Skip to main content

ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้

 
เมื่อไม่กี่วันก่อนมีหนังสารคดีที่ผมอยากดูสองเรื่อง ก็เลยดั้นด้นไปดู แล้วก็จึงพลอยได้ดูหนังตัวอย่างเรื่อง "อาบัติ" ไปด้วย ดูหนังตัวอย่างแล้วก็คิดว่า หนังก็พูดเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แถมเป็นพุทธแบบบ้านๆ มีผี มีเปรต สอนบาปบุญคุณโทษ ไม่ได้ท้าทายอะไรเลย คิดว่าเดาเนื้อเรื่องได้เลยด้วยซ้ำ มันจืดมาก
 
ประเด็นเดียวของหนังเท่าที่ผมรู้สึกได้ว่าน่าสนใจคือ บอกว่าพระเป็นคนธรรมดา แต่ดูทรงแล้ว เรื่องมันไม่ได้จี๊ดจ๊าดขนาด แบบว่า "นี่สังคมไทยคะ/ครับ พระก็เป็นนะครับ/คะ" ไม่ใช่ขนาดจะบอกว่า "เป็นการท้าทายความเป็นปุถุชนในคราบไคลของนักบวช" หรือว่า "คือการปะทะกันของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการบริสุทธิกับความดิบเถื่อสามัญของมนุษย์" มันไม่ได้มีอะไรเท่ๆ ขนาดนั้นสักนิด
 
เพียงแต่ในสังคมนี้ ขณะนี้ "พระ ไม่ใช่ คน" พระก็เลยเป็นได้แค่ตัวประกอบในหนัง แต่เป็นตัวประกอบที่ดีเกินจริง เป็นตัวประกอบที่เป็นภาคงดงามของสังคม 
 
ในสังคมจริงๆ พระก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครสนใจว่าพระจะดีหรือไม่ดี (นี่ก็เซ็นเซอร์ตัวเอง แทนที่จะใช้คำว่า เลว หรือ ชั่ว) พระเป็นเพียงตัวประกอบของสังคม 
 
ในสังคมไทย อย่างแย่ที่สุด พระก็เป็นแค่กรรมกรทางพิธีกรรม สวดมนต์เหมือนพระก็เป็นพระได้ ไม่จำเป็นต้องแสดงว่าเข้าใจบทสวดหรือไม่ ไม่จำเป็นว่าจะสามารถสร้างคำสั่งสอนจากบทสวดได้หรือไม่ จะคิดถึงว่าสามารถค้นพบอะไรในทางธรรมได้หรือไม่ ก็ไม่จำเป็น
 
อย่างดีขึ้นมาหน่อย พระก็เป็นหนุ่มนั่งดริ๊งในผับบาร์ความดี หรือผู้บำบัดจิต เป็นนักปลด(เปลื้อง)ทุกข์ชั่วคราวให้ชาวบ้าน นั่นดีมากแล้ว คือพระสามารถปลอบประโลมผู้คนได้ แต่นั่นก็เป็นกรรมกรทางวิญญาณ ส่วนมากก็แค่นั้น พอหมดกิจของสงฆ์ คือหมดหน้าที่ใช้แรงงานทางวิญญาณเมื่อไหร่ พระก็ต้องออกไปจากชีวิตคน
 
ไม่มีใครสนใจว่าพระเป็นอยู่อย่างไรกันแน่ พระเป็นคนหรือไม่ พระต่อสู้กับความเป็นคนในตัวเองอย่างไร แล้วคนก็ไม่มีใครอยากเป็นพระ แค่มีพระไว้ข้างกาย พระที่เดินไปเดินมาก็มีค่าเท่าพระคล้องคอหรือพระที่หิ้งพระ เอาไว้กราบไหว้เป็นที่พึ่งห่างๆ เอาเป็นตัวประกอบด้านดีของละครสังคม
 
ฉะนั้น ถ้าพระจะปรากฏตัวในหนัง ก็ต้องปรากฏตัวแบบพระในสังคม คือเป็นตัวประกอบด้านดี ถ้าพูดถึงพระในแง่ดีอย่างเดียว พระในแง่ที่ "ควรจะเป็น" อย่างเดียว ก็ฉายได้แน่ แต่นี่หนังอาบัติพูดถึงพระในแง่ที่ "อาจจะเป็น" หรือที่จริงพระที่ "เป็นๆ กัน" คือพระที่เป็นคนสามัญแบบในหนังนี้แหละ ฉายไม่ได้ ส่วนใหญ่พระจึงไม่ได้เป็นตัวแสดงเอก
 
หรือถ้าเป็น ก็ต้องเป็นเรื่องพระๆ มากๆ อย่างในอดีต พระที่เล่นบทตลก ฉายได้และขายได้ดีด้วย เพราะพระตลกก็ยังเล่นบทเป็นพระ ไม่ใช่คน แต่ถ้าพระไม่ตลก ก็มีแต่ด้านดี หนังพระตัวเอกที่ดีอย่างเดียวก็คงเป็นหนังที่ไม่รู้ว่าใครจะไปดูทำไม สู้ไปเดินดูภาพจิตกรรมเอาตามผนังโบสถ์ไม่ดีกว่าหรือ 
 
โจทย์คือพระต้องไม่ใช่คน แค่นั้นเอง ถึงหนังจะสอนว่า "นี่นะ แบบนี้เป็นพระที่ไม่ดีนะ ทำตัวเป็นคนมากเกินไป" ก็ฉายไม่ได้ 
 
สงสัยนิดเดียวว่า ทำไมคนสร้างหนังถึงคิดว่าเรื่องนี้น่าจะผ่านกองเซ็นเซอร์ หรือคนสร้างไม่รู้ว่า พล็อตเดิมๆ ของพระในหนังน่ะ ก็คือพล็อตเดียวกับบทบาทพระในชีวิตจริงนั่นแหละ ถ้าในชีวิตจริงยังพูดถึงความเป็นคนของพระไม่ได้ ในหนังก็ยิ่งพูดว่าพระเป็นคนไม่ได้เข้าไปใหญ่

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน