Skip to main content

เรื่องไม่เป็นเรื่องบางครั้งก็ชวนให้น่ารำคาญ ทำให้ต้องมาคอยอารัมภบทออกตัวมากมาย ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น 

ลำพังผมน่ะ เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ไม่ได้รับเงินเดือนจากประเทศไทย ทำงานหามรุ่งหามค่ำที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังต้องจ่ายภาษีรายได้บางส่วนให้ประเทศไทย แถมกลับไปยังต้องใช้ทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าของเวลาที่ลามา ใครต่อใครในประเทศไทยจะไม่สนุกด้วยก็แล้วแต่ แต่ผมก็ยินดีรับหน้าที่ตามโอกาสที่ได้รับหลังการรัฐประหาร แม้จะทำให้พลาดโอกาสอื่นๆ ไปอีกมากก็ตาม 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วง spring recess คือการหยุดหนึ่งสัปดาห์ระหว่างภาคการศึกษาที่สองของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา แต่ละมหาวิทยาลัยจะหยุดไม่ตรงกัน มหาวิทยาลัยวิสคอนซินที่ผมสอนอยู่น่ะ หยุดสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนผมน่ะแค่หยุดสอน แต่ไม่ได้หยุดทำงาน เพราะต้องไปงานสัมมนาวิชาการสองงานติดๆ กัน  

แห่งหนึ่งคืองานประชุมประจำปีของสมาคมเอเชียศึกษา (AAS) ปีนี้เขาจัดที่เมืองชิคาโก หลังจากสอนเสร็จเย็นวันพฤหัสบดี ผมก็ลากกระเป๋าไปขึ้นรถบัส 3 ชั่วโมง ไปถึงชิคาโกแสนหนาวยามดึกดื่น แล้วอยู่ประชุม 3 วัน ผมเสนองานวันอาทิตย์ ซึ่งก่อนจะเสนองาน ก็ตระเตรียมเสียดึก เพราะกลัวว่าจะไม่เป็นระบบ ไม่ชัดเจน ด้วยเวลานำเสนอเพียง 20 นาที แต่เตรียมไปถึงตี 3 ของอีกวัน แล้วก็ต้องไปเสนองานตั้งแต่ 8 โมงเช้า ไม่อยากบอกก็คงต้องบอกให้รู้กันว่ามันไม่ได้สบายๆ เดินไปที่ประชุม แต่ผมต้องตื่น 6 โมง อาบน้ำแต่งตัว ขึ้นรถไฟ ต่อรถเมล์ เดินฝ่าลมหนาวไปโรงแรมที่ประชุมแต่เช้าเพื่อให้ทันเวลาเริ่มประชุม 

จากนั้นก็ดีหน่อยที่พอจะมีเวลาพักที่ชิคาโกอีก 1 วัน จึงได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อีก 2 แห่ง (เอาไว้ค่อยหาโอกาสมาเล่าใหม่) แล้วก็วิ่งไปเมืองบอสตันและเคมบริจด์ เพื่อไปร่วมประชุมทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในอีก 2 วันถัดมา กว่าจะไปถึงก็ดึกดื่นเที่ยงคืนกว่า เพราะเครื่องบินล่าช้า ไปพักกับเพื่อนอาจารย์ที่จะประชุมด้วยกันหนึ่งคืน ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะลากกระเป๋าย้ายไปเข้าพักโรงแรมที่มหาวิทยาลัยจัดให้ ซึ่งดีที่อยู่ใกล้ที่ประชุมในวันถัดมา ในงานนี้ ผมร่วมนำเสนอด้วยคนหนึ่ง เป็นผลงานที่เริ่มศึกษาใหม่ และก็เป็นคนละเรื่องกันกับที่เสนอที่ชิคาโก

เอาล่ะ เล่าปูพื้นให้ดูดราม่าน่าเห็นใจกันบ้าง แทนการอวดชีวิตการดื่มกินความสำราญ ราวกับทิ้งการงานจากกรุงเทพฯ มาเที่ยวเล่นสนุกสนาน แล้วเมื่อไปพิพิธภัณฑ์แต่ละทีน่ะ มันก็เป็นการเป็นงานทั้งนั้น ถ้ามันยังไม่เป็นประโยชน์ในวันนี้ ก็จะเป็นในวันข้างหน้า ก็ช่วยไม่ได้ที่ประเทศไทยไม่ฉลาดพอที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เอาไว้ให้การศึกษากับประชาชน ผมก็เลยตื่นตาตื่นใจกับประเทศที่เขามีพิพิธภัณฑ์ไปทั่ว แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยบางแห่งอย่างที่ฮาร์วาร์ด (จะว่าอวดที่ได้มาก็ได้ เพราะอยากอวดสิ่งที่ดีๆ ถ้าไม่อยากรู้ ก็ไม่ต้องอ่านกัน ก็เท่านั้นเอง) 

ในระหว่างที่มีเวลาครึ่งวันที่เมืองเคมบริดจ์ ผมก็รบกวนเพื่อน ซึ่งก็คือดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ (เป็นการรบกวนจริงๆ เพราะต้องพึ่งให้เขามาเหนื่อยและเสียเวลาเดินด้วย แถมยังได้เข้าฟรีในฐานะแขกของเพื่อนซึ่งไปเป็นนักวิชาการอาคันตุกะที่นั่น) เพื่อนพาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ถึง 4 แห่งด้วยกัน รวมเข้ากับคราวก่อนที่ไป มฮ. แล้วก็รวมเป็นว่าได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ มฮ. ถึง 5 แห่งด้วยกัน แต่ละแห่งผมไม่มีเวลาอ่านข้อมูลอะไรมากมายเพราะเวลาดูน้อยมาก เนื่องจากมีโอกาสอยู่ที่เมืองนี้ไม่กี่วันก็ต้องกลับมาสอนหนังสือต่อ 

แห่งแรกที่ไปคราวก่อนคือ Peabody Museum พิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยาแห่งนี้สะสมของเกี่ยวกับชนพื้นเมืองอเมริกัน หรือชาวอเมริกันอินเดียนนั่นแหละ ของที่น่าสนใจมากสำหรับผมคือภาพวาดบันทึกชีวิตของชาวอินเดียน ที่มักวาดเกี่ยวกับการรบบนหลังม้า นอกจากนั้นก็มีเสาโทเทม แบบจำลองเล่าเกี่ยวกับพิธีกรรมบ้าง วิถีชีวิตที่น่าสนใจอย่างการล่าปลาวาฬบ้าง แล้วก็มีเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ นอกจากนั้น พิพิธภัณฑ์นี้ยังมีอาวุธแปลกๆ จากที่ต่างๆ ทั่วโลก ผมเดาว่าเดิมคงเป็นของสะสมของใครสักคน อาวุธจากบางถิ่นน่าสนใจ อย่างอาวุธที่ทำจากฟันปลาฉลาม 

ในการมา มฮ. ครั้งที่สอง ผมเข้าชมพิพิธภัณฑ์อีก 4 แห่ง แห่งแรกคือ Semitic Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยโลกยุคโบราณของเขตวัฒนธรรมเซมิทิก ครอบคลุมชาวอิสราเอล อียิปต์ โฟนีเชียน อราเมียน บาบิโลเนียน อาหรับ และอื่นๆ พิพิธภัณฑ์นี้เอาของสะสมทั้งของอาจารย์ที่ฮาร์วาร์ดเอง และมีของจำลองจากของจริงจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ที่น่าสนใจคือโลงไม้ที่ใช้บรรจุมัมมี่ ซึ่งน่าจะเป็นของจริง แต่สีสัน วัสดุ ดูคงทนมาก แม้ว่าจะตกทอดมาเป็นพันปี ในส่วนของวัตถุจำลอง เช่น หลักจารึกกฎหมายฮามูราบี ซึ่งเพื่อนที่พาไปอธิบายว่าเป็นกฎหมายที่จารึกเป็นชิ้นแรกของโลก วัตถุจำลองเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงว่า พิพิธภัณฑ์นี้น่าจะถูกใช้เพื่อการศึกษา ให้นักศึกษาได้เห็นของที่เสมือนของจริง ไม่ได้มุ่งเก็บของเก่าเท่านั้น 

 

 

แห่งต่อมาคือ Harvard Museum of Natural History ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่โตมาก มีวัตถุตามธรรมชาติและสิ่งประดิษฐ์จัดแสดงมากมาย นอกจากพิพิธภัณฑ์แร่ที่อุดมไปด้วยหินชนิดต่างๆ แล้ว ยังมีห้องแสดงแมลง ที่มีกระทั่งแมลงสาบหลากพันธ์ุ ห้องแสดงสัตว์สตัฟฟ์ กระดูกสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่มีกระทั่งกระดูกไดโนเสาร์ และที่โดดเด่นน่ามหัศจรรย์อีกอย่างคือ แก้วเป่าเป็นตัวอย่างพืชพันธ์ุต่างๆ ที่มีขนาด รูปทรง สีสัน สมจริงอย่างเหลือเชื่อ เพื่อนที่พาไปชมเล่าว่า มฮ. จ้างให้ช่างเป่าแก้วจำลองพืชพันธ์ุเหล่านี้เพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยน่าสังเกตว่า แก้วเป่าจำลองพืชหลายๆ ชนิดที่แสดงอยู่นี้ มักเป็นพืชจากเขตร้อนชื้น ช่างเป่าทำได้เหมือนจริงมาก ทั้งอ่อนช้อย ทั้งละเอียดลออ และได้สัดส่วนที่งดงามสมจริงมาก 

จากนั้นผมไปชม Putnam Gallery ซึ่งไม่เชิงว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ก็เก็บสะสมและจัดแสดงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ตั้งแต่ยุคเครื่องกลจนถึงยุคอิเล็คทรอนิก ที่น่าตื่นเต้นคืออุปกรณ์ยุคเครื่องกล บางชิ้นมีอายุเกือบ 200 ปีเลยทีเดียว อย่างอุปกรณ์ที่แสดงระบบสุริยจักรวาล อุปกรณ์เหล่านี้ผมดูไม่ค่อยเข้าใจ อ่านก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง เพียงแต่ทึ่งกับการเก็บสะสมเครื่องมือที่แสดงพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยไปพร้อมๆ กัน ทึ่งกับการที่วิทยาศาสตร์ยุคก่อนมีจินตนาการในการแสดงและค้นหาความจริงทางวัตถุที่เห็นหรือจับต้องไม่ได้ง่ายๆ  

แห่งสุดท้ายที่ไป ก่อนที่ทั้งผมและเพื่อนจะหมดเรี่ยวแรงและเราก็หมดเวลาสำหรับการเยี่ยมชม ก็คือ Fogg Museum of Art ถึงตอนนี้ทั้งสองคนเหนื่อยมากแล้ว ผมก็เลยเลือกดูเฉพาะห้องศิลปะยุคโมเดิร์น ซึ่งก็มีงานเด่นๆ ของศิลปินที่ชื่นชอบอยู่หลายชิ้น แค่ได้ดูงานของคนเหล่านี้ไม่กี่ชิ้นอย่างใกล้ๆ ชนิดได้เห็นรอยฝีแปรงและสีสันอย่างชัดเจน แถมถ่ายรูปได้ด้วย แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ที่จริงพิพิธภัฑณ์แห่งนี้ยังมีศิลปะวัตถุยุคอื่นๆ อีกมากมาย จัดแสดงในอาคาร 3-4 ชั้นก็ไม่รู้แน่ แต่เพราะเหน็ดเหนื่อยมากและหมดเวลาแล้ว ก็เลยต้องยกยอดเอาไว้เมื่อไหร่มีโอกาสมาอีกก็คงจะได้มาชมผลงานเหล่านั้นในชั้นอื่นๆ บ้าง 

 

หลังชมพิพิธภัณฑ์ได้ยังไม่ครบทั้ง 5 แห่ง ผมก็อุทานในใจแล้วว่า ผมยอมรับมหาวิทยาลัยแห่งนี้จริงๆ ที่ว่ามีชื่อเสียงน่ะ ไม่ใช่แค่ว่าเพราะความสามารถทางวิชาการ เงินทุนสูง เพียงเท่านั้น แต่ยังมีการสะสมความรู้ การลงทุนจัดแสดงต่อสาธารณะ การศึกษาจากวัตถุจริงและจำลอง การรักษาวัตถุเหล่านี้  

ผมว่า ลำพังพิพิธภัณฑ์ทางด้านชาติพันธ์ุวิทยา ด้านศิลปะ ด้านโบราณคดีเอเชียตะวันออกใกล้ ด้านธรรมชาติวิทยา และวิทยาศาสตร์ ทั้ง 5 แห่งนี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็นับได้ว่ามีขุมความรู้มากกว่าบางประเทศที่แทบไม่มีพิพิธภัณฑ์เหล่านี้สักแห่งเลยด้วยซ้ำ แถมที่มีอยู่ก็ล้วนแล้วแต่ด้อยคุณภาพทั้งวัตถุจัดแสดงและความรู้ในการจัดแสดงด้วยซ้ำ ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อให้ศึกษาจากเขาแล้วพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ให้ต้องไปกราบกรานเชิดชูบูชาเขา

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน