Skip to main content

สิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่มีรากฐานอยู่ในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไทยมาเนิ่นนาน น่าจะนานไม่น้อยไปกว่าแนวคิดประชาธิปไตย หากแต่น่าสงสัยว่า ทำไมแนวคิดนี้จึงยังไม่เป็นที่เข้าใจกันเสียที 

ผมคิดว่าส่วนสำคัญเป็นเพราะแนวคิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็เหมือนกับแนวคิดสากลอื่นๆ ที่ยังเป็นแนวคิดที่ป้อนลงมาจากเบื้องบนของสังคม สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจึงมีลักษณะที่เลือกสรร เป็น "selective human rights" ที่เลือกใช้ปฏิบัติเฉพาะกับคนบางกลุ่มเท่านั้น

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา โครงการไทยศึกษา แห่งศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดการประชุมเรื่อง "สิทธิมนุษยชนและการปกครองประจำวันในประเทศไทย : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" (Human Rights and Everyday Governance in Thailand: Past, Present and Future) ผมได้รับเชิญไปร่วมเสนอบทความร่วมกับนักวิชาการจากประเทศไทย สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ และกรีซ นักวิชาการแต่ละคนมีประเด็นนำเสนอเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจากมุมมองและปรากฏการณ์ที่แตกต่างกันไป

สำหรับผมเอง ได้ตั้งคำถามต่อพัฒนาการของการเข้าใจปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ ไม่ถูกนำไปใช้อย่างเสมอเหมือนกันทั่วไป ผมเริ่มต้นการบรรยายด้วยการตั้งข้อสังเกตต่อคำให้สัมภาษณ์ ของพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมากร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เพิ่งกลับจากการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 28 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า 

"ผมได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมยืนยันประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก เพื่อทำให้ประเทศมั่นคง ประชาชนอยู่อย่างสุขสบาย ไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้หญิง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ แรงงานย้ายถิ่น จะต้องได้สิทธิที่เท่าเทียมกัน รวมไปถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายก็ได้มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องถึง 1 ล้าน 6 แสนคน ซึ่งเรื่องนี้ได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศ ที่ทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองและได้รับการบริการทางสังคมอย่างทั่วถึงตามหลักมนุษยธรรม" (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1425479774

นอกเหนือจากถ้อยคำที่พยายามแก้ต่างกับการที่นานาชาติประณามการใช้แรงงานอย่างทารุณกรรมในประเทศไทยแล้ว คำกล่าวนี้ยังแฝงนัยน่าสังเกตอีกหลายประการด้วยกัน หนึ่ง สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่อง "ความมั่นคง" ด้วย หากแต่ในคำกล่าวนี้ เราไม่มีทางมั่นใจได้ว่าความมั่นคงที่ว่าหมายถึงความมั่นคงของใคร หากเป็นความมั่นคงของชาติ ก็น่าสงสัยว่าความมั่นคงของชาติจะสำคัญกว่าสิทธิมนุษยชนหรือไม่ หรือน่าสงสัยว่า รัฐบาลทหารจะละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อความมั่นคงของชาติหรือไม่ สอง สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิของคนกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ แรงงานย้ายถิ่น สิทธิมนุษยชนกลับไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่สิทธิในการแสดงออก ไม่ใช่สิทธิทางการเมือง อันเป็นสิทธิมนุษยชนที่โลกสากลให้ความสำคัญ 

สาม สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ประธานให้จากผู้มีอำนาจ ไม่ใช่สิทธิที่มีมาแต่กำเนิด นัยนี้สืบเนื่องมาจากประเด็นก่อนหน้า 

เนื่องจาก "ผู้ด้อยอำนาจ" ปราศจากสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนจึงได้รับการหยิบยื่นมาให้จากผู้มีอำนาจ

อาจกล่าวได้ว่า นี่คือความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของคณะรัฐประหารในขณะนี้ ที่น่าสนใจคือ ความเข้าใจต่อสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้เป็นความเข้าใจในลักษณะเดียวกันกับความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในความหมายทั่วไปในภาษาไทย ในภาษาไทย คำว่า "สิทธิ" มักหมายถึงการครอบครองอำนาจพิเศษ เราบอกว่า "มีสิทธิ" สิทธินี้ไม่ได้หมายถึงฐานะขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่กำเนิด หากแต่เป็นอำนาจที่ได้มาจากการบรรลุอะไรบางอย่าง พูดง่ายๆ คือ สิทธิในความหมายไทยคือสิ่งที่จะต้องแสวงหามาให้ได้ ในขณะที่สิทธิในความหมายสากลคืออำนาจที่มีอยู่แล้วในตัวของทุกคน ดังนั้น สำหรับคนไทย สิทธิไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าถึงได้ตามธรรมชาติ หากแต่สิทธิเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการหยิบยื่นให้ 

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ที่เป็นอย่างนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการยืมคำว่า "สิทธิ" จากภาษาสันสกฤต มาใช้แปลคำว่า right ในภาษาอังกฤษ หรือ droit ในภาษาฝรั่งเศส ความหมายของคำว่าสิทธิในภาษาสันสกฤตนั้นแปลว่า "การบรรลุถึง" "การได้ครอบครอง" มากกว่าจะหมายความแบบในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึง "ความถูกต้อง" "ความเป็นธรรม" "ความสมบูรณ์" พร้อมๆ กับที่จะหมายถึง "การปกครอง" และ "อำนาจ" ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากไล่เรียงดูประวัติของแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่ได้รับการสถาปนาอย่างชัดเจนก็ดูจะเป็นแนวคิดที่แสดงไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 (ค.ศ.1932, พ.ศ.2475) แนวคิดนี้เห็นได้ชัดว่าสืบทอดความหมายของสิทธิแบบสากลมาจากประกาศอิสระภาพของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ.1766, พ.ศ.2309) และประกาศสิทธิมนุษย์และพลเมืองของฝรั่งเศส (ค.ศ.1789, พ.ศ.2332) ทั้งสองคำประกาศซึ่งส่งอิทธิพลไปทั่วโลกนี้ ต่างก็แสดงนัยที่ชัดเจนว่าสิทธิเป็นอำนาจที่ติดตัวมาแต่กำเนิดของมนุษย์ ดังคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐ ตอนหนึ่งกล่าวว่า "We hold these truths to be self-evident; that all men are created equal." (เราถือว่าความจริงข้อนี้ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ คือความจริงที่ว่า คนทุกคนถูกสร้างมาเท่ากัน) หรือประกาศสิทธิมนุษย์และพลเมืองของฝรั่งเศสที่ว่า "Men are born and remain free and equal in rights." (มนุษย์เกิดมาเสรีและมีสิทธิเท่าเทียมกัน) 

ส่วนประกาศคณะราษฎร ตอนสำคัญตอนหนึ่งกล่าวว่า "จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน" (น่าสังเกตว่า ภายหลังทศวรรษ 2510 ข้อความในวงเล็บถูกตัดออกไป) อย่างไรก็ดี นัยของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่เคยสอดคล้องกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานดังกล่าว ต่อมาได้ถูกดัดแปลงไปจนกลายเป็นสิทธิมนุษยชนแบบเลือกสรร

แนวคิดสิทธิมนุษยชนได้ถูกนำไปสู่การปฏิบัติในประเทศไทยอย่างชัดเจนขึ้นเมื่อมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 น่าเสียดายที่คณะ กสม. ชุดแรก ที่มีศาสตราจารย์เสนห์ จามริก ผู้ซึ่งนับได้ว่าบุกเบิกวงการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นประธาน ต้องพ้นวาระไปอย่างไม่สง่างาม เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งเกินอายุไปกว่า 2 ปี จึงมีผู้ฟ้องร้องจนต้องมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้ออกจากตำแหน่ง (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1235044785

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์เสน่ห์คือตัวอย่างหนึ่งของผู้ซึ่งปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนอย่างเลือกสรร ดังจะเห็นได้ว่า หนึ่งวันหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เขากล่าวถึงการรัฐประหารว่า "มันคือทางออก" (http://www.prachatai.com/journal/2006/09/9727) 

ท่าทีต่อการใช้อำนาจดิบทำรัฐประหารล้มอำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชนในลักษณะนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า แม้แต่ปรมจารย์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยก็ยังไม่อาจเข้าใจว่า สิทธิในการเลือกผู้แทนของตนเองเป็นสิทธิทางการเมืองที่รับรองความเท่าเทียมกันของประชาชน และยังเป็นหลักประกันในการตรวจสอบควบคุมผู้แทนของตนเอง ในขณะที่การรัฐประหารริบสิทธิเหล่านั้นไปจากประชาชนหมดสิ้น

ฉะนั้น แม้ว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนจะได้รับการพัฒนาขึ้นมาในประเทศไทยแล้ว แต่นักสิทธิมนุษยชนไทยก็ยังเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แล้วเบี่ยงเบนหันไปคุ้มครองสิทธิด้านอื่นๆ เช่น สิทธิด้านการกินอยู่ การเข้าถึงทรัพยากร หรือปัญหาการใช้ความรุนแรงที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยรัฐ ดังจะเห็นได้จากการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกสม.ชุดที่สอง ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน หลังการปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 กสม.เขียนรายงานเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) เมื่อปี พ.ศ.2554 ว่า ในการสลายการชุมนุม ยังมีความคลุมเครือว่าการตายเกิดจากการละเมิดของฝ่ายใด (ดูข้อ 11 ของรายงาน) 

หากแต่ก็กลับสรุปไปทันทีว่า ในการชุมนุมของ นปช. "มีรายงานว่าสงสัยว่าจะใช้ความรุนแรงและละเมิดกฎหมาย อีกการปิดกั้นสถานที่ ถนน และใช้กำลังบุกเข้าโรงพยาบาล ก่อให้เกิดความเกลียดชัง และหวาดกลัวว่าจะใช้ความรุนแรง" (ดูข้อ 11 ของรายงาน) 

นอกจากนั้น รายงานดังกล่าวยังไม่ได้เอ่ยถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนของประมวลกฎหมายอาญาบางมาตราเลย 

ผมเสนอในที่ประชุมวิชาการที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดว่า สิทธิมนุษยชนเลือกสรรนั้นมีลักษณะเฉพาะอย่างไรบ้าง กล่าวคือ ประการแรก ลักษณะเชิงอุปถัมภ์ สิทธิมนุษยชนเลือกสรรมักจะถูกใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ระหว่างผู้ให้สิทธิหรือผู้คุ้มครองสิทธิ กับประชาชนผู้ได้รับสิทธิ สิทธิมนุษยชนเลือกสรรจึงให้ความสำคัญเฉพาะปัญหาปากท้อง ปัญหาของคนยากคนจน ปัญหาของคนด้อยโอกาส เป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง นักสิทธิมนุษยชนไทยจึงไม่สนใจหรือกลับสามารถสนับสนุนการละเมิดสิทธิโดยรัฐในระดับพื้นฐานอย่างการรัฐประหารได้

ประการต่อมา สิทธิมนุษยชนต้องถูกใช้อย่างพอดี เป็นสิทธิมนุษยชนที่มีขอบเขต มีกรอบกำกับ ไม่เชิดชูจนกระทั่งทำลายสถาบันประเพณีหรือคุกคามความมั่นคงของประเทศชาติ 

ดังนั้น นักสิทธิมนุษยชนเลือกสรรจึงยอมรับได้หากจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามของการปกป้องความปลอดภัยของสถาบันประเพณีหรือความมั่นคงของชาติ และดังนั้น ประการที่สาม สิทธิมนุษยชนเลือกสรรจะไม่คุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสถาบันประเพณีหรือเป็นผู้ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ 

สังคมไทยจึงมีหลักสิทธิมนุษยชนอยู่สองชุด ชุดหนึ่งคือ "หลักสิทธิมนุษยชนเลือกสรร" ที่ใช้โดยชนชั้นนำทางอำนาจ เพื่อสร้างการอุปถัมภ์หรือเพื่อการสงเคราะห์ชนชั้นล่างสุดของสังคม อีกหลักหนึ่งคือ "หลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน" ที่แม้ว่าจะได้รับการสถาปนาขึ้นมาในสังคมไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรแล้ว ก็ยังมีพัฒนาการในการนำไปปฏิบัติอย่างเชื่องช้า อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ประชาชนตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ที่เติบโตขึ้นมาหลังทศวรรษ 2540 ที่เป็นเช่นนี้คงเพราะคนเหล่านี้ทั้งถูกละเมิดสิทธิอย่างซ้ำซากจากการรัฐประหารของชนชั้นนำและชนชั้นกลางเก่า 

ปรากฏการณ์สิทธิมนุษยชนพื้นฐานนี้เห็นได้ชัดจากการเรียกร้องสิทธิทางการเมือง การเรียกร้องสิทธิการแสดงออกผ่านเสนอขอแก้ประมวลกฎหมายอาญาบางมาตรา และการตระหนักต่อการละเมิดสิทธิต่อชีวิตและร่างกายในการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ของกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ ในขณะที่นักสิทธิมนุษยชนเลือกสรรอย่าง กสม. มักหลีกเลี่ยงประเด็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่ชนชั้นกลางใหม่เริ่มตระหนักถึงมากขึ้น

 

(ที่มา : มติชนรายวัน  10 เมษายน 2558)

---------------------------------------------------

หมายเหตุเพิ่มเติม:

ขอบันทึกไว้ด้วยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่บทความที่ผมส่งให้มติชนถูกดัดแปลงถ้อยคำบางตอน

หนึ่งคือ ตัดข้อความในวงเล็บของประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 (หาอ่านฉบับดั้งเดิมได้ไม่ยาก) ที่ย้อนแย้งคือ ผมได้กล่าวไว้ในบทความว่าข้อความนี้ถูกตัดไป แล้วก็ถูกตัดออกในบริบทนี้อีกครั้งด้วยจริงๆ 

สองคือ ตัดตัวเลข 112 ออก ที่ว่า "ประมวลกฎหมายอาญาบางมาตรา" ในฉบับเผยแพร่นี้น่ะ คงเข้าใจตรงกันนะครับว่าหมายถึงกฎหมายอะไร น่าสังเกตว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขต้องห้ามไปด้วยแล้ว

ผมไม่โกรธและไม่ตำหนิมติชนหรอก เพียงแต่อยากบันทึกไว้ว่า บ้านเมืองนี้ไปถึงไหนกันแล้ว จึงต้องมี self-censorship กันขนาดนี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน