Skip to main content

ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 

แต่มาปีนี้ ผมเองชักจะเบื่อกับการถามเรื่องการเมือง ผมก็เลยละเว้นไม่ถามทัศนะทางการเมือง แล้วไปถามเรื่องบาางเรื่องที่ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน แม้ว่าจะสัมภาษณ์เพียงไม่กี่คน ก็ชวนให้คิดว่ามีอะไรบางอย่างที่ไม่เปลี่ยนแปลง และอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลง 

อย่างแรก สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ หากถามว่าคุณชอบเรียนวิชาอะไร ถ้านักศึกษาตอบว่าชอบวิชาประวัติศาสตร์ ผมก็มักจะถามต่อว่า ประวัติศาสตร์ไทยช่วงไหนที่ประทับใจมากที่สุด เกือบร้อยทั้งร้อยก็มักจะตอบว่า ชอบสมัยอยุธยา สนใจเรื่องการเสียกรุงทั้งสองครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งแรก ชอบสมัยพระนเรศวร 

เมื่อได้คำตอบแบบนี้ ผมก็จะถามต่อว่า แล้วคุณไปสนใจอะไรกับการเสียกรุงทั้งสองครั้ง นักศึกษาก็เริ่มงงว่าผมจะมาไม้ไหน ผมก็เลยถามต่อว่า คุณเป็นญาติกับพระนเรศวรเหรอ ไม่ทันให้นักศึกษาได้คิด ผมก็มักจะยิงคำถามต่อว่า ดูหน้าคุณแล้ว ผมเดาว่าบรรพบุรุษทั้งฝ่ายพ่อและแม่คุณน่าจะมาจากเมืองจีน แล้วทำไมคุณจะไปแคร์อะไรกับการเสียกรุงทั้งสองครั้ง มันไม่ใช่เรื่องของคุณสักหน่อย ไม่ใช่เรื่องของผมด้วย เพราะบรรพบุรุษผมส่วนมากก็มาจากเมืองจีนเช่นกัน 

แล้วผมก็จะฉวยโอกาสที่พวกเขาปฏิเสธไม่ได้สำทับไปว่า นักเรียนไทยและนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ที่เป็น "ศาสตร์" แต่สนใจประวัติศาสตร์ที่เป็นนิยายหรือนิทานมากกว่า ประวัติศาสตร์ที่เรียนกันส่วนใหญ่เป็นนิทานหลอกเด็กมากกว่าที่จะเป็นศาสตร์เกี่ยวกับอดีต 

บางอย่างที่ปีนี้มีอะไรใหม่ๆ คือ มีนักเรียนจำนวนอย่างน้อย 30% ของที่ผมสัมภาษณ์นั้นเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีแต่เพียงพ่อหรือแม่ ส่วนใหญ่เป็นแม่มากกว่า โครงสร้างครอบครัวลักษณะนี้อาจจะกำลังกลายเป็นครอบครัวที่ปรากฏจริงมากขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อเกือบสิบปีก่อนที่ผมกลับจากอเมริกา พ่อผมเคยถามว่า ทำไมดูหนังอเมริกันแล้วครอบครัวในหนังมักมีการหย่าร้างแยกทางกัน ผมตอบไม่ได้เพียงแต่มันเป็นข้อเท็จจริงที่สังคมอเมริกันมีครอบครัวหย่าร้างมาก แต่ในขณะนี้ สังคมไทยก็อาจจะมีครอบครัวในลักษณะนั้นมากขึ้นก็ได้ 

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีนักศึกษาคนหนึ่ง มาจากภาคอีสาน เขาพูดถึงจังหวัดเขาในน้ำเสียงชื่นชมความเป็นคนท้องถิ่นของเขา เขาไม่ใช่คนในเมือง ต่างกับนักศึกษาจำนวนมากที่แม้อยู่อีสานเหนือหรือใต้แต่ก็ไม่สามารถพูดภาษาถิ่นได้ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ เมื่อผมถามนักศึกษาคนนี้ว่า คุณพูดลาวได้ไหม เขารีบตอบสวนกลับมาทันทีว่าเขาพูดอีสานได้ แต่พูดลาวไม่ได้ แล้วเขาก็รีบอธิบายว่า ภาษาอีสานกับภาษาลาวต่างกัน และภาษาอีสานถิ่นต่างๆ ก็ต่างกัน ผมก็เลยสะกิดใจว่า ทำไมเขาจึงต้องรีบปฏิเสธความเป็น "ลาว" ของเขาอย่างร้อนรนขนาดนั้น  

ผมค่อยๆ ตะล่อมถามเขาว่า เวลาคุณเรียกคนภาคกลาง คุณเรียกว่าอะไร เขาตอบว่า ก็คนภาคกลาง ผมถามต่อว่า บางทีคุณเรียกคนภาคกลางว่าคนไทด้วยหรือเปล่า เขาตอบว่า "ใช่ครับ" ผมก็เลยบอกเขาว่า ถ้าอย่างนั้นคุณก็ยังเรียกตัวเองว่า "ลาว" นั่นแหละ ไม่เห็นจะต้องปฏิเสธเลย ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหนเลยที่จะเรียกตนเองว่าลาว 

เรื่องนี้ผมว่าน่าแปลก เพราะในสมัยผม ผมเจอเพื่อนคนอีสาน เขาก็ไม่ได้จะต้องปกป้องความเป็นลาวของเขา สงสัยว่าสมัยหลังๆ นี้การเรียกตนเองโดยอิงกับภาคกลางของประเทศไทยด้วยคำว่าอีสานนี้ กลายเป็นบรรทัดฐานในการเรียกตนเองของคนลาวในประเทศไทยไปแล้วหรือย่างไร หรือเมื่อเผชิญหน้ากับคนต่างถิ่น พวกเขาจะพยายามปรับตัวตนของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น มากกว่าจะแสดงความเป็นตนเองออกมาอย่างชัดเจน หรือเพราะตัวตนความเป็นลาวมันถูกทำให้ถดถอยขนาดเจ้าของตัวตนเองยังต้องพยายามลบลืมมัน 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ปีนี้นักเรียนที่สอบ admission ได้คณะที่ผมสอนมารายงานตัวกันน้อยกว่าเปิดรับจริงถึง 15% ถามเพื่อนๆ อาจารย์บางคณะในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ กลางเมืองกรุงเทพฯ ก็เป็นทำนองเดียวกัน นอกจากนั้น เพื่อนๆ อาจารย์ที่สัมภาษณ์นักเรียนด้วยกันวันนี้ก็กล่าวทำนองเดียวกันว่า ปีนี้มี "เด็กซิ่ว" คือย้ายที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัยอื่นค่อนข้างมาก ผมเองก็มีสัก 20% ได้  

ปรากฏการณ์นี้จะบอกได้หรือไม่ว่า การที่มหาวิทยาลัยไทยเปิดหลักสูตรใหม่ๆ เปิดมากเสียจนนักเรียนนักศึกษาเลือกเรียน เปลี่ยนที่เรียนกันได้มากขึ้นหรืออย่างไร และก็ไม่แน่ใจว่าทางเลือกมากๆ อย่างนี้จะดีต่อสุขภาพจิตนักศึกษาและผู้ปกครองมากขึ้นหรือเปล่า 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับยุคสมัยที่ผมเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยคือ การที่นักศึกษาใหม่หลายคนลงทะเบียนเรียนนิติศาสตร์หรือสาขาอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงกัน ผมสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะ หนึ่ง สาขาวิชาที่เขาสอบแอดมิตชันได้นั้น มักเป็นสาขาวิชาที่ไม่ใช่วิชาชีพ อย่างสาขาที่ผมสอนอยู่ พวกเขาจึงไปเรียนวิชาชีพอย่างนิติศาสตร์เพื่อเป็นหลักประกันอนาคตเขา และสอง แทนที่พวกเขาจะมุ่งไปเรียนนิติศาสตร์รามฯ เลย เขาก็คงเสียดายและอยากเก็บสถานภาพความเป็นคน "สอบติด" มหาวิทยาลัยเอาไว้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่สาขาวิชาที่พวกเขาอยากเรียนมากนักก็ตาม 

ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาใหม่ของปีนี้ ไม่ว่าคุณจะสอบได้ที่ไหน สำหรับคนที่สอบได้ส่วนหนึ่ง แม้ว่าค่าเล่าเรียนในขณะนี้และหลังจากที่มหาวิทยาลัย "ออกนอกระบบ" เป็นดั่งธุรกิจเอกชนมากขึ้น แล้วค่าเรียนจะแพงขึ้น หากแต่การศึกษาที่พวกคุณคนที่สอบติดก็จะยังคงราคาต่ำกว่าคนการศึกษาที่สอบไม่ติดแล้วต้องเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนเต็มตัวอยู่ดี สังคมส่วนที่ "สอบไม่ติด" และส่วนที่ไม่ได้มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัย ก็จะยังต้องแบกรับภาระภาษีเลี้ยงดูผู้ที่ "สอบติด" ต่อไป คนที่สอบติดก็ควรสำนึกบุญคุณและตอบแทนสังคมคืนบ้างเมื่อมีโอกาส

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี