Skip to main content

จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง

เมื่อออกจากเมืองซอแล้วผ่านมายังที่ตั้งตัวจังหวัดลายเจิวแห่งใหม่ ผมแทบจำไม่ได้ว่าเมืองลายเจิวใหม่เป็นอย่างไร เพราะถนนขนาดใหญ่สายใหม่ที่ตัดผ่านด้านหลังของเมืองเป็นถนนเลี่ยงเมืองนั้น ตัดผ่านหลังหมู่บ้านที่เคยมาอาศัยนอนและอาศัยอาหารกินในยามจำเป็นที่ผ่านมาแล้วหาที่พักไม่ได้ ในครั้งนั้นเมื่อสัก 12 ปีก่อน ยังแถมได้พบนักวิชาการท้องถิ่นกับได้ไปสังเกตการณ์พิธีศพ มาปีนี้ไม่มีโอกาสได้แวะเยี่ยมเยียนพวกเขา

เมื่อออกจากตัวจังหวัดลายเจิวใหม่ ผมจำได้ว่าจะต้องถึงตาม เดื่อง (Tam Đường) ซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวเย้าอาศัยอยู่ ผมเที่ยวจดจ้องมองหามุมงาม ๆ ของถนนคดเคี้ยวที่เคยลงไปถ่ายรูป แต่มองหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ เพราะถนนใหม่ตัดจากอีกทางหนึ่ง ก็เลยอดทบทวนมุมที่ชื่นชอบไปหนึ่งมุม แต่ระหว่างทางจากนั้น เมื่อผ่านมาแล้วก็ให้รู้สึกเสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้จอดรถทักทายชาวเย้าที่นั่งอยู่ริมทาง แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งคือ ชาวเย้ามานั่งขายของริมถนนน้อยลง และที่นาชาวเย้าแถวนั้นก็ดูรกร้าง อาจจะเพราะผลกระทบจากความหนาวเย็นของฤดูหนาวปีที่ผ่านมา ที่คงหนาวและแล้งจนทำให้ต้องรอเวลานานกว่าพื้นดินและแหล่งน้ำจะฟื้นฟู

ผ่านตามเดื่องมาอย่างรวดเร็ว ผมมองหาตลาดที่เคยพบเห็นชาวลื้อจำนวนมากเดินไปมาจับจ่ายซื้อของ เมื่อพบว่าเส้นทางเปลี่ยนมาอยู่หลังตลาดอีกแล้ว ผมก็เริ่มกังวลใจ ให้คนขับรถถามหาตลาดเก่า พบว่าเราเพิ่งเลยมาแต่เป็นเส้นทางด้านใน เมื่อวกกลับไปก็ไม่เจอชาวลื้อสักคน ก็เลยถามชาวเวียดแถวตลาดว่าเข้าไปบ้านชาวลื้อไปอย่างไร ผมสังเกตเห็นอย่างหนึ่งว่า ชาวเวียดแถบนี้ดูต้อนรับขับสู้นักท่องเที่ยวมากขึ้น เปิดเผยพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น

วกไปวนมาสักพักก็เจอกับชาวลื้อและหมู่บ้านลื้อเข้าจนได้ แถมยังได้ทักทายพูดคุยกับพวกเขา เพื่อนร่วมทางผมซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่พบว่าภาษาลื้อสื่อสารกับภาษาเชียงใหม่ด้วยคำศัพท์ได้ค่อนข้างดีแต่เสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ส่วนผมพบว่าภาษาไตดำต่างจากภาษาลื้อที่คำศัพท์ แต่เสียงวรรณยุกต์คล้ายกัน อย่างไรเสีย ก็ช่วยให้สบายใจขึ้นบ้างว่าชาวลื้อยังคงอยู่ที่บ้านชาวลื้อย่านบิ่งญ์ ลือ (Bình Lư) ดังเดิม เพียงแต่ผมอาจมาถึงถิ่นเขาในเวลาที่เขาไม่ได้มาปรากฏตัวในตลาด อย่างไรก็ตาม พวกเขาแต่งตัวเปลี่ยนไปบ้างเช่นกัน

จากนั้นผมก็แค่ลุ้นว่า ก่อนเข้าเมืองถาน จะมองเห็นภูสามเส้าหรือเปล่า แต่แล้วก็ต้องตกใจอีกครั้งเมื่อถนนตัดใหม่พารถขึ้นมาอยู่เหนือภูสามเส้า ส่วนหมู่บ้านด้านล่าง มีการยักย้ายเปลี่ยนที่ทาง การจัดสรรพื้นที่เกิดขึ้นพร้อมกับโรงแปลงไฟฟ้าขนาดย่อม

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมไม่ทันได้ไปสำรวจตลาดเมืองถาน เพราะสาละวนอยู่กับการเขียนบันทึกของวันก่อนหน้า แล้วก็ต้องรีบมาหาของกิน ก่อนออกเดินทางต่อไป ความจริงเมื่อคืนก่อนนอน แทนที่ผมจะใช้เวลาเขียน แต่ก็กลับหมดเวาส่วนหนึ่งไปกับการดื่มเบียร์ แต่นั่นก็ดีเหมือนกันเพราะทำให้ได้พูดคุยกับลูกจ้างของร้านอาหารของโรงแรมที่ก็อยากรู้เรื่องราวของพวกเราเช่นกัน ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตส่วนหนึ่งของพวกเด็ก ๆ ที่มารับจ้าง ส่วนหนึ่งมาจากต่างเมือง และส่วนหนึ่งก็เป็นเด็กชาวไตทั้งจากต่างถิ่นและจากในเมืองถานเอง

เด็กคนหนึ่งเล่าว่า ระยะทางที่ผมจะไปข้างหน้าจะได้เจอเขื่อนอีกหลายแห่ง เมื่อหัวค่ำ ก็มีคนขับรถบรรทุกวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่มาพักกินข้าว ถามคนรถดูเขาบอกว่าขนวัสดุก่อสร้างเขื่อน กำลังจะขึ้นไปห่า ซาง (Hà Giang) จังหวัดชายแดนเวียดนาม-จีนทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผมแปลกใจที่รถขนวัสดุก่อสร้างวิ่งขึ้นมาทางนี้ เพราะเขาจะต้องไปผ่านเมืองซาปา (Sa Pa) ผมสงสัยว่าทำไมเขาไม่ขึ้นจากฮานอยแล้วเลียบสำน้ำโลขนานน้ำแดงขึ้นไปห่าซาง หรือเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่ได้มาจากฮานอย แต่ก็ทำให้ได้รู้ว่า กำลังมีการสร้างเขื่อนในจังหวัดห่าซางเช่นกัน

เรื่องราวของการสร้างเขื่อนจึงกลายเป็นประสบการณ์ใหม่บนเส้นทางนี้ของผม ผมจำได้ว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อน เมื่อผ่านมาเส้นนี้เป็นครั้งแรก ถนนเลวร้ายมาก หลายแห่งกำลังสร้าง ทำให้รถต้องหยุดรอเป็นชั่วโมงหลายครั้ง เมื่อผ่านมาอีกครั้งก็รู้สึกว่าหมอกจะลงหนา มองแทบไม่เห็นอะไร เพราะหมู่กังจ่ายสูงมาก ฤดูหนาวจะหนาวและหมอกจัดไม่แพ้ซาปา มีเพียงครั้งเดียวที่ผ่านแล้วประทับใจกับเส้นทางนี้เป็นเดือนที่ฟ้าเปิดยิ่งกว่าที่มาคราวนี้เสียอีก คราวนั้นเมื่อได้เห็นนาขั้นบันไดอย่างเต็มตาแล้วก็คิดว่า จะต้องกลับมาเห็นอีกให้ได้

