Skip to main content

สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน

แต่เร็วๆ นี้ได้ฟังบรรยายของนักมานุษยวิทยาหญิงแกร่งเก่งกาจที่เชี่ยวชาญเรื่องพม่า ฉาน ไทย คนหนึ่ง ชื่อเจน เฟอร์กูสัน เมื่อเธอผ่านมายังมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เธอเล่าเรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับคติชนในสนามบิน การบิน เครื่องบิน แล้วก็ทำให้มองการบินเปลี่ยนไปบ้าง 

นักมานุษยวิทยาหรือนักภูมิศาสตร์หรือนักประวัติซาสตร์ศิลป์ที่สนใจสถาปัตยกรรม แล้วไปศึกษาสนามบิน มักเสนอว่า สนามบินเป็นพื้นที่กลางๆ เป็นที่ซึ่งคนหลากหลายพบปะกันแบบแทบจะไร้ตัวตน เป็นที่ที่คนไม่รู้สึกรู้สากับความหมายเฉพาะของมัน เป็นที่ซึ่งคนไม่ผูกพันด้วย นักต่างๆ เหล่านี้บางคนจึงนับพื้นที่อย่างสนามบินว่าเป็น ที่ไม่ใช่ที่ หรือ non-space แต่เฟอร์กูสันไม่เห็นด้วย 

แม้การบินจะเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด แต่ก็ดูจะเป็นการเดินทางที่คนกลัวมากที่สุด แล้วแต่ละสังคมก็แสดงความกลัวนั้นออกมาต่างกัน นั่นคือคำถามใหญ่คำถามหนึ่งของงานวิจัยนั้น 

เรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับการบินจึงมีทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก เรื่องยูเอฟโอ เรื่องเล่าต่อเนื่องจาก 9/11 จนกระทั่งเรื่องผีในสนามบิน เรื่องเหตุเครื่องบินตกแบบลึกลับ เรื่องสารพัด หังไปฟังมาแล้วก็ให้สงสัยว่า ทำไมนักวิชาการแถวบ้านเราถึงไม่หาหัวข้อวิจัยเท่ๆ แบบนี้ทำกันมั่งนะ 

ผมว่า ที่จริงความกังวลจากการบินคงไม่ใช่มีแค่กลัวอุบัติเหตุ แต่ยังมีความกังวลอื่นๆ กลัวตกเครื่องบิน กลัวลืมบัตรประจำตัว กลัวกระเป๋าน้ำหนักเกิน กลัววีซ่าไม่ผ่าน กลัวเข้าเมืองไม่ได้ กลัวกระเป๋าหาย กลัวต่อเคนื่องบินไม่ทัน กลัวหาประตูทางออกไม่เจอ 

นอกจากความกลัว แต่ละคนคงมีเรื่องเล่าขำๆ ขื่นๆ แปลกๆ เปิ่นๆ เกี่ยวกับการบินมากมาย รวมทั้งเรื่องราวเฉพาะถิ่นของสนามบิน ตลอดจนลูกเรือและการบริการบนเครื่องบิน  

ประสบการณ์หนึ่งที่ผมคงจดจำไปไม่ลืมคือการต่อเครื่องบินที่บินจากบอสตัน ไปแมดิสัน ที่ต้องต่อเครื่องที่ซินสิเนติ เนื่องจากเครื่องที่ออกจากบอสตันบินจากที่อื่นมาถึงช้า ผมก็เลยมีเวลาแค่ 15 นาทีเมื่อเครื่องลงจอดกับเวลาที่อีกเครื่องหนึ่งจะออก เมื่อตัดเวลาจัดการต่างๆ แล้ว ก็เหลือเวลาวิ่งจากเครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่งเพียง 5 นาที  

พอเครื่องลงจอดปุ๊บ มีคนอยู่ในสถานการณ์เดียวกันสัก 10 กว่าคนได้ กัปตันประกาศว่าใครไม่รีบให้นั่งรอก่อน ผู้คนที่เดินทางบ่อยคงรู้ คนไม่รีบก็ยังไม่ลุก คนลุกขึ้นยืนมองหน้ากันเหมือนจรดมือเข้าเส้นเตรียมวิ่งร้อยเมตรพร่อมคว้ากระเป๋า เมื่อประตูเครื่องเปิด สิบกว่าคนนั้รก็กรูกันออกไปคนละทิศคนละทาง ไปสู่เส้นชัยของตนเอง ผมตาบีตาเหลือกดูทาง ดูเกต เห็นเค้าท์เตอร์ยังมีคนอยู่ บริกรให้ขึ้นเครื่องอย่างอบอุ่น แล้วก็ได้ขึ้นไปนั่งหอบบนเครื่องบิน 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบหากมีเวลาคือ หาของกินท้องถิ่นของสนามบินต่างๆ กรณีนี้จะชัดเจนเมื่อบินไปประเทศต่างๆ แต่ทร่จริงการบินในประเมศอย่างประเทศไทย ก็ให้ความบันเทิงเรื่องอาหารถิ่นได้เหมือนกัน ไม่เหมือนที่สหรัฐอเมริกา ที่อาหารสนามบินมักครือๆ กันจนสุดท้ายส่วนใหญ่ก็พึ่งแซนด์วิช 

อยู่เมืองไทย ถ้าบินไปหาดใหญ่ ผมก็หาซื้อลูกหยีกวนไร้เมล็ดกลับบ้าน สนามบินท่าศาลาเมืองนครฯ มีร้านอาหารใต้พอพึ่งได้อยู่ สนามยินเชียงใหม่แทบไม่มีใครเสียเวลาในสนามบิน คงเพราะใกล้เมืองจนคนมาถึงได้เร็ว แต่ก็มีร้านของฝากเชียงใหม่มากมายที่สนามบิน ทางอีสาน สนามบินอุบลฯ แม้จะดูไม่มีอะไร ร้านเล็กๆ ที่มีหมูยอร้อนๆ ขายก็มักเป็นที่พึ่งได้ ราคาก็ไม่ได้แตกต่างจากข้างนอกมากนัก 

แน่นอนว่าสนามบินนานาชาติก็มักจะมีอาหารที่คนทั่วโลกยอมกินกัน พวกไก่ทอด เบอร์เกอร์ กาแฟ แต่บางที่ก็หาของกินท้องถิ่นได้เช่นกัน อย่างที่หนึ่งที่ผมว่าเขาโปรโมตอาหารถิ่นดีที่หนึ่งคือสนามบินไทเป ที่นั่นมีอาหารจีนแบบไต้หวัน ซึ่งคงไม่ใช่มีเฉพาะที่ไต้หวัน เพียงแต่เจอมากในไต้หวัน พวกเกี๊ยวซ่า เสี่ยวหลงเปา บะหมี่เนื้อตุ๋น อาหารพวกนี้ขายราคาไม่ต่างจากข้างนอกนัก  

หรือที่มาเลเซีย สนามบินเปิดโล่งไร้เคาื่องประบอากาศของสายการยินราคาประหยัดสายหนึ่ว มีร้านอาหารถิ่นร้านหนึ่ง ที่คนท้องถิ่นหลายคนไม่ชอบนัก เพราะเป็นที่นั่งชิลของคนชั้นกลางที่ดูไม่เคร่งครัดรสนิยมนัก แต่ผมชอบบรรยากาศร้านแบบร้านน้ำชาตามย่านคนจีนสมัยก่อน โต๊ะ-เก้าอี้ไม้ พื้นกลม ปูพื้นโต๊ะ-เก้าอี้ด้วยหินอ่อน ขายชานมรสจัด มีก๋วยเตี๋ยวแปลกๆ ที่ไม่ทีทางรู้ว่าเป็นรสชาติอย่างที่คนท้องถิ่นชอบจริงไหม  

แต่ที่ขัดใจมากคือขนมปังทางเนยผสมน้ำตาลหวานเจี๊ยบ ถึงอย่างนั้นมันก็ชวนให้คิดว่า นี่คงเป็นการ "แปล" ขนมปังให้เป็นกึ่งอาหารกึ่งขนม แบบเดียวกับที่คนไทยเอามาจารีน (มาการีน) ทาขนมปังย่างเตาถ่านแล้วโรยน้ำตาล หรือเอาขนมปังไปนึ่งจนนุ่มแล้วจิ้มสังขยา หรือตักไอติมโปะขนมปัง "บัน" ที่คนอเมริกันไว้กินกับฮ็อตด็อก  

ที่เกาหลี ผมตื่นตาตื่นใจกับร้านอาหารเกาหลีซึ่งมีของกินดูดี ดูเกาหลีๆ ให้ชิมมากมาย แม้เกาหลีมักจะเป็นทางผ่าน มากกว่าเป็นปลายทางที่เคยไปเพียงครั้งเดียว ร้านอาหารที่สนามบินสำหรับต่อเครื่องก็ชวนให้สนุกลิ้นได้เช่นกัน  

ส่วนที่ญี่ปุ่น นอกจากบะหมี่และเบียร์หลายยี่ห้อแล้ว สงสัยว่าสำหรับชาวญี่ปุ่น ระหว่างเดินทางคงไม่อำนวยให้กินอาหารญี่ปุ่นที่ลึกซึ้งมากนัก ส่วนใหญ่ผมมักได้กินราเมนสักชาม กับซื้อบรรดาขนมโมจิ หรือที่เดี๋ยวนี้คนไทยมักเรียกชื่อไดฟูกุ เป็นของฝาก  

ของกินที่เป็นของฝากน่าสนุกจากญี่ปุ่นได้อีกอย่างหนึ่งคือ บรรดาปลาหมึกแห้ง ที่ช่างสรรหาวิธีดัดแปลง และหลากหลายพันธ์ุ ส่วนใหญ่ก็ไม่หนีกับที่พอจะจินตนาการได้จากในภูมิทัศน์ปลาหมึกแห้งแบบไทย เพียงแต่ไม่รู้ทำไมคนญี่ปุ่นขยันจับของขบเคี้ยวเหล่านี้ใส่ห่อพลาสติกให้ชวนชิมได้มากนัก 

อาคารสนามบิน เครื่องบินในฐานะพาหนะ ความสัมพันธ์ระหว่างคนเดินทาง ไม่ได้ว่างเปล่าชวนเหนื่อยหน่ายจนกลายเป็น ที่ไม่ใช่ที่ ไปเสียทุกที่ทุกการเดินทาง ขึ้นอยู่กับว่าคนเดินทางสื่อสารอะไรกับเส้นทาง ขึ้นอยู่กับว่าที่ระหว่างทางต่างๆ พยายามสร้างความหมายและสายสัมพันธ์ุให้สัมผัสกับผู้คนอย่างไร  

ในระหว่างการเดินทาง ผมก็แค่เขียนเพื่อหาความหมายให้กับการเคลื่อนย้ายไปมา แล้วก็ชวนให้ตนเองอยากท่องเที่ยวไปเพียงบนเส้นทาง ซึ่งต่างก็สร้างความเป็นปลายทางให้กับตัวเองไปพร้อมๆ กับการเป็นที่ผ่านทาง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน