Skip to main content

"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก

 

หนังสือเล่มนี้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันเพิ่งได้รับมาจากผู้จัดทำ ในหนังสือระบุว่าเป็น New Testament ในภาษาเวียดนามและภาษาลาว ระบุว่าพิมพ์ปีค.ศ. 2014 ทางห้องสมุดขอให้ผมช่วยให้ความเห็นในการออกเสียงชื่อหนังสือเพื่อจัดทำระเบียนหนังสือ 

ตรงชื่อรองหรือ subtitle เขียนว่า "ความ หญัน ปาว ตอย ลวง ตาง เจ้า เซ (อักษรนี้ออกเสียงไทดำแบบ z ในภาษาอังกฤษ) ซู" นี่เขียนโดยไม่ตรงตามเสียงวรรณยุกต์เป๊ะๆ นะครับ น่าจะแปลได้ว่า "เรื่อง ข้อความ บอกเล่า ตาม แนว ทาง เจ้า เยซู" คำที่ผมไม่แน่ใจเพราะไม่เคยเห็นในภาษาไทดำคือคำว่า หญัน ผมเข้าใจว่าจะเป็นการดัดแปลงจากคำว่า nhắn ซึ่งแปลว่า "ข้อความ" จากภาษาเวียดนาม  

ที่น่าประหลาดใจคือ ผมเคยเห็นบางส่วนของไบเบิลฉบับภาษาไทดำอักษรไทดำมาแล้วเมื่อหลายปีก่อนในระหว่างที่ทำวิจัยอยู่ในประเทศเวียดนาม แต่เห็นเพียงบางส่วนที่ถูกฉีกมา เพิ่งได้เห็นทั้งเล่มครั้งแรกในห้องสมุดมหาวิทยาลัยวิสคอนซินนี่เอง แต่กลับกลายเป็นว่าหนังสือเพิ่งพิมพ์ในปี 2014  

เป็นไปได้ว่าในการพิมพ์ครั้งก่อน ก็อาจะระบุปีที่ตีพิมพ์ตามปีก่อนหน้านี้ หรือนี่อาจเป็นการพิมพ์โดยปรับปรุงใหม่ เพียงแต่ไม่มีรายละเอียดระบุไว้ หรืออาจจะเป็นการจัดทำโดยผู้จัดทำคนละกลุ่มกัน แต่ที่แน่ๆ คือในฉบับที่ผมเคยเห็นนั้น ใช้ font พิมพ์อักษรในระบบดิจิทัลชุดเดียวกันนี้ ผมจำฟอนต์นี้ได้ดีเพราะตนเองก็ใช้อยู่เสมอมา

 

สิ่งที่น่าสนใจคือการใช้ภาษาอธิบายเรื่องราวในไบเบิล เมื่อเปิดอ่านดูบางตอนก็พบว่าเข้าใจยากพอสมควร เนื่องจากเมื่อใช้ภาษาไทดำแปลหรืออธิบายเรื่องต่างๆ ในไบเบิลแล้ว ก็จะชวนให้หวนกลับไปหามโนทัศน์ที่มีในวัฒนธรรมไทดำ เช่น มโนทัศน์เรื่องผี มโนทัศน์เรื่องฟ้า รวมทั้งหลายๆ มโนทัศน์ที่ไม่มีในวัฒนธรรมไทดำเดิม เช่นคำว่า "เทวดา" ในหน้าแรกๆ ของไบเบิลนี้ซึ่งว่าด้วยกำเนิดพระเยซู ("เวน ออก เจ้า เซซู คาลิด") ที่ต้องมีคำอธิบายคำนี้ในเชิงอรรถโดยอิงกับภาษาลาวและภาษาเวียดนาม (ในที่นี้เรียกเป็นภาษาไทดำว่า "แกว") 

หากมีโอกาสได้อ่านมากขึ้นก็คงจะสนุกดีและได้ความรู้แปลกๆ ไม่น้อยในหลายๆ แง่ด้วยกัน ได้แก่ ในแง่ของการศึกษาเรื่องการแปล การถ่ายเทและดัดแปลงทางวัฒนธรรมและภาษา และเรื่องราวเบื้องหลังอื่นๆ อย่างการจัดทำไบเบิลนี้ การเผยแพร่ การเลือกใช้ภาษาและอักษร และการเมืองเรื่องศาสนาทั้งในกลุ่มไทดำเองและในถิ่นฐานของไทดำอย่างในเวียดนาม

นึกดูแล้วก็คิดว่าจะติดต่อขอผู้จัดทำมาไว้ที่ห้องสมุดในประเทศไทยสักชุดหนึ่ง เพื่อจะได้เอาไว้ศึกษากันต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี