Skip to main content

ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 

ปัญหาการอพยพจากถิ่นฐานของชาว Rohingya จึงจำเป็นต้องเข้าใจภาพที่กว้างกว่าปัญหาชาว Rohingya นั่นคือต้องทำความเข้าใจกระบวนการที่ก่อให้เกิดกลุ่มสังคมที่ซ้อนทับอยู่ในสังคมการเมืองที่เรารู้จักกันว่ารัฐประชาชาติ (nation-state)  

ก่อนที่จะมีประเทศชาติแบบที่เรารู้จักกันว่าเป็นประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศพม่า ฯลฯ นั้น มีสังคมที่รวมตัวกันอยู่ตามกรอบของกลุ่มสังคมแบบต่างๆ กลุ่มสังคมเหล่านั้นรวมตัวกันโดยสำนึกว่ากลุ่มตนแยกแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ และจึงมีชื่อเรียกลัทธิธรรมเนียม ภาษา วิถีชีวิตเฉพาะของตนเอง เช่น ชาวม้ง ชาวเมี่ยน ชาวลาหู่ ฯลฯ 

ฉะนั้น นอกจากสังคมครอบครัว สังคมชุมชนหมู่บ้าน สังคมเครือข่ายการค้า สังคมนครรัฐ สังคมประเทศ และสังคมโลกแล้ว ยังมีสังคมที่เรียกว่าชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic community) ซ้อนทับอยู่ด้วย 

 

มีผู้ให้คำจำกัดความของกลุ่มชาติพันธุ์ว่าหมายถึง กลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อที่เป็นอัตวิสัยว่าพวกเขามีบรรพบุรุษร่วมกัน เนื่องมาจากการมีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกันหรือมีประเพณีคล้ายคลึงกัน หรือมีทั้งสองอย่าง หรือเนื่องจากความทรงจำจากการถูกทำให้เป็นอาณานิคมหรือจากการอพยพ ความเชื่อนี้สำคัญต่อการชวนเชื่อเพื่อการก่อตัวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ในทางตรงกันข้าม ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์นี้ไม่จำเป็นที่ว่าจะต้องมีสายเลือดเดียวกันอย่างเป็นวัตถุวิสัยŽ (Max Weber. Economy and Society. Berkeley: University of California Press, 1978 [1968], p. 389.) 


สิ่งที่น่าสังเกตจากคำจำกัดความดังกล่าวนี้คือ (1) กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้จำเป็นต้องสืบเชื้อสายเดียวกันจริงๆ ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจึงต่างจากความเป็นเครือญาติที่นับตามการสืบเชื้อสายได้ชัดเจนกว่า (2) ความคล้ายคลึงกันของวัฒนธรรมอาจจะทำให้คนบางกลุ่มนับว่าคนอีกกลุ่มที่มีวัฒนธรรมเหมือนๆ กับกลุ่มตน เป็นคนกลุ่มเดียวกับตน (3) ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้จำเป็นต้องสืบทอดต่อเนื่องกันมา เพราะอาจเกิดจากการกำหนดขึ้นของสังคมที่มีอำนาจมากกว่า เช่น รัฐอาณานิคม และที่สำคัญคือเกิดจากความทรงจำร่วมของสังคม ที่อาจจะรางเลือนหรือถูกกำหนดขึ้นมาภายหลัง 

สรุปแล้ว ที่เรียกกันทั่วไปว่าคนกลุ่มหนึ่งเป็นคนชนชาติเดียวกันจึงเป็นการสมมุติขึ้นมา อุปโลกน์กันขึ้นมาจากความเหมือนกันของรูปร่างหน้าตาผิวพรรณหรือเหมือนกันด้านวัฒนธรรมหรือทั้งสองอย่าง หรืออาจจะถูกกำหนดขึ้นมาจากกลุ่มคนที่มีอำนาจมากกว่า หรือจากความทรงจำเท่านั้นเอง

