Skip to main content

เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"

ไม่ใช่ว่าธรรมศาสตร์จะไม่มีใครให้เชิดชูกัน ชื่อ ปรีดี ป๋วย ถูกเอ่ยถึงอยู่เสมอๆ แต่ถ้าถามว่า ธรรมศาสตร์มีใครเป็นชื่อที่คงความเป็นคนหนุ่มสาว ดุจดั่งเป็นอมตะแบบจิตรอยู่บ้าง ผมยังนึกชื่อใครไม่ออก นอกจากที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเมื่อเขาตายแล้ว ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะอมตะแบบจิตรหรือไม่ แต่จะพูดเรื่องจิตรหรือประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์มากก็เสี่ยงที่จะเป็นการเรียกแขกไปเสียเปล่าๆ อย่าพูดมากเลยดีกว่า 

ที่จริงในโอกาสนี้ ผมแค่อยากแนะนำหนังสือ "จิตร ภูมิศักดิ์ : ความทรงจำและคนรุ่นใหม่" (2557) ที่มีอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทความและบทนำเสนอต่างๆ ในงานสัมมนาครบรอบ 80 ปีจิตร ภูมิศักดิ์ที่อักษรฯ จุฬาฯ เมื่อปี 2553 ในงานนั้น มีผลงานหลายชิ้นที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก มีทั้งการมองจิตรในมิติของการเป็นนักต่อสู้ นักปฏิวัติ นักวิชาการด้านต่างๆ และจิตรที่ถูกจดจำหรือถูกลืม ลองติดตามอ่านกันได้ครับ 

  

ผมรอคอยหนังสือเล่มนี้มานาน ทั้งอยากเห็นผลงานตัวเอง และอยากใช้ให้นักศึกษาอ่าน ไม่ทราบว่าแอบพิมพ์ออกมาเมื่อไหร่ เพราะหลังจากสัมมนากันตั้งแต่เมื่อปี 2553 ผมก็เฝ้ารอมาตลอด แต่เมื่อพิมพ์ออกมาแล้ว ตามปีที่ระบุคือ 2557 คือปีกลาย ผมก็ยังไม่เห็นตัวเล่มเลย เพิ่งมาเห็นเมื่อค้นรายชื่อหนังสือในห้องสมุดที่ธรรมศาสตร์เมื่อเร็วๆ นี้เอง ทางผู้จัดพิมพ์คืออาจารย์ยิ้ม สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คงจะจัดส่งให้ผมแล้วในระหว่างที่ผมไม่ได้อยู่ประเทศไทย 

ไหนๆ ก็พูดถึงตัวเองแล้ว ขอเล่าย้อนหลังว่า ผมเขียนถึงจิตรใน 2 วาระและเป็นการวิจารณ์งานสำคัญ 2 ชิ้นด้วยกัน ในปี 2547 คือเปิดตัว "กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์" ผมเขียนบทวิจารณ์หนังสือ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" คราวนั้น "ศิลปวัฒนธรรม" กรุณานำไปพิมพ์ พอ 80 ปีจิตร สำนักพิมพ์ "ฟ้าเดียวกัน" ผู้จัดพิมพ์หนังสือชุดผลงานของจิตรตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุน กรุณาชวนเชิญผมไปร่วมสัมมนาในงาน 80 ปี ซึ่งก็ทำให้ผมได้อ่านและเขียนบทวิจารณ์ต่อบทวิจารณ์วรรณกรรมเรื่อง "โองการแช่งน้ำ" โดยจิตร ภูมิศักดิ์ (ซึ่งฟ้าเดียวกันนำมาจัดพิมพ์ใหม่) อย่างจริงจัง  

ผมพาดพิงถึงจิตรบ่อยๆ ในงานของผม หรือไม่ก็มีจิตรเป็นคู่สนทนาหลายครั้ง ก็เนื่องจากว่างานการศึกษาเรื่องกลุ่มชาติพันธ์ุ เรื่องคนไทนอกประเทศไทย และเรื่องภาษาและอักษรของจิตรนั้น อยู่ในอาณาบริเวณความรู้ที่ผมต้องถกเถียงด้วยเสมอ งานของจิตรที่ผมมักสนใจจึงเป็นงานในช่วงหลังของเขา   

อาจารย์สุธาชัยเล่าในงานสัมมนาเมื่อปี 2553 ว่า งานที่ผมสนใจเป็นงานช่วงที่จิตรอยู่ในคุก ซึ่งจิตรค้นคว้าด้านมานุษยวิทยาและภาษาศาสตร์มากขึ้น นอกจาก "ความเป็นมาฯ" และ "โองการแช่งน้ำ" แล้ว เขายังศึกษาภาษาละหุ งานช่วงนี้จึงค่อนข้างแตกต่างจากงานศึกษาประวัติศาสตร์ไทยแนวมาร์กซิสม์อย่าง "โฉมหน้าศักดินาไทย" หรือ "สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยอยุธยา"    

ในหลายโอกาสที่ได้สนทนากับคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ "พี่สุจิตต์" บอกเสมอว่า งานของจิตรมีอิทธิพลต่อความคิดของเขามาก และในหลายๆ เรื่องก็ไม่เคยเจอใครเสนออะไรแบบที่จิตรเสนอมาก่อน นักประวัติศาสตร์ที่ผมขอไม่เอ่ยนามในที่นี้คนหนึ่งเคยกล่าวกับผมมานานแล้วว่า งานของจิตรด้านภาษานั้น ทำให้นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องเมืองไทยพบกับเพดาน คือไม่สามารถประเมินงานเขาได้ ผมเองเพียงหาช่องในการทั้งเข้าใจเขาและอ่านงานจิตรเพื่อสร้างบทสนทนาขยายความรู้ต่อไป  

หากนับว่าใครเป็นครู ผมก็จะนับจิตรคนหนึ่งล่ะที่เป็นครูของผม เพียงแต่ผมถือว่าครูไม่ได้เอาไว้บูชากราบไหว้บนหิ้ง แต่ครูมีไว้ให้เราสนทนาด้วยและก้าวข้ามเพดานความรู้ของครู หากใครอ่านงานของจิตรอย่างจริงจัง ก็คงจะได้เห็นวิธีการทำงานท้าทายครูของจิตรไปด้วยเช่นกัน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์