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน ที่ประกอบด้วยตัวแทนจาก คุ้มŽ บ้าน หรือหน่วยย่อยของหมู่บ้านที่เป็นตัวแทนชาวบ้านสัก 10-15 ครัวเรือนรอบๆ หมู่บ้าน รวมทั้งผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านอย่างสมาชิกสภาตำบลของหมู่บ้าน ได้แก่ ผู้ที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ เช่น ครูและผู้ที่มีความสามารถอื่นๆ เช่น เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จทางการผลิตและการตลาด เข้ามาร่วมเป็นกรรมการผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้าน มีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างระบบที่ชาวบ้านเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำที่ไม่เพียงนิสัยดี บุคลิกดี และพูดเก่ง หากแต่ยังเป็นนักธุรกิจการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ สามารถเก็งกำไรจากการค้าผลผลิตการเกษตรได้อย่างแม่นยำ และมีเครือข่ายการค้าที่ถูกแปลงมาเป็นทุนทางเศรษฐกิจ ช่วยเหลือกิจการของชุมชนได้ คุณสมบัติเหล่านี้ช่วยให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากการขายสินค้าการเกษตรให้ลานรับซื้อผลผลิตจากชุมชนเป็นอย่างดี 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ใหญ่บ้านคนนี้จะเป็นที่รักของชาวบ้านมากแค่ไหน มีเกร็ดน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านมักเล่าให้ผมฟังเมื่อไปทำวิจัยว่า เคยมีกลุ่มนายอำเภอจากต่างจังหวัดมาเยี่ยมชมกิจการของบ้านสหกรณ์ นายอำเภอคนหนึ่งในคณะที่มานั้นเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง เมื่อเห็นผู้ใหญ่บ้านคนนี้ซึ่งเป็นคนแต่งตัวง่ายๆ ใส่เสื้อยืด กางเกงเก่าๆ รองเท้าแตะ ไปต้อนรับบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ นายอำเภอคนนั้นก็ไม่พอใจ แล้วตำหนิว่าทำไมผู้ใหญ่บ้านจึงแต่งตัวไม่เรียบร้อย ไม่ให้เกียรติผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่บ้านก็เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจนเปรยกับชาวบ้านว่าอยากจะลาออก ในที่สุดชาวบ้านบ้านสหกรณ์จึงรวมตัวกันไปเรียกร้องที่จังหวัด ให้ดำเนินการให้นายอำเภอคนนั้นมาขอโทษผู้ใหญ่ของพวกเขา 

ชาวบ้านคนหนึ่งที่เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังกล่าวด้วยความคับแค้นใจตอนหนึ่งว่า คุณเป็นใคร ทำไมจึงมาดูถูกผู้ใหญ่บ้านที่เราเลือกตั้งมาได้ พวกเราไม่ยอม ต้องมาขอโทษŽ เรื่องจบลงที่ว่านายอำเภอคนนั้นมาขอโทษผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่ก็ยังคงทำงานอยู่ต่อมา 

แม้ว่ากรณี้นี้จะเป็นกรณีเล็กๆ และค่อนข้างเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเป็นพิเศษ แต่ก็แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าการเลือกตั้งเป็นกลไกสร้างสังคมแบบใดขึ้นมา 

ประการแรก สังคมที่ประชาชนกำหนดชีวิตตนเอง การเลือกตั้งช่วยให้ประชาชนกำหนดวิถีชีวิตตนเองได้ ชาวบ้านแห่งบ้านสหกรณ์เลือกทิศทางการพัฒนาว่าจะดำเนินชีวิตในระบบการตลาดอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เมื่อผู้ใหญ่บ้านคนนี้มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์จากการดำเนินกิจการของตนเอง และแสดงให้เห็นว่ารับผิดชอบงานส่วนรวมจนพัฒนาหมู่บ้านให้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้ดี ชาวบ้านจึงให้ความไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือการบริหารทรัพยากรของชุมชน ในที่นี้คือกองทุนต่างๆ ที่ชาวบ้านล้วนมีส่วนลงทุนกันเองนั้น ได้รับการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพและตอบแทนกลับมายังชุมชนอย่างได้ผลชัดเจน ทำให้ชาวบ้านมองเห็นว่า ผู้นำที่เขาเลือกตอบโจทย์ที่พวกเขาต้องการได้เป็นอย่างดี นี่คือคุณค่าที่ชาวบ้านเลือก ไม่ใช่แค่เป็นผู้นำที่อ้างว่ามีคุณธรรมอย่างเลื่อนลอย และไร้หลักประกันว่าจะสามารถก่อประโยชน์อะไรถึงปากถึงท้องชาวบ้านได้ 