เช้าวันต่อมา ผมตระเตรียมเวลาเพื่อว่าจะให้พอดีกับการผ่านเส้นทางแสนงดงามนี้ แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น คือแทนที่จะตื่นตะลึงกับนาขั้นบันได ผมกลับต้องตื่นตะลึงกับ “เขื่อนขั้นบันได” แทน ระหว่างทางเลียบถนนจากเมืองถานขึ้นไปหมู่กังจ่ายจนเลยหมู่กังจ่ายไปสัก 10 กิโลเมตร มีเขื่อนผลิตไฟฟ้ากั้นลำห้วยเป็นระยะ ๆ ถึง 6 เขื่อนด้วยกัน แรกทีเดียวผมสังเกตเห็นว่าน้ำลดลงเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ออกจากเมืองถาน จนเมื่อมาพบกับเขื่อนแรกที่เมืองกิม

จากนั้นเมื่อรถไต่ระดับขึ้นไปสูงอีก ก็พบว่าน้ำค่อย ๆ แห้งลงอีกช่วงหนึ่ง แล้วเราก็พบกับเขื่อนอีกแห่ง จากนั้นเป็นต้นไป สมาชิกที่ร่วมเดินทางมาก็ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีน้ำลดระดับอีกก็คงจะมีเขื่อนอีก แล้วเมื่อรถวิ่งไปอีกราว 20 กิโลเมตร น้ำก็เริ่มแห้งลง ๆ แล้วก็พบกับเขื่อนแห่งที่สาม ถึงตอนนั้นผมเริ่มหวั่นใจแล้วว่า นาขั้นบันไดกำลังจะถูกแทนที่ด้วยเขื่อนที่สร้างในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ของลำน้ำ

 

เขื่อนเว้นช่วงไปอีกไกลทีเดียว ปล่อยให้พื้นที่นาขั้นบันไดที่ยังคงความงามเหนือจริงรักษาตัวรอดมาได้อีกระยะหนึ่ง พวกเราหยุดที่หนึ่งที่ผมเองเผอิญมองลอดบ้านเรือนริมทางผ่านไปยังนาขั้นบันไดในพื้นที่ขนาดใหญ่ทอดตัวจากถนนพาดผ่านไหล่เขาทั้งลูกลงไปยังลำธารด้านล่าง พวกเราถือวิสาสะเดินผ่านเรือนชาวม้งเข้าไปชื่นชมความงาม

 

 

ผมทักชาวม้งคนหนึ่งที่กำลังทำงานอยู่ด้วยภาษาเวียดแปลว่า “นาสวยมากเลยครับ” เพื่อนบ้านของเรือนที่พวกเราถือวิสาสะเข้าไปขอพื้นที่ชมนาตอบกลับมาว่า “สวยแน่นอนอยู่แล้ว” พี่เหี่ยนคนขับรถบอกผมว่า “คุณนี่ช่างรู้จริง ๆ ว่าอะไรดี ๆ ของเวียดนามอยู่ที่ไหน ผมเองคนเวียดแท้ ๆ ยังไม่รู้เลย” แล้วพี่เหี่ยนก็ระดมถ่ายภาพด้วยกล้องของแก แกกลายเป็นนักท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กับพวกเรา

 

จากนั้นผม ผมเริ่มระแวงว่านาขั้นบันไดตรงเหลี่ยมมุมที่ผมเคยเห็นจะยังอยู่หรือเปล่า หรือถูกเขื่อนขั้นบันไดลบเลือนไปหมดแล้ว ในบริเวณน้ำเหนือเขื่อนที่ผ่านมา ผมเห็นร่องรอยของนาขั้นบันไดที่ถูกน้ำท่วม ที่นาหลายแห่งในที่สุ่มก็เหมือนเคยถูกน้ำท่วมแล้วขณะนี้ถูกทิ้งร้างไป จากนั้นก่อนเข้าเมืองเล็กน้อย เราพบกับเขื่อนแห่งที่สี่ แล้วหลังจากเขตเมือง ก็มีเขื่อนอีกเขื่อนเป็นเขื่อนที่ห้า ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเขื่อนทั้งหมดที่เพิ่งผ่านมา เขื่อนแห่งที่ห้านี้ทำให้กริ่งเกรงใจที่สุดว่า นาขั้นบันไดจะหายไปเกือบหมดในที่สุดหรือไม่

 

เมื่อพ้นจากเขื่อนที่ห้านี้ น้ำก็ค่อย ๆ แห้งอีกจนพบว่ากำลังมีการก่อสร้างเขื่อนอีกแห่งเป็นจุดที่หก แต่จากนั้นก็ยังได้เห็นนาขั้นบันไดที่เคยเห็นอีกช่วงเป็นช่วงสุดท้ายก่อนที่เส้นทางจะไต่ระดับขึ้นสูงจนกลายเป็นพื้นที่ของสนสามใบและมองไม่เห็นลำห้วยอีกต่อไป

 

 

ว่ากันว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเป็นพลังงานที่ถูกที่สุด แล้วถ้าไม่มีเขื่อน ก็ไม่มีไฟฟ้าพอสำหรับการลงทุน แต่เขื่อนที่กั้นลำน้ำในหุบเขาที่คนยากจนจำนวนหนึ่งอาศัยทำกินอยู่นี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่ ผมก็ไม่รู้คำตอบ คำถามหนึ่งที่เพื่อนร่วมทางตั้งอย่างน่าสนใจคือ เขื่อนเหล่านี้ใครเป็นคนลงทุน ถ้าที่คนขับรถรู้มาไม่ผิด คำตอบที่ได้จากพี่เหี่ยนคือเขื่อนเหล่านี้ลงทุนโดยเอกชน แล้วส่งกระแสไฟให้รัฐจัดการ อย่างน้อยเท่าที่เราเห็น เพื่อนร่วมทางตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นวิธีจัดการที่แตกต่างคนละขั้วกับการผูกขาดการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย นอกจากนั้นบ้านเรือนบริเวณเขื่อนก็มีกระแสไฟฟ้าใช้ ไม่เหมือนประเทศไทยที่เคยมีบ้านเรือนบริเวณเขื่อนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้

 

เขื่อนที่ห้าบนเส้นทางจากเมืองถานถึงหมู่กังจ่าย

 

ผมเก็บคำถามและข้อสงสัยเหล่านั้นมาเป็นการบ้านที่ต้องศึกษาเรื่องนโยบายและการจัดการพลังงานในประเทศเวียดนามเพิ่มเติม และก็ได้รู้เห็นกับตา พร้อมมองผ่านไปในอดีตว่า เส้นทางนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงอย่างไร

 

ผมเคยคิดว่า รัฐบาลเวียดนามไม่น่าลงทุนสร้างเส้นทางนี้เลย เพื่อว่าความทุรกันดารจะได้เก็บธรรมชาติ ผู้คนและวิถีชีวิตแบบนี้ไว้ แล้วยังเคยหวังว่า รัฐบาลเวียดนามคงสร้างเส้นทางนี้ให้กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อยกระดับเส้นทางนี้เป็นมรดกของชาติและมรดกโลกต่อไป ความคิดเพ้อฝันของผมมันไร้สาระจริง ๆ เมื่อได้มาเห็นว่า เขาพัฒนาเส้นทางนี้เพื่อนำไปสู่การสร้างเขื่อนลดหลั่นเป็นขั้นบันได การก่อสร้างขนาดใหญ่นี้ต้องการเส้นทางคมนาคมที่ดี

 

 

เมื่อเข้าใจดังนี้และมองย้อนกลับไปยังเส้นทางเลียบลำน้ำหนาก่อนเข้าเมืองซอแล้ว ผมก็เริ่มนึกขึ้นมาได้ทันทีว่า ยังมีถนนเลียบล้ำนำ้ในหุบเขาภาคเหนืออีกจำนวนมากในเส้นทางที่ผมเคยเดินทางไป ขณะนี้ลำน้ำเหล่านั้นคงกำลังแบกรับเขื่อนอยู่เช่นเดียวกันกับลำน้ำในหุมเขาภาคตะวันตกเฉียงเหนืออย่างแน่นอน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้