Skip to main content

ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน

มื้อแรกที่เมืองมุน เพื่อนชาวไตเมืองมุนเลี้ยงรับรองด้วยข้าวปลาอาหารอย่างดี ทั้งหน่อไม้ประจำฤดู ทั้งแกงหน่อไม้กับหัวปลา ทั้งปลาไหลนึ่ง และอาหารแปลก ๆ สำหรับบางคน เช่น แมลงทอด และเหล้า “มายหะ” อันเข้มข้นร้อนแรงจุดไฟติดของเมืองมุน แต่วงข้าวก็จบลงอย่างลงตัวราวเกือบห้าทุ่ม เมื่อครอบครัวของเจ้าเรือนทยอยลุกกันไปก่อน แล้วเมื่อเหลือเพียงเจ้าเรือนกับแขกที่สนิทกันเพียงสองคน การจบก็ง่ายเข้า

มื้อหนักหนาอีกมื้อคือที่เมืองลา มื้อนี้มีผมเพียงลำพังที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากพี่ ๆ ชาวเมืองลาที่คุ้นเคย วงข้าวถูกตระเตรียมอย่างกระทันหันเพราะผมไม่ได้บอกกล่าวใครมาก่อนว่าจะโผล่มาที่เมืองลา เมื่อเดินไปหาพี่สอยตอนสาย ๆ พอเธอชวนกินข้าว ผมตอบรับแทบจะทันที ผมยังไม่ลืมพูดว่า “จะเฮ็ดทุกข์ใจให้พี่เปล่า ๆ นะ” เป็นมารยาทในการบอกกล่าวว่าเกรงใจ แต่ในใจก็รู้ว่า แน่นอนว่าพี่สอยจะต้องทำให้กินแน่นอนและในใจก็อยากกินข้าวกับพี่ ๆ เหมือนเมื่อก่อนที่เคยมาเยี่ยมเยียนกันเสมอ ๆ

หลังจากผมไปเดินเล่น ไปพบปะพี่น้องเรือนใกล้เคียงเรือนพี่สอย กลับมาอีกทีอาหารก็ถูกจัดมาเต็มโต๊ะ พี่สอยระดมลูกสะใภ้กับลูกสาวมาทำกับข้าวพื้นเมืองอย่างรวดเร็ว อาหารมื้อนี้มีของกินพิเศษอย่างหนังควายดอง “มะต่าง” ใช้จิ้ม “มะถั่วเน่า” และแน่นอนว่าต้องมีเหล้ากินกันไปคุยกันไป มื้อนี้จบลงอย่างง่ายดายเพราะเป็นมื้อกลางวันในวันธรรมดา ทุกคนยังมีการงานต้องทำ ผมเองก็มีโอกาสปลีกตัวไปพัก แต่ก็ยอมรับว่ามื้อนั้นพวกพี่ ๆ ชวนดื่มอย่างหนักหนาจริง ๆ จนต้องหาที่นอนกลางวันที่เรือนพี่อีกคนหนึ่ง

หลังจากนั้นก็มีมื้อที่ถูกเชิญอย่างประหลาด คนขับรถชื่อเหี่ยน ผมเรียกพี่เหี่ยน บอกว่าเพื่อนของเขาอยากเชิญพวกเราไปร่วมงานวันเกิดของเมียเขา พวกเรางุนงงเล็กน้อย ผมเองเกรงว่าจะเป็นมื้ออาหารที่ต้องกินเหล้าหนัก หรือจะเป็นมื้อที่เอิกเริก จึงลังเลอยู่นานว่าจะตอบอย่างไรดี แต่ในที่สุดเพื่อนร่วมทางตกลงใจว่า ไปก็ไป สุดท้ายกลับกลายเป็นมื้อที่ประทับใจในมิตรภาพของคนท้องถิ่น

มื้อนี้เจ้าเรือนชื่ออึ๋งเป็นคนเวียดที่แต่งงานกับถิ่นชาวไตขาวจากเมืองไล ทั้งคู่พบรักกันที่ฮานอย แล้วกลับมาใช้ชีวิตกันที่เมืองแถง ทั้งคู่เพิ่งแยกเรือนจากพ่อแม่ เพิ่งมีลูกคนเดียว น้องอึ๋งคนสามีเป็นวิศวกรก่อสร้าง น้องถิ่นคนภรรยาเป็นครูโรงเรียนอนุบาลเอกชน แขกเหรื่อในงานไม่มีใครมาก มีแต่เพื่อนครูของน้องถิ่นมากัน 4-5 คน อาหารก็เป็นอาหารง่าย ๆ คือหม้อไฟ ที่มีผักท้องถิ่น เส้นก๋วยเตี๋ยวกับเส้นขนมจีน และเนื้อสดหลายชนิด อย่างเป็ดเทศ เนื้อวัว ไข่ข้าว กับเต้าหู้

เหล้าเรือนนี้ไม่แรง เจ้าเรือนทั้งผัวและเมียช่างคุย ถิ่นกับเพื่อนทั้งคนไตขาวและไตดำสนใจแลกเปลี่ยนเรื่องภาษากับเพื่อนร่วมทางชาวไทยของผม ผมก็คุยไปบ้าง แปลไปบ้าง เพื่อนร่วมทางผมสนใจสอบถามชีวิตประจำวันกับชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของพวกน้อง ๆ ส่วนเพื่อนชาวเวียดของน้องถิ่นก็สนใจเรื่องเมืองไทย กินกันไป คุยกันไป ดื่มกันไปพอสมควรก็ขอลากลับหลังจากเพื่อน ๆ ถิ่นเองเริ่มกลับบ้างแล้ว

หลังจากนั้นอีกหลายมื้อ พวกเรากินข้าวกันเองตลอด จนกระทั่งถึงมื้อที่น่าจะเป็นประสบการณ์ที่หนักหน่วงของเพื่อนร่วมทางผมคือมื้อเย็นวาน ผมไปเยี่ยมพ่อเบี๋ยน ชาวไตดำเมืองลอ (Nghĩa Lộ) ผมรู้จักกับแกมานานเกินสิบปีแล้ว จากการแนะนำของเพื่อนนักมานุษยวิทยาชาวญี่ปุ่น พ่อเบี๋ยนเมื่อสิบปีก่อนอายุ 70 เศษ มาปีนี้ก็ 84 แกไว้ผมยาว รูปร่างเพรียวแต่ไม่ถึงกับผอม เป็นคนสนุกสนาน พูดจาฉลาดหลักแหลม แต่ชอบล้อผู้คน พูดติดตลกตลอดเวลา

 

 

แม่ปองกับพ่อเบี๋ยน

 

พ่อเบี๋ยนเป็นกวี เป็นนักเขียน เป็นนักอนุรักษ์วัฒนธรรม ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมไตให้เป็นที่รู้จักระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เมื่อไม่ได้เจอกันนานร่วมสิบปี พ่อเบี๋ยนชวนกินข้าวเย็น ผมก็ยากที่จะปฏิเสธ ห่วงแต่ว่าเพื่อนร่วมทางจะไหวหรือเปล่า แต่หากเพื่อนร่วมทางไม่กินด้วย ก็คงเสียมารยาท สุดท้ายผมก็ตอบรับ ทางเจ้าเรือนก็ไม่ใช่ว่าจะสะดวกง่ายดายนัก เพราะพ่อเบี๋ยนอยู่กับแม่ปองแค่สองคน จึงต้องระดมแรงงานมาทำครัวกันยกใหญ่ ทั้งลูกเลี้ยง ลูกสะใภ้ หลานสาว

 

 

พ่อเบี๋ยนกระโดดลงไปจับเป็ดในหนองส่งให้หลานสาว แล้วไปจับไก่ในคอก แม่ปองไปเก็บผักในแปลงผัก ข้าวเหนียวนึ่งไม่ทันก็หุงด้วยหม้อไฟฟ้า ทั้งหมดนั้นใช้เวลาเกือบชั่วโมงกับแรงงานถึง 4-5 คน ระหว่างที่สำรับอาหารยกมา พ่อเบี๋ยนก็เตรียมรินเหล้าใส่ขวดกับเหยือกน้ำ เพื่อมารินทีละจอกในวงเหล้า อาหารมื้อนี้เป็นมื้อฉุกละหุก ทำให้ผมนึกถึงอาหารมื้อแบบนี้ในหมู่บ้านชาวไตเมื่อหลายปีก่อน ที่ไม่ต่างจากมื้อนี้เลย คืออุดมด้วยเนื้อสัตว์ที่ทำให้สุกด้วยการผัด การต้มอย่างง่าย ๆ แล้วมีผักสด หน่อไม้ลวก “ผักชุบ” กับเครื่องจิ้มที่ทำให้อาหารมื้อนี้เป็นอาหารไต อย่าง “ปามั่ม” เป็นปลาร้าปลาตัวเล็ก ๆ กับเครื่องจิ้มอีกถ้วยคือมะถั่วเน่า

อาหารมื้อที่กินกับพ่อเบี๋ยน

พ่อเบี๋ยนอธิบายว่า จอกเหล้าสองจอกที่วางไว้โดยไม่มีใครต้องดื่มนั้น จอกหนึ่งเป็นของแขก คือผมซึ่งนั่งข้างแก เป็นตัวแทนแขกทุกคน อีกจอกเป็นของเจ้าเรือน คือตัวแกที่เป็นตัวแทนคนทั้งเรือน สองจอกนี้เป็นเครื่องไหว้ผีเรือนไปในตัว ใกล้สองจอกมีพริกสดกับเกลือ เป็นการเชื้อเชิญแขก กับหัวและตีนไก่
วงเหล้านี้ดำเนินไปสักชั่วโมงหนึ่งได้ ผมต้องดื่มตามจังหวะของการเชิญแขก การกล่าวอวยพร การกล่าวทักทายทั้งส่วนตัวและทั้งวงไปร่วมสิบกว่าจอก เมื่อนั่งสักพัก ผมเริ่มคิดหาวิธีว่าจะจบอย่างไร จบอย่างไรไม่ให้เสียน้ำใจเจ้าเรือน เพราะทางฝั่งเจ้าเรือนยังไม่มีใครขยับลุกจากที่นั่งเลยสักคน จบอย่างไรให้เจ้าเรือนประทับใจ จบอย่างไรให้เพื่อนร่วมทางไม่เสียหน้าและไม่เหน็ดเหนื่อยเกินไปนัก
ผมเริ่มด้วยการบอกว่า “แจนเหล้านี้ขออวยพรเจ้าเรือน” คือพ่อเบี๋ยนกับแม่ปองที่นั่งข้าง ๆ ผม ผ่านไปจอกหนึ่งแล้ว ผมบอกว่า “แจนเหล้านี้ขออวยพรพี่ชายทั้งสอง” คือลูกชายกับลูกเลี้ยงพ่อเบี๋ยน สุดท้าย “แจนนี้ขออวยพรทั้งเรือนนี้ และขออนุญาตลากลับก่อน เพราะต้องเดินทางไกลไปหาที่พักอีกเมืองหนึ่ง” ผมจำไม่ได้แล้วว่าพูดอะไรไปอีกบ้าง ทั้งภาษาเวียด ภาษาไตดำ ปนเปกัน แต่ได้ผลดี เราทั้งหมดลุกพร้อมกันหลังจากผมกับพ่อเบี๋ยนและพวกผู้ชายในวงดื่มหมดจอก
เพื่อนร่วมทางนักประวัติศาสตร์เอ่ยขึ้นมาบนรถหลังจากพวกเราร่ำลาจากวงข้าววงเหล้าแล้วว่า "ดีฉิบหายที่ผมไม่เลือกเป็นนักมานุษยวิทยา” เมื่อหลายวันก่อนระหว่างอาหารมื้อแรกกับเพื่อนชาวไต เพื่อนร่วมทางคนเดียวกันนี้เคยผมบอกว่า “ผมเคยอยากเรียนมานุษยวิทยา แต่รู้ตัวว่าเรียนไม่ได้เพราะต้องไปกินอะไรแปลก ๆ ไปนอนในที่ต่างถิ่นนี่แหละ ผมไม่ไหวแน่เลยเลือกเรียนประวัติศาสตร์”

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"