Skip to main content

เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย

 

มาเมืองแถง (เดียนเบียนฟู) ทีไร ก็ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามเดียนเบียนฟูมากขึ้นเรื่อย ๆ กับยิ่งชวนให้รู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงกับความอุตสาหะของคนเวียดนามในการต่อสู้กับฝรั่ง แต่ก็เหมือนกับที่เราควรจะเข้าใจว่า เวียดนามไม่ใช่ชื่อสงคราม เดียนเบียนฟูก็ไม่ใช่ชื่อสงคราม

 

 

แน่นอนว่า สำหรับคนสยาม เดียนเบียนฟูก็ไม่ใช่เมืองที่มีแต่สงคราม คนไทมาเดียนเบียนฟูส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้ใส่ใจกับสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่งมากเท่ากับเรื่องราวของคนไท คนไต และตำนานเรื่องเแถน ที่คนในประเทศไทยมักพูดติดปากกันว่า เมืองเดียนเบียนฟูเรียกอีกอย่างว่า "เมืองแถน"

ชื่อเมืองแถนและเมืองแถงเป็นชื่อปริศนาอยู่มากทีเดียว เท่าที่ผมเคยสำรวจสอบถามมา สำหรับคนเมืองมุน (Mai Châu) เมืองคอง (Bá Thước) เรียกเมืองแถงว่า "เมืองแถน" สะกดด้วยเสียง น คนสองเมืองหลังอธิบายว่า จะเรียกเมืองแถงหรือเมืองแถนก็ได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่แยกสองเสียงนี้ แต่เขาถือว่าเมืองแถงคือเมืองของแถน เมื่อเขาตาย พวกเขาจะถูกส่งมาขึ้นเมืองฟ้าที่เมืองแถง

แต่สำหรับคนเมืองคนไตดำและคนไตขาว เอาว่านับตั้งแต่เมืองมั่วะ ลา หม้วย ควาย ขึ้นมาถึงเมืองแถง ไล ซอ เรียกเดียนเบียนฟูว่า "เมืองแถง" สะกดด้วยเสียง ง ผมไม่เคยได้สอบถามว่าคนไทขาวเมืองไลและเมืองซอส่งผีขึ้นฟ้าที่ไหน แต่ชาวไตเมืองต่าง ๆ ของไตดำส่งผีขึ้นเมืองฟ้าที่ "เมืองลอ" (Nghĩa Lộ) ซึ่งเป็นเมืองที่คนในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ส่วนคนเวียด เขาเรียกเมืองแถงสองชื่อ ชื่อหนึ่งเรียกว่า Điện Biên Phủ แปลตามตัวได้ว่า "จังหวัด (phủ) ชายแดน อีกชื่อหนึ่งเรียกตามคนไตเองว่า Mường Thanh ออกเสียงด้วย ญ ที่ตามภาษาเวียดนามเหนือมักใกล้กับ ง มากกว่า น (เรื่องเสียง nh นี้หูราชบัณฑิตฯ ไทยจะได้ยินไม่เหมือนหูคนเวียดนามเหนือ แต่ช่างเถอะ)

คนไทยไม่รู้ว่า "สิบสองจุไท" นั้นมีเมืองอะไรบ้าง แต่อยากนับญาติด้วยกับคนแถวนี้ อยากนับด้วยว่าดินแดนบริเวณนี้เคยเป็นของคนไทย (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นลูกเจ๊กอพยพมาจากประเทศจีน) ที่จริงคนในประเทศไทยก็ไม่ได้มีความรับรู้เกี่ยวกับสิบสองจุไทเพิ่มขึ้นมากนักนับจากสมัยที่ต้องรับรู้เรื่อง "ฮ่อ" เป็นต้นมาว่าพวกฮ่อมารุกรานปล้นฆ่าคนไตคนลาว แล้วก็กลับคิดไปเองว่า สยามขึ้นมา "ปราบฮ่อ"

ที่จริงฝรั่งเศสต่างหากที่ปราบฮ่อ และคนที่ถูกปราบก็ไม่ได้มีแต่ฮ่อ แล้วการปราบก็ไม่ใช่การกำจัด แต่เป็นการจัดสรรอำนาจในพื้นที่นี้เสียใหม่ แล้วเมืองของพวกไตก็ไม่ได้มีแต่เมืองแถงกับเมืองไลตามที่พงศาวดารเมืองแถงเมืองไลบันทึกไว้ แม้แต่ชื่อเมืองแถบนี้ คนไทยสนใจก็จริงแต่ไม่เคยอยากรู้ว่า คำว่า "จุ" ในชื่อสิบสองจุไทหมายถึงอะไรมาจากไหน เอาเป็นว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้คนไทยไม่สนใจ ก็ไม่เป็นไร ปล่อยให้รู้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ กันต่อไป แต่ผมเขียนไว้หมดแล้ว

 

กลับมาที่ชื่อเมืองแถง คำว่า "แถง" ในภาษาไตเท่าที่ผมรู้ก็ไม่มีความหมายอะไร แต่เมื่อได้ไปเยือนศาลของ ฮว่าง กงม์ เจิ๊ด (Hoàng Công Chất ขอเรียกย่อว่า ฮกจ.) ทำให้ผมคิดถึงอีกที่มาหนึ่งว่า เป็นไปได้ไหมว่าชื่อ "แถง" จะมาจากชื่อภาษาเวียดนามที่ใช้เรียกบ้านเมืองช่วงที่ฮกจ.ปกครอง บริเวณที่ฮกจ.อยู่นั้นเรียกว่า Thành Bản Phủ คือเรียกตาม thank หมายถึงพื้นที่ภายในกำแพงเมือง กำแพงวัง หรือกำแพงค่ายของฮกจ.

ฮว่าง กงม์ เจิ๊ด เป็นกบฎชาวนาจากจังหวัดถายบิ่งญ์ ในกลางศตวรรษที่ 18 เขากบฎต่อราชสำนักเวียดนามสมัยราชวงค์เลแล้วหนีขึ้นมาตั้งค่ายอยู่บริเวณเมืองแถง มีบันทึกเล่าว่าเขาปล้นฆ่าคนในท้องถิ่น ก็คือคนไตมากมาย แต่บันทึกปัจจุบันที่ศาลฮกจ.เล่าว่า ฮกจ.ยึดครองบ้านเมืองบริเวณนี้อยู่ยาวนานถึง 30 ปี เขามีอำนาจเหนือพวกเจ้าชาวไตและชนกลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมด ศาลนี้ถูกสร้างเมื่อสิบกว่าปีนี้เอง สร้างโดยรัฐบาลเวียดนามอย่างใหญ่โตโอ่อ่าน่าเลื่อมใสจนกลายเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนชาวเวียดนามที่อพยพมาอยู่เมืองแถง

 

เมื่อเล่าอย่างนี้แล้วหลายคนคงสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลเวียดนามที่เป็นคอมมิวนิสต์จึงสร้างศาลไหว้ผีขึ้นมา แล้วทำไมต้องมาสร้างที่เมืองคนไต ข้อนี้สรุปให้เข้าใจได้สั้น ๆ ว่า ฮกจ.เป็นกบฎต่อราชสำนักนับเป็นอดีตที่เข้ากันได้กับชาวคอมมิวนิสต์ การยกย่องเชิดชูย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ยิ่งเวียดนามระยะหลังมีการรื้อฟื้นกลไลทางอุดมการณ์แบบดั้งเดิมกลับมาเพื่อการเมืองมากขึ้น ฮกจ.จึงถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องปลอบประโลมชาวเวียดที่รัฐบาลเองฟลักดันส่งเสริมให้ขึ้นมาอาศัยบนที่สูง ยิ่งฮกจ.เป็นชาวถายบิ่งญ์ ยิ่งเข้ากันได้ดีกับชาวเวียดที่มาอยู่เมืองแถง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจังหวัดถายบิ่งญ์ ปัจจุบันจึงมีการเข้าทรง บนบานบอกกล่าวต่อฮกจ. ที่ศาลแห่งนี้มากขึ้น

กลับมาที่ชื่อเมือง ที่จริงจะเหมาสันนิษฐานแบบนั้นก็ยังไม่น่าเชื่อนัก เพราะชื่อดั้งเดิมของเมืองคนไตนั้น มักใช้สืบต่อกันมานานควบคู่กับชื่อที่ชาวเวียดนามรู้จัก เรื่องราวของฮกจ.และชื่อบ้านเมืองที่เขาสร้างขึ้นจะเข้ามาแทนที่ชื่อดั้งเดิมก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ขนาดนั้น สรุปแล้วชื่อเมืองแถงก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่

อันที่จริงสถานที่หนึ่งที่น่าจะเชื่อมโยงสงครามเดียนเบียนฟูกับอดีตของคนท้องถิ่นคือคนไตได้ดีน่าจะเป็นที่บัญชาการการรบของพวกเวียดมิงญ์ (Việt Minh) ที่ตั้งอยู่ ณ เมืองฟัง เมืองฟังตั้งอยู่นอกเมืองเดียนเบียนฟู ห่างออกไปจากตัวเมืองสัก 30 กิโลเมตรได้ หากเดินทางมาตามถนนหมายเลข 6 จากเมืองควาย (Tuần Giáo) ก่อนถึงเมืองแถงจะมีเมืองชื่อเมืองฟัง เมืองนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ริมถนน แต่จะต้องเข้าลึกไปอีกสัก 20 กิโลเมตร

 

เมืองฟังคือเมืองที่ถูกบันทึกไว้ในตำนาน "ล่างเจื้อง" ของคนไตดำว่า

ปู่เจ้า (ล่างเจื้อง) จึงพาทหารข้ามเขา

ไปยังนางามเมืองฟัง

แต่ว่า เมืองฟังเมืองทุ่งครึ้มน้ำหลาก

เมืองปากฟ้าหนาว

 

เล่าให้สั้นก็คือ ล่างเจื้องเป็นลูกคนสุดท้องของ "ท้าวลอ" ซึ่งออกจากน้ำเต้าปุงมาสร้างเมืองที่เมืองลอ (Nghĩa Lộ) ล่างเจื้องไม่มีเมืองกิน จึงบากบั่นหาเมืองไล่มาเรื่อยจากเมืองลอ (ใกล้ปากเแม่น้ำดำกับแดงบรรจบกัน) จนถึงเมืองแถง ระหว่างทางส่วนใหญ่เจอคน "ส่า" หากชนะคนส่าไม่ได้ก็เอาลูกสาวคนส่าเป็นเมียแล้วจึงเคลื่อนทัพมาเรื่อย ๆ ก่อนเข้าเมืองแถง ล่างเจื้องมาถึงเมืองฟัง แล้วบันทึตำนานก็ว่าไว้ดังข้างต้น เมื่อไม่อยากกินเมืองฟัง ล่างเจื้องจึงเดินทางต่อไปยังเมืองแถง ตำนานเล่าว่า

 

เมืองแถงกว้างเป็นนาสองฟาก

เมืองมากสู่ (รับรอง) โกน (ทหาร) แสนโกนพันปู่ได้

ปู่เจ้าล่างเจื้องจึงกายไปยังเมืองแถง

เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง

เมืองคดโค้งเบี่ยงเขาควาย

เมืองใหญ่ปู่เจ้าจึงสร้าง

เมืองกว้างปู่เจ้าจึงกิน

 

ที่น่าสนใจคือ ที่เมืองฟังนั่นเองที่นายพลหวอ เงวียน ซาป (Võ Nhuyên Giáp) ตั้งกองบัญชาการกองทัพเวียดนามก่อนที่จะเคลื่อนพลเข้าสู่เมืองแถงเพื่อยึดค่ายของฝรั่งเศสจนทำให้ฝรั่งต้องพ่ายแพ้ในที่สุด หากใครไม่เคยมาเมืองแถงก็คงนึกภาพไม่ออกว่า เมืองแถงกว้างขนาดไหน แล้วความกว้างของเมืองแถงที่มีค่ายทหารอยู่กลางเมืองนั้นจะเอาชนะได้อย่างไร กองกำลังของเวียดนามจึงต้องวางแผนอย่างดี กองบัญชาการเวียดนามจึงซ่อนตัวอยู่ในป่าของเมืองฟัง ในบ้านของคนไตดำ ที่เดียวกับที่กองทัพล่างเจื้องตามตำนานคนไตดั้งเดิม ในแง่นี้ เป็นไปได้ไหมว่ากองทัพเวียดนามอาศัยเส้นทางยุทธศาสตร์โบราณของคนในพื้นที่ในการออกแบบการเดินทางของตนเอง

 

 

เรื่องราวของสงครามเดียนเบียนฟูถูกเขียนเป็นหนังสือภาษาต่าง ๆ คงจะเกินพันเล่ม ชัยชนะของเวียดนามในสงครามนี้ควรจะนับเป็นหนึ่งในสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์ทำสำเร็จ ความสลับซับซ้อนของเรื่องราวปัจจุบันถูกเล่าไว้อย่างดีเยี่ยมในพิพิธภัณฑ์เดียนเบียนฟู ที่เพิ่งสร้างใหม่เสร็จเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เมื่อปี 2014 นี้เอง ผมโชคดีมากที่มีโอกาสได้เห็นทั้งพิพิธภัณฑ์เดิม ที่ไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย กับพิพิธภัณฑ์ใหม่ ที่มีการจัดการดีเยี่ยม มีคนนำชมที่รู้รายละเอียดของเรื่องราว และเล่าเรื่องราวอย่างน่าตื่นเต้น ไม่เหน็ดเหนื่อย เหมือนพวกเธออยู่ในสงครามเองด้วยเลย

 

 

เมืองแถงมีปริศนาและเรื่องราวของชีวิตผู้คนอีกมากมาย ปริศนาหนึ่งสำหรับผมคือ ทำไมเมืองกว้างใหญ่ขนาดนี้ ปลูกข้าวเลี้ยงคนได้ทั่วทั้งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามอย่างนี้ จึงกลับไม่สามารถสร้างอำนาจและขยายอำนาจให้ใหญ่โตให้ยั่งยืนได้ หรือว่าคนไตดั้งเดิมที่นี่ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการกับพื้นที่และผู้คนจำนวนมากได้ เมืองแถงจึงแบ่งเป็นส่วน ๆ และถูกยื้อแย่งโดยเจ้าเมืองไลกับเจ้าเมืองแถงเองตลอดมา ทำไมเมื่อล่างเจื้องมาถึงที่นี่แล้ว กลับไม่สามารถสร้างเมืองแถงให้กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของคนไตได้ ทำไมลูกหลานของล่างเจื้องจึงกลับขยายอำนาจกลับไปยังทิศตะวันออก สร้างเมืองหม้วย เมืองลา เมืองมั่วะในพื้นที่เล็ก ๆ แคบ ๆ ในหุบเขาขึ้นแทน

อันที่จริง ในการเดินทางครั้งนี้ นอกจากเรื่องราวใหญ่โตเหล่านั้นแล้ว ผมยังประทับใจกับดอก "บาน" ดอกไม้ที่ทั้งคนไตและคนเวียดชื่นชอบ ซึ่งกำลังบานสะพรั่งต้อนรับเทศกาล "เบ๊าะบาน" ที่จัดขึ้นในวันระลึกวันเสียงปืนแตกที่ยุทธภูมิเดียนเบียนฟู และได้เรียนรู้เรื่องราวชีวิตของสามัญชนที่ได้พบเจอโดยบังเอิญในเมืองแถงทั้งชาวไต ชาวเวียด และชนกลุ่มอื่น รวมทั้งคนจากประเทศไทยที่ตามสามีมาอยู่ที่นี่ แต่คงต้องหาโอกาสอื่นเล่าต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้