Skip to main content

ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร

(1)

หากจะลองทบทวนดูสักหน่อย จะเห็นขั้นตอนของการขยายขอบวงของการก้าวพ้นความกลัวนี้เป็นลำดับ หลังจากนักศึกษาที่แสดงออกอย่างสงบสันติในวาระครบหนึ่งปีรัฐประหาร แต่กลับถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่กล้าแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ และการเรียกตัวนักศึกษาที่ทำกิจกรรมสะท้อนเสียงของประชาชนผู้เดือดร้อนจากการร่วมมือของเจ้าหน้ารัฐกับกลุ่มทุนในการเบียดบังทรัพยากรท้องถิ่นจนกลายไปเป็นการต่อต้านเผด็จการทหาร ประชาชนก็เริ่มให้ความสนใจสนับสนุนนักศึกษาสสองกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ  

จากการชุมนุมสนับสนุนนักศึกษาหน้าโรงพักปทุมวัน โรงพักพระราชวัง และศาลทหาร ก็ขยายไปสู่การลงชื่อในแถลงการณ์ของกลุ่มนักเขียน ซึ่งขยับจากไม่กี่สิบคนในวันที่อ่านแถลงการณ์เมื่อ 27 มิย. 58 ไปเป็นหลัก 10,000 คนในวันที่ 28 มิย. 58 ในขณะที่กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยที่จำนวนมากแทบไม่เคยแสดงออกทางการเมืองมาก่อน หรือแม้แต่คณาจารย์ที่เคยสนับสนุนขบวนการประชาชนที่เรียกร้องการฉีกรัฐธรรมนูญโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาก่อน ก็กลับเข้าร่วมแสดงตนอย่างเปิดเผย ทั้งลงชื่อถึง 281 ชื่อภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ดังที่มีแถลงการณ์ในวันที่ 30 มิย. 58 

(2)

หลายคนมองว่าการลงชื่อในแถลงการณ์ก็เป็นแค่บัญชีหางว่าว แถมหลายคนอาจเกรงว่าจะถูกนำชื่อของพวกเขาไปใช้สร้างชื่อเสียงของคนนำขบวน หรือบ้างก็เกรงว่าจะถูกนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่พวกเขาไม่ต้องการในภายหลัง การลงชื่อในแถลงการณ์จึงเป็นการแสดงออกที่ผู้ลงนามต้องไตร่ตรองแล้วอย่างระมัดระวังยิ่งนัก แม้กระนั้น ปฏิกิริยาของประชานต่อการจับกุมนักศึกษาได้กระตุ้นให้คนจำนวนมากเลือกที่จะแสดงตน การลงชื่อในแถลงการณ์จึงมีความหมายมากกว่าเพียงรายนามที่เสมือนคนนิรนาม  

ยิ่งในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานที่คณะรัฐประหารยังมีกำลังอำนาจและแสดงการข่มขู่ประชาชนอยู่ตลอดอย่างทุกวันนี้ การลงนามในแถลงการณ์ต่างๆ ที่แสดงการขัดขืนสวนทางกับอำนาจเผด็จการอย่างชัดเจน ย่อมเป็นการแสดงหน้าค่าตาของประชาชนอย่างประจักษ์แจ้ง ว่าพวกเขาได้ก้าวออกมาแสดงตนประกาศว่า ระบอบที่เป็นอยู่ไม่ชอบธรรม

นี่คือการตอบโต้ต่อความไม่ชอบธรรมของการใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมา หลังการรัฐประหาร การแสดงออกของประชาชนถูกปิดกั้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง นั่นก็อาจปิดปากประชาชนไปได้บ้าง แต่เมื่อการแสดงออกของนักศึกษาซึ่งเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่แสดงตนอย่างสันติ รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อความเดือดร้อนของประชาชน แต่พวกเขากลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงในการกำราบ นำพวกเขาไปกักขัง กระทั่งเรียกพวกเขาว่าเป็น "คนร้าย" สังคมก็ยิ่งตั้งคำถามมากขึ้นว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนี้ถูกต้องแล้วหรือ

(3)

หากจะไม่ประเมินถึงขั้นที่ว่าประชาชนที่สนับสนุนนักศึกษากำลังแสดงออกทางการเมืองอยู่ อย่างน้อยที่สุด ประชาชนก็กำลังแสดงความห่วงใยต่ออนาคตของประเทศ นักศึกษาเพียง 14 คนที่แสดงออกอย่างสันติและหวังดีต่อสังคมและประเทศ จะต้องมาเสียอนาคตเพียงเพราะผู้นำเผด็จการเกรงกลัวว่าการแสดงออกของนักศึกษาจะฟ้องให้เห็นความไม่ถูกต้องของตนเอง เพียงเพราะเกรงว่าจะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้จึงใช้มาตรการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ นี่ยิ่งเป็นแรงขับสำคัญที่เกินความอดกลั้นของประชาชนที่รักความเป็นธรรม

การแสดงออกของประชาชนส่วนหนึ่งจึงออกมาในรูปของความเป็นศิษย์กับครู รวมทั้งความเป็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมิตรสหาย ถ้อยคำที่ว่า "เราคือเพื่อนกัน" และ "คณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง" แสดงออกอย่างชัดเจนว่า สายใยทางสังคมของความเป็นเพื่อน เป็นครูกับศิษย์ มีความสำคัญทาบทับอยู่กับความสัมพันธ์ทางการเมืองในฐานะประชาชน ยิ่งเมื่อใครที่ไปเยี่ยมนักศึกษาที่เรือนจำได้พบพ่อแม่ของนักศึกษา ได้ทราบความห่วงใยความเดือดร้อนของนักศึกษา และทราบว่าคณาจารย์จำนวนมากก็กำลังดำเนินการหาทางช่วยเหลือด้านการเรียนของนักศึกษา ก็ย่อมรู้สึกสะเทือนใจกับการที่พลังความหวังดีต่อสังคมที่แสดงออกบนพื้นฐานของความรักเพื่อนมนุษย์ กลับจะต้องถูกปราบปรามอย่างรุนแรงราวกับเป็นโจรผู้ร้าย

(4)

ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย "นักศึกษา" มีที่ยืนเฉพาะของตนเอง ถ้าพวกเขาไม่ใช่นักศึกษาที่เฉื่อยชา ที่ศึกษาเล่าเรียนเพื่อจบไปทำงานกินเงินเดือนสูง ก็ยังมีสถานะของประชาชนหนุ่มสาวผู้แสวงหาอุดมคติและเสียสละเพื่อประชาชนผู้เสียเปรียบ เสียงที่บอกว่านักศึกษามีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน ไม่ใช่มาแสดงออกทางการเมือง จึงเป็นเสียงที่จงใจปิดหูปิดตาตนเองต่อสถานะความเป็นประชาชนของนักศึกษา บ้างที่เบาหน่อยก็บอกว่า ภายใต้ระบอบเผด็จการอย่างนี้ เคลื่อนไหวไปก็มีแต่จะเจ็บตัว ถูกลืมไป หรือไม่ก็กลายเป็นเครื่องมือของใครไปเสียเปล่าๆ หรือบ้างที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการก็บอกว่า นักศึกษาต้องรู้จักหน้าที่ เป็นนักศึกษาก็ต้องศึกษาเล่าเรียน

เสียงเหล่านี้มองข้ามไปว่าหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยก็คือการปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนเอง ประการหนึ่งคือสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติโดยไม่ละเมิดผู้อื่น นักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ก่อความวุ่นวายอะไรเลย ไม่ได้ใช้กำลังปิดกั้นสถานที่ราชการหรือสถานที่สาธารณะใดๆ ไม่ได้เอาปืนเอาอาวุธไปบังคับขู่เข็ญใคร ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วต้องมานิรโทษกรรมต่อความผิดที่ตนเองรู้แก่ตัวดีว่าก่อกรรมลงไป  

หากยึดมั่นในคุณธรรมของสังคมประชาธิปไตย การปกป้องสิทธิเสรีภาพเป็นปฏิบัติการขั้นพื้นฐานของประชาชน ใครที่เรียกร้องให้ทำลายหรือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ใครที่ปกป้องอำนาจเผด็จการต่างหาก ที่ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ผู้คนในสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงพ่อค้าแม่ขาย เป็นนักเรียนนักศึกษา เป็นครูบาอาจารย์ หรือเป็นผู้ประกอบอาชีพอื่นใดเพียงเท่านั้น แต่ผู้คนในสังคมประชาธิปไตยยังเป็นประชาชนที่มีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะต้องร่วมกันปกป้องอีกด้วย

(5)

ประการสำคัญ หากรัฐบาลและคณะผู้เผด็จการจะไม่สนใจรับฟังเสียงเหล่านี้ ประชาชนทั่วไปก็ควรไตร่ตรองพิจารณาเสียงสะท้อนของนักศึกษาและประชาชนผู้สนับสนุนนักศึกษาให้ถี่ถ้วน ประชาชนไม่ได้จำเป็นต้องเห็นว่านักศึกษาคือ "พลังบริสุทธิ์" แต่นักศึกษาก็ไม่จำเป็นต้อง "มีใครอยู่เบื้องหลัง"  

ลองนึกดูง่ายๆ ว่า ใครจะอยู่เบื้องหลังนักศึกษากลุ่มดาวดินที่พยายามส่งเสียงแทนประชาชนที่เดือดร้อน ในสภาวะปัจจุบันที่ไม่มีนักการเมืองเป็นปากเสียงให้ประชาชนได้ ในภาวะที่การแสดงออกถูกปิดกั้น ใครจะได้ประโยชน์จากการแสดงออกของกลุ่มดาวดิน หรือในภาวะที่การแสดงออกทางสัญลักษณ์ทุกประเภทเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกถูกปิดกั้นหมด ใครจะได้ประโยชน์จากการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก หากไม่ใช่ประชาชนทั้งหมดที่ไม่สามารถจะส่งเสียงแสดงความเห็นในโอกาสและสถานที่ที่ประชาชนไว้วางใจ เป็นตัวของตัวเอง และรู้สึกปลอดภัยได้ในภาวะการณ์ปัจจุบัน

การปิดป้ายว่ากลุ่มนักศึกษามีเบื้องหลัง คือการบอกปัดปัญหาที่รุมเร้ารัฐบาลอยู่มากกว่า รัฐบาลจะต้องยอมรับฟังและแก้ไขปัญหาเหล่านี้มากกว่า เพราะนั่นคือปัญหาปากท้องของประชาชนที่นักศึกษาเรียกร้อง นั่นคือปัญหาสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่นักศึกษาสะท้อน คือปัญหาความไม่สมประกอบตามครรลองสังคมประชาธิปไตย ที่นักศึกษาละประชาชนจำนวนมากเรียกร้อง

สุดท้ายขอสรุปว่า ความรู้สึกก้าวข้ามขีดความกลัวนี้ไม่ได้มาจากความกล้าหาญที่มีมากขึ้น แต่มาจากความสำนึกต่อคุณธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย มาจากความรู้สึกถึงการคุกคามสวัสดิภาพขั้นพื้นฐานจากอำนาจไม่ชอบธรรมจนขีดสุดของความอดทน มาจากการทำหน้าที่ประชาชนที่จะต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนเองโดยสงบและสันติ สำนึกนี้จะแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าสังคมไทยกลับไปเดินบนเส้นทางสู่สังคมประชาธิปไตยอีกครั้ง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์