ประการที่สอง สังคมที่แก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ การเลือกตั้งมีกระบวนการผ่อนคลายความขัดแย้งอย่างสันติ เมื่อย้อนกลับไปก่อนหน้าที่หมู่บ้านจะได้ผู้ใหญ่คนนี้ ชาวบ้านมีความขัดแย้งกันในการยอมรับ-ไม่ยอมรับผู้นำ ผู้นำคนเก่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้ แต่เพื่อที่จะเปลี่ยนตัวผู้นำ ชาวบ้านอาศัยกระบวนการการเลือกตั้งในการแก้ปัญหา กระบวนการนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของชาวบ้านหลายๆ คน ผ่านการถกเถียงพูดคุย ผ่านการแลกเปลี่ยนความเห็นจนเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง มีการระดมสร้างเครือข่ายสนับสนุนผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ที่พวกเขาคิดว่าจะนำประโยชน์มาสู่หมู่บ้านได้มากกว่า แล้วก็ใช้การเลือกตั้งเพื่อยืนยันให้ผู้ใหญ่คนนี้อยู่ในตำแหน่งสืบมา ทำให้ผู้ใหญ่คนนี้ได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องมาหลายสมัยแล้ว แม้ในสมัยที่ผู้ใหญ่บ้านยังต้องได้รับเลือกตั้งตามวาระ ไม่ใช่อยู่ในวาระจนเกษียณอายุราชการแบบในปัจจุบัน การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการทางสังคมที่อาศัยเวลาและอาศัยการถกเถียงแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เพียงแค่การเข้าคูหาลงคะแนนไม่กี่วินาที 

ประการที่สาม สังคมที่คนเท่ากัน การเลือกสร้างสังคมที่ยอมรับให้คนเท่ากัน เท่ากันทั้งในอำนาจในการเลือก และเท่ากันในโอกาสที่จะได้รับเลือกให้บริหารชุมชน การเลือกตั้งจึงสร้างระบบคุณค่าที่ทำให้คนต้องยอมรับความเท่าเทียมกันนี้ ดังจะเห็นได้ว่าผู้ได้รับเลือกตั้ง ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรก็ยังได้รับการยกย่องนับถือ ไม่ได้ต่างไปจากข้าราชการ การที่ชาวบ้านไม่พอใจข้าราชการที่ดูถูกผู้ใหญ่ที่พวกเขาเลือกมา คือการแสดงออกว่าชาวบ้านต้องการให้คนจากระบบราชการยอมรับคนจากระบบเลือกตั้ง 

และน่าจะหมายถึงด้วยว่า ชาวบ้านต้องการให้ข้าราชการยอมรับอำนาจการตัดสินใจ ยอมรับศักดิ์ศรีของชาวบ้าน ที่แสดงออกผ่านตัวแทนของเขา คือผู้ใหญ่บ้านที่พวกเขาเลือกกันมาเอง 

โดยสรุปแล้ว การเลือกตั้งทำลายการผูกขาดการตัดสินใจ การเลือกตั้งเป็นกลไกการบริหารประเทศที่ไม่ยอมรับว่ามีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่รู้ดีว่าสังคมต้องการอะไร ไม่เชื่อว่ามีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่เก่งกว่าคนส่วนใหญ่จนสามารถกำหนดชะตาชีวิตคนอื่นได้ การเลือกตั้งนั้นไปด้วยกันไม่ได้กับแนวคิดที่ว่าต้องใช้กำลังอาวุธในการขจัดความขัดแย้ง การเลือกตั้งมีส่วนท้าทายสังคมที่ยกย่องคนบางกลุ่มว่าสูงเหนือคนส่วนใหญ่ของประเทศ การเลือกตั้งท้าทายสังคมชนชั้นสูง 

ใครที่ไม่ต้องการการเลือกตั้งจึงเป็นกลุ่มคนที่เป็นปฏิปักษ์กับแนวคิดอำนาจเป็นของประชาชน ไม่ยอมรับการแก้ปัญหาอย่างสันติ และไม่ยอมรับหลักการคนเท่ากัน  ใครที่อยากรักษาฐานะอภิสิทธิ์ชนไว้ ใครที่นิยมอำนาจปืน ใครที่เห็นคนไม่เท่ากัน จึงเกลียดกลัวการเลือกตั้ง 

(ที่มา:มติชนรายวัน 9 มีนาคม 2558)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้