ดังนั้น เราจึงอาจจะพบตัวอย่างที่ซับซ้อนหลายตัวอย่าง เช่น ตัวอย่างง่ายๆ ในประเทศไทยคือความเป็นคนไทย ก็ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมาจากสายเลือด เพราะที่เรียกกันว่าคนไทยนั้น มีทั้งที่สืบเชื้อสายมาจากคนที่อพยพมาจากทางเหนือ (คนพูดภาษาตระกูลลาว/ไท/ไต) ผสมกับคนที่อาศัยอยู่ทางใต้ (คนพูดภาษาตระกูลมอญ-ขแมร์และภาษามลายู) ผสมกับคนอพยพจากประเทศจีนตอนใต้ และคนกลุ่มอื่นๆ อีกมากมาย ในบางกรณีสังคมสองสังคมอาจพูดภาษาเดียวกันชนิดที่เหมือนกันสนิท หากแต่แต่งกาย อยู่อาศัย และใช้ชื่อเรียกแตกต่างกันไปจากคนอีกกลุ่มที่พูดภาษาเดียวกันสำเนียงเดียวกัน กรณีแบบนี้พบได้เสมอๆ ไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์อันยาวนาน หรือในสมัยปัจจุบัน 

ตัวอย่างเหล่านี้มีมากมาย เช่น ชาวไทดำและไทขาวของบางเมืองในประเทศเวียดนามปัจจุบัน ที่ใช้ชื่อเรียกชนชาติตนเองแตกต่างกัน มีวิถีชีวิตแตกต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อย หากแต่คนทั้งสองกลุ่มใช้ภาษาพูดสำเนียงเดียวกัน หรือในทางกลับกัน คนบางกลุ่มมีภาษาและวิถีชีวิตใกล้เคียงกันหรือส่วนใหญ่เหมือนกัน หากแต่มีสำนึกความเป็นกลุ่มชนชาติคนละกลุ่มกัน เช่น ชาวกิงญ์และชาวหง่วนในเวียดนามตอนกลาง ที่มีวิถีชีวิตคล้ายกัน ประชากรจำนวนมากใช้ภาษาเดียวกันคือภาษาเวียด แต่สำนึกความเป็นกลุ่มคนเป็นคนละกลุ่มกัน

กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มีมาก่อนการมีรัฐประชาชาติ เมื่อเกิดสังคมรัฐประชาชาติขึ้นหลังการผละออกไปของอำนาจอาณานิคม ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างใหญ่หลวง จนก่อให้เกิดกลุ่มชาติพันธุ์ 3 ลักษณะด้วยกันดังนี้

กลุ่มแรก "ชนกลุ่มใหญ่"Ž ชนชาติพันธุ์ที่อุปโลกน์ว่าตนเป็นชนกลุ่มใหญ่ มักเข้าใจเอาเองว่าตนเองคือชนพื้นเมือง เป็นเจ้าถิ่น และมีจำนวนประชากรมากที่สุด เป็นชนที่มีพัฒนาการทางสังคมเหนือชนกลุ่มอื่นในประเทศ อันที่จริงการกล่าวว่าชนกลุ่มใดเป็นชนพื้นเมืองของพื้นที่ใดนั้นกล่าวได้ยากนัก เนื่องจากไม่มีทางระบุได้ว่านานแค่ไหนจึงจะเรียกได้ว่านานพอจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งเป็นชนพื้นเมือง เพราะหากย้อนถอยไปนับล้านปี มนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ในปัจจุบันก็ล้วนเดินทางออกมาจากทวีปแอฟริกาทั้งสิ้น

หรือหากจะยึดเอาเฉพาะพื้นที่ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้สันนิษฐานว่าเดิมทีดินแดนนี้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนดั้งเดิมที่สืบเชื้อสายจากมนุษย์ยุคแรกๆ ที่เดินทางออกจากแอฟริกามาตั้งถิ่นฐานเก็บของป่า-ล่าสัตว์ริมชายฝั่งทะเลและบนที่สูง จากนั้นจึงมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันค่อยๆ อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานและทำการเกษตรในที่ลุ่มและที่สูงเมื่อสัก 7,000 ปีมานี้เอง เรียกว่าคนเชื้อสายมองโกเลียน (Mongolian) ซึ่งก็ไม่ได้เป็นชนกลุ่มเดียวกันทั้งหมด สังเกตได้จากภาษาที่แยกแตกออกไปถึง 5 ตระกูลภาษา 

ดังนั้น ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในส่วนหนึ่งจึงมีความเปลี่ยนแปลง ขาดตอน ไม่ได้สืบเนื่องยาวนานอย่างแท้จริง

แท้จริงแล้ว คนกลุ่มใหญ่เป็นเพียงชนที่มีอำนาจมากที่สุด ก็คือคนที่ยึดกุมอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง เช่นในประเทศไทย คนที่เรียกตนเองว่าคนไทยภาคกลาง อาจจะหลงนึกว่าตนเองคือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย แต่อันที่จริงหากสำรวจประชากรตามชาติพันธุ์จริงๆ แล้ว คนลาวŽ ที่ภายหลังถูกกำหนดให้เรียกว่าคนอีสาน น่าจะมีประชากรมากกว่าคนไทยภาคกลาง ในประเทศพม่า หากนับรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งมอญ ไท ปกากะญอ Rohingya ฉิ่น คะฉิ่นแล้ว ชนพม่าอาจจะมีจำนวนประชากรน้อยกว่าประชากรคนเหล่านั้นรวมกัน หากแต่คนไทยภาคกลางในประเทศไทยและคนพม่าในประเทศพม่าก็กลับเข้าใจตนเองว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ เพราะมองข้ามความสำคัญของคนกลุ่มอื่น และต้องการจำกัดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจให้อยู่ภายในมือของคนกลุ่มตนเท่านั้น

กลุ่มที่สอง "ชนกลุ่มน้อย"Ž กลุ่มคนที่มีสถานะนี้ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีประชากรน้อย สังคมของพวกเขาก่อตัวเป็นสังคมขนาดเล็ก ที่ปัจจุบันอาจจะมีประชากรเหลือเพียงหลักร้อย พวกเขาอาจมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากแต่งงานแล้วผสมกลืนกลายไปเป็นชนกลุ่มอื่น อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วมีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่ไม่ได้มีจำนวนประชากรเพียงเล็กน้อย หากแต่เป็นกลุ่มคนที่ถูกทำให้กลายเป็นชนกลุ่มน้อย ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้เคยเป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ที่กลุ่มตนเคยครองอำนาจอยู่มายาวนาน 

ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ ในศตวรรษที่ 19 ประชากรของกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่นั้นเป็นประชากรชาวจีนอพยพ ชาวกรุงเทพฯŽ ในอดีตจึงเป็นชาวจีนโดยกำเนิดทางเชื้อชาติ หากแต่คนเหล่านี้เปลี่ยนสำนึกตนเองให้เป็นชาวไทยไม่ได้ด้วยความสมัครใจ แต่ด้วยกฎหมาย ด้วยนโยบายสร้างความเป็นไทยและกดขี่ความเป็นจีนตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาต่างหาก ที่ทำให้คนจีนกรุงเทพฯ มีสำนึกความเป็นไทยขึ้นมา หรือในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ชาวมลายูที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เดิมทีและในขณะนี้พวกเขาก็ยังคงเป็นชนกลุ่มใหญ่ของท้องถิ่นนั้น หากแต่เมื่อดินแดนแห่งนั้นถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามในต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว ชาวมลายูก็ถูกแปลงให้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย

ในประเทศเวียดนาม มีชนกลุ่มใหญ่ในท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ยาวนานมากมายที่กลายเป็นชนกลุ่มน้อยเมื่อเกิดรัฐประชาชาติขึ้นมา เช่น ในภาคเหนือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงนั้นเรียกได้ว่าเป็นถิ่นที่อยู่เก่าแก่ของชาวเหวียด หรือคนที่เรียกตนเองว่าชาวกิงญ์ (Kinh) หากแต่บนที่สูงภาคเหนือของเวียดนาม มีคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ แต่คนกลุ่มใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์ไต (หรือไท) ที่ก็แยกย่อยเป็นกลุ่มต่างๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี เมื่อประเทศเวียดนามเหนือก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1954 แล้ว คนไทถูกนับเป็นชนกลุ่มน้อย ต้องปรับวิถีชีวิตให้เข้าใกล้แบบแผนการดำเนินชีวิตของชาวกิงญ์มากขึ้น และต้องดำเนินชีวิตตามการกำหนดนโยบายที่ส่วนใหญ่แล้วกำหนดโดยชาวกิงญ์

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่อยู่ในสถานะย่ำแย่ที่สุดคือ "กลุ่มชนที่ไม่มีอยู่"Ž คนกลุ่มนี้มีทั้งกลุ่มคนที่ได้รับการรับรองสถานภาพบางอย่างจากรัฐประชาชาติ เช่น กลุ่มคนที่ชื่อเรียกชนชาติของพวกเขาไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลของประเทศเขา เช่นชื่อ Rohingya นอกจากนั้นยังมีคนต่างด้าวแบบต่างๆ ที่แต่ละรัฐประชาชาติจะรับรองสถานะแตกต่างกันออกไป คนเหล่านี้แม้จะได้สถานภาพตามกฎหมาย หากแต่ด้วยการที่พวกเขาไม่มีสิทธิบางประการเท่าเทียมกับพลเมืองของประเทศนั้นๆ พวกเขาจึงอาจจะถูกละเมิดได้โดยง่าย นอกจากนั้นยังมีกลุ่มคนที่สถานะต่ำลงมา ได้แก่ ผู้อพยพในค่ายผู้อพยพและที่พักพิงชั่วคราว 

คนเหล่านี้นอกจากจะถูกกักบริเวณแล้วยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้ คนที่ลำบากไม่น้อยไปกว่ากันในกลุ่มนี้ได้แก่คนไร้สัญชาติ ซึ่งกล่าวได้ว่าไม่ได้รับการรับรองจากรัฐประชาชาติใดๆ เลย แม้ว่าจะอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งในรัฐประชาชาติหนึ่งเป็นระยะเวลายาวนานแล้วก็ตาม

กรณีชาว Rohingya พวกเขามีสถานะแทบทุกอย่างของทุกกลุ่มคนข้างต้น ในระดับหนึ่ง พวกเขาเป็นคนกลุ่มค่อนข้างใหญ่ในรัฐยะไข่ที่ถูกทำให้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยของรัฐประชาชาติพม่า ในอีกระดับหนึ่ง พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ต่อแดนระหว่างประเทศพม่ากับประเทศบังกลาเทศ จึงกลายเป็นคนที่ถูกไม่ไว้วางใจจากทั้งสองประชารัฐ จนถึงระดับที่สาม คือพวกเขาเป็นกลุ่มชนที่รัฐประเทศพม่าไม่ยอมรับการมีอยู่อย่างเป็นทางการ ยิ่งเมื่อพวกเขาเลือกที่จะหนีจากสภาพการถูกละเมิดอย่างรุนแรงในพม่า พวกเขาจึงอยู่ในสถานะกลุ่มชนพลัดถิ่นที่ไร้สถานภาพโดยสิ้นเชิง

อันที่จริงรัฐประชาชาติต่างๆ ล้วนเลือกบริหารจัดการกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยนโยบายที่ต่างกันออกไป ทั้งนี้ ขึ้นกับประวัติศาสตร์ ความซับซ้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ และอำนาจต่อรองของกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐประชาชาติอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามนั้น เกิดขึ้นมาจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์หรือชนชาติสูงมาก จึงยังต้องคงความแตกต่างเอาไว้มากกว่า ส่วนรัฐประชาชาติอย่างประเทศไทยนั้น เลือกที่จะจำกัดสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างรุนแรง จึงกดขี่และกีดกันทางเลือกของกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 

ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นปัญหาที่จะยังคงไม่หมดสิ้นไปจากโลกนี้ได้ง่ายๆ จบปัญหาจากคนกลุ่มหนึ่ง ก็จะยังมีปัญหาใหม่ๆ ตามมาอีกเรื่อยๆ ตราบเท่าที่โลกนี้ยังแบ่งแยกกันเป็นรัฐประชาชาติดังในปัจจุบัน

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 18 มิ.ย.2558)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน