Skip to main content

วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 

เรื่องแรกคือ วันนี้มีนักศึกษามาปิดภาคเรียนวิชานี้กัน 18 คนจากทั้งหมด 21 คน ผมถือว่าแค่นี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดีมากแล้ว เพราะตั้งแต่สอนหนังสือมา ส่วนใหญ่นักศึกษาปริญญาตรีจะไม่ใส่ใจวันสุดท้ายของการเรียนกัน วิชาที่ผมสอนส่วนใหญ่ไม่มีการสอบปลายภาค ฉะนั้นวันสุดท้ายจะไม่มีความหมายอะไรกับคะแนนของพวกเขา นอกจากว่าพวกเขาจะใส่ใจสนใจเรียนกันเอง ผมเลือกเชื่ออย่างนั้น

อาจจะเป็นการสบประมาทนักศึกษาที่เคยสอนในประเทศไทยบ้างหากจะบอกว่า นักศึกษาในห้องเรียนที่ผมเพิ่งสอนจบไปนี้เป็นห้องเรียนที่ดีที่สุดห้องหนึ่งที่เคยสอนมา ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยสอนห้องเรียนไหนที่ดีเท่านี้ แต่หากเทียบคุณภาพนักศึกษาปริญญาตรี "ส่วนใหญ่" คือเกือบ 80% ของห้องนี้กับที่เมืองไทยแล้ว ผมว่านักเรียนที่นี่มีคุณภาพ "สูงกว่า" ที่เมืองไทย ในแง่ของความเอาใจใส่ต่อการเรียน ความตั้งใจทำงาน คุณภาพงานเขียน และการพัฒนาผลงานหลังจากได้รับคำแนะนำ

ไม่ใช่ว่านักศึกษาปริญญาตรีที่นี่จะเพียบพร้อมไปเสียทุกอย่างหรอก พวกเขายังต้องเรียนรู้การเขียน การอ่าน การอ้างอิงผลงาน การเรียบเรียงความคิด และการมีวินัยในการเรียน แต่โดยรวมๆ พวกเขาพัฒนากันเร็วและมีความตั้งใจสูงมากตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย

อีกเรื่องที่น่ายินดีคือ นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ผมได้รู้จักกับพวกเขามากขึ้น จากการให้พวกเขาทำงานวิจัยเล็กๆ คนละชิ้น นักศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาเรื่องใกล้ตัวที่ตนเองสนใจอยู่แล้ว ซึ่งก็สะท้อนตัวตนของแต่ละคนได้ค่อนข้างดี อย่างนักเรียนผิวสี ก็สนใจเรื่องวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับสีผิว นักเรียนเอเชียนก็มักสนใจเรื่องการปรับตัวทางวัฒนธรรมของสังคมหรือครอบครัวตนเอง นักเรียนหญิงสนใจเรื่องความเป็นหญิง คนชอบเล่นกีฬาก็สนใจเรื่องการเล่นกีฬา ซึ่งนี่ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับนักศึกษาที่เมืองไทยส่วนใหญ่

ที่แปลกออกไปก็มี เช่น นักเรียนอเมริกันผิวขาวคนหนึ่ง เคยไปเรียนมัธยมปลายที่อินโดนีเซียมาหนึ่งปี สามารถใช้ภาษา "บาฮาซา" ได้ และก็ยังคงสนทนาติดต่อกับเพื่อนที่อินโดฯ ก็เลยศึกษาเรื่องการใช้ภาษาของวัยรุ่นอินโดฯ ในโซเชียลมีเดีย อีกคนที่น่าสนใจคือนักเรียนอเมริกันที่ศึกษาการใช้พื้นที่ห้องสมุดในห้องสมุดหนึ่งของมหาวิทยาลัย ซึ่งว่ากันว่าเป็นห้องสมุดที่เงียบมากแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยนี้ ส่วนอีกคนศึกษากลุ่มคนที่ประท้วงการบริหารงานของรัฐวิสคอนซินโดยเดินเข้าไปร้องเพลงในที่ทำการรัฐทุกวันธรรมดาเวลาพักเที่ยงเป็นจำนวน 10-20 คน หนึ่งในนั้นคือพ่อของนักศึกษาคนนี้เอง

อีกคนที่น่าสนใจคือนักเรียนเวียดอเมริกันที่สัมภาษณ์คนชราที่เขาทำงานด้วย นักเรียนคนนี้ทำงานบริการ ทำความสะอาด ดูแลให้ความช่วยเหลือคนชราในบ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง เขาเล่าว่างานวิจัยเล็กๆ นี้ช่วยให้เขาได้พูดคุย ได้รู้จัก ได้เห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์ของคนชราเหล่านี้มากขึ้น เขาบอกว่า จากที่เคยเห็นคนแก่เหล่านี้ว่าเป็นเพียง "งาน" ของเขา แต่เมื่อได้รู้ชีวิตเบื้องหลังแต่ละคนมากขึ้น ได้สังเกตรายละเอียดของชีวิตประจำวันมากขึ้น ได้รู้เกียรติประวัติหน้าที่การงานสำคัญของพวกเขาในอดีตมากขึ้น ได้เห็นความโดดเดี่ยวของพวกเขามากขึ้น แล้วที่สุดก็ทำให้เห็นคนชราเหล่านี้เป็นเพื่อนมนุษย์มากขึ้น

ผมให้นักศึกษาทำงานวิจัยเล็กๆ ของตนเองก็จริง แต่ก็ไม่ได้ให้ต่างคนต่างศึกษากันไปเงียบๆ อยู่คนเดียว ผมให้พวกเขาค่อยๆ พัฒนางาน ให้เขาได้เอางานเขียนมาแลกกันอ่าน ให้พวกเขาแนะนำวิจารณ์กันเองในกลุ่มย่อยๆ อยู่สัก 4 สัปดาห์ แล้วในสัปดาห์สุดท้ายของการเรียน ผมให้แต่ละคนนำเสนองานตัวเองสั้นๆ ให้ทุกคนได้ฟังได้สอบถามกัน

ที่น่ายินดีคือ วิธีนี้ทำให้พวกเขาได้เห็นมุมมอง ได้เห็นวิธีการตั้งคำถาม ได้เห็นแง่มุมของสังคม ได้รับรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากตนเองจากที่แต่ละคนสนใจได้ดีมาก นักเรียนผิวขาวอเมริกันได้เรียนรู้เรื่องของนักเรียนม้ง นักเรียนไต้หวัน และนักเรียนเกาหลี นักเรียนอเมริกันภาคเหนือได้รู้จักมุมมอง ความสนใจ ของนักเรียนอเมริกันจากภาคใต้ นักเรียนผิวขาวได้รับรู้มุมมองของนักเรียนผิวดำ นักเรียนผิวดำได้รู้จักความสนใจของนักเรียนผิวขาว  

เรื่องที่ผมยินดีที่สุดในวันนี้คือ นักศึกษาคนหนึ่งที่แทบไม่เคยมาเรียนเลย แล้วไม่ได้ส่งงานเลยมาตลอดภาคการศึกษา ได้แวะมาหา ที่ผ่านมาผมเตือนให้เขาถอนวิชานี้เสีย แต่เขาอธิบายว่าเขาป่วยหนัก ต้องพักเรียนทุกวิชาหลายสัปดาห์แล้ว แต่จะต้องจบภาคการศึกษานี้ ขอความกรุณาให้ผมผ่อนปรนแล้วเขาจะมาเรียนให้ได้ แต่สุดท้ายเขาก็มาเรียนไม่ได้ วันนี้เขามาหา เอางานมาส่งครบ แล้วอธิบายความเจ็บป่วย เขายอมรับเงื่อนไขว่าเขาจะไม่มีทางได้เกรดสูงๆ ผมรับงานเขา แล้วบอกว่าจะให้โอกาสเขาเท่าที่พอจะทำได้

เสียดายแต่ว่านักศึกษาที่เรียนด้วยไม่ได้มาอ่านบันทึกนี้ แต่เอาไว้ผมจะเขียนไปเล่าให้พวกเขาอ่านว่าได้อะไรจากห้องเรียนนี้บ้าง ที่จริงผมอยากถามพวกเขาแบบที่มักจะถามนักศึกษาเมื่อปิดภาคการศึกษาเสมอๆ ว่า พวกเขาได้อะไรใหม่ๆ จากการเรียนวิชานี้บ้าง พวกเขามีอะไรแนะนำเพื่อการปรับปรุงวิชานี้บ้าง เสียดายที่เวลาไม่พอ สุดท้ายก็เฝ้ารอที่จะได้อ่านงานเขียนชิ้นสุดท้ายของพวกเขา หวังว่าจะได้อ่านงานเขียนดีๆ และได้เรียนรู้อะไรจากพวกเขาเพิ่มขึ้นอีก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"